ความลับที่ซ่อนอยู่ในคำคม

วันนี้เห็นโพสต์บน facebook ตัวหนึ่ง เขียนประมาณว่า “การมาทำงานเช้าไม่สำคัญเท่ากับวันนึงทำอะไรไปบ้าง” ผมไม่เถียงนะครับว่าประโยคนี้น่าสนใจดี แต่ผมกลัวคนที่อ่านไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด คิดเอง เออเองว่า โอเค งั้นพรุ่งนี้ฉันไปสายดีกว่าเพราะวันๆ นึงฉันทำงานเยอะนะ มันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เพราะจริงๆ แล้วประโยคนี้มันมีบริบทของมันอยู่

ลองคิดตามดูนะครับ ถ้าคนพูดประโยคข้างต้นคือพนักงานร้านสะดวกซื้อสักคนหนึ่งที่มีเวลาเข้างานออกงานที่ชัดเจนเป็นกะ การที่เขามาสายจะเกิดอะไรขึ้น มีผลกระทบกับร้านกับลูกค้าไหม หรือถ้าซีเรียสกว่านั้นหละ ถ้าคนๆ นั้นคือพยาบาลที่ต้องเข้าเวรเพื่อไปดูแลคนไข้ในห้องไอซียู มันคงจะไม่ดีแน่ๆ ใช่ไหมครับ แต่ในทางกลับกัน ถ้าคนที่พูดประโยคข้างต้นคือโปรแกรมเมอร์ที่ไม่ต้องติดต่อสื่อสารอะไรกับใครมากนั้น มีอะไรก็คุยผ่านเมล์ ผ่านแชต แล้วผลงานของเค้าส่วนใหญ่ถูกถ่ายทอดออกมายามค่ำคืนอันเงียบงัน มันคงไม่ผิดอะไรที่เค้าจะพูดประโยคนี้ออกมา อีกนั้นแหละครับ สมมติเค้าคนเดิม แต่พอดีมีประชุมที่บริษัทนัด 10 โมง แล้วดันมา 11 โมง คำถามคือคนที่มารอเค้าอยู่หละ เวลาของคนอื่นไม่มีค่าไม่สำคัญหรือ มันไม่ใช่อย่างนั้นสิครับ ถึงบอกว่าคำคมประโยคนี้ขึ้นอยู่กับบริบทด้วย มันไม่จริงอย่างนั้นเสมอไป

einstein

ผมขอยกตัวอย่างซุปเปอร์คลาสิคอีกประโยคที่ Albert Einstein เคยกล่าวไว้ว่า “Imagination is more important than knowledge.” นักเรียนหลายคนคงเคยได้ยินและก็เอาไว้เถียงคุณครูว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้นะครับครู ครูจะมาสนใจอะไรกับการเรียนการสอนในตำราเนี่ย เออ… หนูเอ้ย จริงๆ ประโยคนี้ ท่านหมายถึง หากเราต้องการจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เมื่อความรู้ในตำรามันมีขอบเขต มันเป็นเพียงแค่ทฤษฏีที่รวบรวมหลักฐานซึ่งพิสูจน์มาแล้วในอดีต คราวนี้สิ่งที่สำคัญในการต่อยอดถึงจะเป็นจินตนาการ หากเราไม่รู้จริง ไม่รู้ลึกในเรื่องนั้น อย่าหวังเลยว่าเราจะมีจินตนาการที่รังสรรค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาได้ อย่างการเรียนปริญญาเอก Ph.D. candidate ทุกคนต้องรู้ในเรื่องที่ตัวเองศึกษาให้ดีที่สุดก่อน ต้องมั่นใจว่าเรารู้จักทุกทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง รู้จักผู้รู้ทุกคนที่เคยพูดเรื่องนี้มาก่อนแล้ว หากไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีทางรู้เลยว่า วิทยานิพนธ์ ที่กำลังทำอยู่มันใหม่หรือมันเก่า มันดีหรือไม่ดีอย่างไร สรุปคือถ้าไม่รู้จริง อย่าหวังเลยว่าจะเรียนจบได้นะครับ

ในทางธุรกิจก็มักจะมีคำคมที่เราฟังกันไม่จบ ไม่เข้าใจลึกซึ้ง แต่หยิบมาใช้กันหลายครั้ง หลายหนเหมือนกัน อย่างประโยคที่ Steve Jobs เคยพูดไว้หลายครั้ง เช่น “Customers don’t know what they want until we’ve shown them.” ตอนออกเครื่อง Mac หรือ “It isn’t the Consumer’s job to know what They want.” ตอนนำเสนอ iPad ครั้งแรกให้นักข่าวดู ก็เลยมีคนสรุปว่า Jobs ไม่ได้ทำ Market research เค้าไม่สนใจ Customer need แต่จริงๆ แล้ว ถ้าจะเอาทฤษฎีมาจับ ผมกลับมองว่า มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ technology push และ market pull ซะมากกว่า กล่าวคือสิ่งที่ Jobs ทำ มันเป็นสินค้านวัตกรรมที่มีความจำเป็นต้องมีความซับซ้อนที่ผู้บริโภคทั่วไปอาจไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง ดังนั้นสิ่งที่เค้าควรทำคือการรับฟังเสียงจากกลุ่ม Innovator จากผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ จากคนกลุ่มเล็กๆ 2.5% ตาม Technology Adoption Life Cycle แล้วใช้อำนาจเด็ดขาดของตัวเอง ด้วยความที่เป็น Perfectionist ในการกำหนดรูปแบบสินค้าแต่ละตัวให้กลุ่มวิศวกรทำก่อนออกไปถึงมือลูกค้า

สรุปแล้วก็คือ คำคม หนะมันดีครับ มันปลุกใจ เร้าใจ กระตุ้นให้เราอยากทำหรือละทิ้งอะไรบางอย่าง แต่ผมอยากเสนอว่า ก่อนที่เราจะปักใจเชื่อ คำสั้นๆ หรือ ประโยคเท่ๆ เหล่านั้น อยากให้ศึกษาพินิจพิเคราะห์พิจารณาให้ถ้วนถี่ว่าคนพูดเค้าหมายถึงอะไร ในสถานการณ์เช่นไร ก็จะดีมากเลยครับ

Leave a Reply