คนไทยส่งอีเมล์จ่าหน้าภาษาไทยกันไหมครับ

นอกจากตอนนั่งเรียนในวิชาภาษาไทยแล้ว พวกเราเคยคิดไหมครับ ว่า “ภาษาไทยคือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมีตัวตนการมีอยู่ของคนไทย”
เมื่อวันที่ 30-31 ต.ค. 57 ผมได้มีโอกาสมาร่วม workshop ในงาน EAI (E-mail Addresss Internationalization) ที่ปักกิ่ง เมืองจีน
มันคืองานที่ให้แต่ละประเทศ มาพูดคุยกันเกี่ยวกับการเอาอีเมล์ในภาษาตัวเองไปใช้ เช่น ต่อไปผมจะสามารถใช้ วิลาส@ฉ่ำเลิศวัฒน์.ไทย ในการรับส่งอีเมล์หาคนอื่นทั่วโลกได้ เพราะผมได้จดทะเบียนโดเมนชื่อ ฉ่ำเลิศวัฒน์.ไทย ไว้แล้ว

เรื่องมันเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มกันของผู้ดูแล Top Level Domain ในภูมิภาคเอชียแปซิฟิค (apTLD) ระดมสมองกันว่าอะไรหละคือสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุด
และผลลัพธ์ของการประชุมนับสิบๆ ครั้ง ก็ได้ออกมาว่ามันคือ ชื่อโดเมนในภาษาตัวเอง (International Domain Name – IDN)
ตอนแรกฝรั่งที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารก็ไม่เข้าใจหรอกครับว่าทำไมมันถึงสำคัญ แต่พอขยายความออกมาแล้ว
มันคือการบอกให้โลกใบนี้ได้รู้ว่า ฉันเป็นฉัน ประเทศชาติของฉันมีที่มาที่ไป มันคือความต้องการการยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ
ภาษาถิ่น หรือภาษาแม่ เป็นสิ่งจำเป็นและละทิ้งไม่ได้ แม้เราจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสารอยู่ทุกวันนี้

การดำรงอยู่ของอินเทอร์เน็ตคือการเป็นเครื่องมือในการสื่อสารให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เสมอภาคกัน เน้นว่าทุกคน
อินเทอร์เน็ตไม่สมควรเป็นแค่เครื่องมือของคนรวย คนมีความรู้ แต่มันต้องเป็นเครื่องมือในการยกระดับชีวิตของคนจน และคนที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษด้วย
ลองนึกภาพถึง คุณบุญช่วย อยากจะส่งเมล์ให้ คุณสมหมาย นะครับ ถึงทั้งคู่จะรู้จักกันรู้ชื่อจริงนามสกุลจริงสะกดอย่างไร แต่ชื่อของทั้งสองคนในภาษาอังกฤษหละสะกดอย่างไร
ลองนึกถึงภาพ ร้านเจริญขนมเบื้อง ที่ขายของอยู่ในชมบทแล้วอยากมีเว็บไซต์ให้คนในระแหวกนั้น หรือคนจากต่างเมืองเช็คดูรายการสินค้าสิครับ
ลองนึกภาพคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า ที่อยากจะใช้เทคโนโลยีติดต่อสื่อสารกับลูกหลานสิครับ
ภาษาถิ่นคือภาษาที่ใช้พูดคุยกันในท้องถิ่น อีเมล์และโดเมนคือมาตรฐานกลางที่ไม่ได้ยึดติดกับโปรแกรมใดๆ
คนไทยคุยกับคนไทย ชื่อเฉพาะภาษาไทย บริบทในเมืองไทย แล้วทำไมต้องใช้ภาษาอังกฤษด้วยหละ

eai-beijing

จีนตระหนัก อินเดียตระหนัก รัสเซียตระหนัก แต่คนไทยไม่ค่อยตระหนัก (เท่าไรมั้ง)
สำหรับผมการเป็นเจ้าภาพงาน EAI ครั้งนี้ของจีน แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของชาติเค้าเป็นอย่างมาก
CNNIC เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้ดึงหลายๆ ประเทศเข้ามาเพื่อแสดงให้รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญ
เค้าเชิญแม้กระทั่ง Google ที่ถูกแบนถูกบล็อคในประเทศให้มาร่วมงานด้วย
เพราะเค้ามองเห็นความสำคัญของ Google ที่มีคนใช้อยู่ทั่วโลก ถ้าหาก Gmail รองรับ ก็แปลว่าคนจีนสามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น
ลองมองจำนวนคนที่ใช้ภาษาจีนในการสื่อสารสิครับ แล้วรู้ไหมว่าปัญหาการติดต่อในปัจจุบันคืออะไร
e-mail address ก็เปรียบเสมือนซองจดหมาย ถ้าจ่าหน้าจดหมายผิดซอง ก็ส่งไม่ถึงผู้รับ
การที่ e-mail address เป็นภาษาจีน จะช่วยลดความผิดพลาด และช่วยลดความแตกต่างทางด้านดิจิตอลลงอีกเยอะ (digital divide)

แล้วถามว่าถ้าจะติดต่อกับคนที่ไม่รู้ภาษาจีนหละจะทำอย่างไร อันนี้ก็ไม่ต้องกลัวครับเพราะทางเทคนิคเราสามารถทำให้ mailbox สามารถรองรับได้ทั้ง e-mail address ภาษาถิ่น และภาษาอังกฤษได้ในกล่องเดียวกัน
ดังนั้นการคุยกับคนที่ใช้ภาษาเดียวกันก็ใช้ EAI ส่วนการคุยกับคนต่างชาติก็ใช้ e-mail address ที่เป็นภาษาอังกฤษเหมือนเดิมได้
ต่อไปในอนาคต ด้วยอีเมล์เดียวกันนี้เราจะสามารถรับข้อมูลข่าวสารจากฝรั่งเศสแล้วแปลเป็นไทย จากไทยแปลเป็นอาระบิค หรือภาษาใดๆ ก็ได้ในโลกที่เราต้องการ
ปล. จะบอกว่าจริงๆ เราเพิ่งจะสามารถใส่เนื้อหาอีเมล์เป็นอักขระภาษาอื่นได้เมื่อปี 1980 ที่ผ่านมานี่เอง ก่อนหน้านั้นเนื้อหาในเมล์ยังต้องเป็นภาษาอังกฤษอยู่เลย
และนี่คือหละครับคือการก้าวเดินอีกก้าวเล็กๆ ของนักพัฒนาบนโลกอินเทอร์เน็ต

ในเวทีโลก เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับโดเมนเนม THNIC (ผู้ดูแลโดเมน .th) จะทำหน้าที่ของตัวเองมาโดยตลอดในการเป็นตัวแทนของประเทศไทย
แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้หรอก บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า THNIC รับผิดชอบการจดทะเบียนโดเมน .th
ประเทศไทยเราเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่สนับสนุน IDN มีโดเมนเนมระดับบนสุด (TLD) ในภาษาตัวเอง คือ .ไทย
ในเรื่องโดเมน เราไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 2nd tier หรือ 3rd tier (ไม่ต้องมาเสียใจเวลาบางบริษัทประกาศไม่เอาสินค้าเข้ามาขาย เพราะไปเปิดเผยความลับชื่อผลิตภัณฑ์เค้าก่อน)
แต่เราอยู่ในกลุ่มประเทศต้นๆ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมทุกครั้ง ยังมีเรื่องเทคนิคอย่าง IPv6 และ DNSSEC (ที่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าสนใจสำหรับคนทั่วไปอีกนั้นแหละ)

ผมไม่ได้กำลังบอกให้ทุกคนเลิกหรืออย่าไปใช้ภาษาอังกฤษนะครับ
ในปี 2015 ประเทศไทยเรากำลังจะ Go AEC เราก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางตามที่ตกลงกัน
แต่ถ้าอยากได้ใจคนที่กำลังสื่อสารด้วย เราก็น่าจะใช้ภาษาเค้า สมมติเราทำธุรกิจกับอินโด ถ้าเราพูดภาษาบาร์ฮาซาได้ ก็ซื้อใจกันเต็มๆ
ลองมองประเทศเพื่อนบ้านที่อยากจะทำงานกับเราสิครับ เค้ายังเรียนและพยายามฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทยเลย
โดเมนและอีเมล์ภาษาไทย ช่วยในการบ่งบอกแสดงตัวตนในความเป็นไทย คงเอกลักษณ์ของไทยเอาไว้
ส่วนคนไทยด้วยกันเองมันไม่ง่ายกว่าหรือครับที่เราจะใช้ IDN และ EAI ในการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน

สวัสดีครับประเทศไทย
สวัสดี ทีเอชนิค.ไทย

Leave a Reply