สัญชาตญาณ

ถ้าถามว่าเป้าหมายชีวิตของเราคืออะไร
บางคนอาจตอบว่าเขาเกิดมาทำอะไรบางอย่าง
ส่วนบางคนก็อาจตอบว่าเกิดมาเพื่อใครบางคน (หรือใครหลายๆ คน)
ความสุขของการมีชีวิตอยู่คือ การที่เรารู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เพื่ออะไร
มันคือศรัทธา คือความเชื่อ คือพลังแห่งชีวิต

การเกิดมาทำให้ผู้คนมีความสุข
การทำให้คุณภาพชีิวิตผู้คนดีขึ้น
การเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้
ผมเชื่อว่าหลายคนกำลังคิด กำลังฝัน ถึงสิ่งเหล่านี้อยู่
คนที่โชคดีที่สุดคือ คนที่มีฝัน และพยายามสร้างมันให้เป็นจริง

คืนก่อน ผมเปิดดูเดี่ยวไมโครโฟน
แล้วรู้สึกว่าพี่โน้สโชคดีมากที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก
ได้ฝ่าฝันจากเดี่ยว 1 ที่ไม่มีใครรู้จัก จนกลายเป็นเดี่ยว 10 ที่ทุกคนรอคอย
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะโชค โชคเป็นผลลัพธ์จากการกระทำอย่างต่อเนื่อง
สิ่งสำคัญที่พาเค้ามาถึงจุดนี้ได้ ผมเชื่อว่ามันคือ การฝึกฝนทักษะต่างๆ

มีคนบอกว่า Hard skill หรือ ทักษะทางตรง คือความสามารถ ที่ต้องอาศัยการฝึกฝน ทำซ้ำๆ หลายๆ ครั้งจนชำนาญ
อย่างเช่น การเย็บปักถักร้อย การผลิตวัตถุอะไรสักอย่าง หรือการกีฬา เป็นต้น
ทักษะส่วนนี้ต้องมีความรู้ อาศัยตรรกะ สร้างให้เกิดความชำนาญ โดยเชาว์ปัญญา (IQ) ที่ใช้สมองซีกซ้าย

ส่วน Soft skill คือ ทักษะทางอ้อม ที่ต้องฝึกเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ทำซ้ำแบบเดิมๆ
มันต้องการการทำซ้ำในสถานการณ์ใหม่ๆ เช่น การเจรจาต่อรอง การบริหารงานบุคคล หรือการสร้างสรรค์งานศิลปะ
ทักษะประเภทนี้ใช้ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) หรือสมองซีกขวา ในการหยั่งรู้ให้ถึงจิตวิญญาณของเรื่องนั้นๆ

iqeq

การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงทีละนิดจะพัฒนาทักษะทั้งสองประเภทควบคู่พร้อมๆ กันไปได้
ซึ่งคนที่สามารถผ่าน 1,000 ชั่วโมง ผ่าน 10,000 ชั่วโมง คือคนที่กำลังบอกโลกใบนี้ว่า ฉันกำลังเอาจริงกับสิ่งนี้
สุดท้ายหากเราทำจนกลายเป็นมืออาชีพ เป็น Professional ในด้านนั้นๆ
ผมไม่อยากจะบอกเลยว่ามันต้องกลายเป็น สัญ… สัญ… สัญชาตญาณ
คือเราจะทำแบบไม่ต้องคิด ไม่ต้องใช้สมองสักส่วน ไม่ว่าจะซีกขวาหรือซีกซ้าย
เพราะมันจะออกมาเอง ทำได้เองโดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า “ทำจากใจ”

การใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันเป็นเรื่องยากมากที่เราจะอยู่รอดได้ หากเราทำงานไปวันๆ โดยไม่พัฒนาทักษะต่างๆ
โลกใบนี้ เหนือฟ้ายังมีฟ้า วันนี้อย่าทะนงตนว่าเก่งแล้ว คนที่เก่งกว่าเรายังมีอีกเยอะ
การผิดพลาดเพิ่งเล็กน้อยแยกคนธรรมดาออกจากมืออาชีพ และแยกมืออาชีพระดับท้องถิ่นออกจากระดับโลก
อย่างวาทยกรในวงออร์เคสตราที่สามารถรับฟังเสียงตัวโน้ตที่เพี้ยนจากเครื่องดนตรีเป็นสิบเป็นร้อยชิ้นได้
เค้าคือคนที่แตกต่าง เป็นคนที่สามารถมุ่งไปสู่ความสำเร็จในสายอาชีพของเค้าได้

พี่โจ้ วุฒิกร เคยพูดกับผมไว้ว่า การทำธุรกิจคนที่อยู่รอดได้ คือ คนที่มี value add
ส่วนคนที่จะอยู่เป็นคนสุดท้าย คือ คนที่สามารถสร้าง difference
ความแตกต่างเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่จะสร้างให้เราเป็นผู้นำเทรนด์ เป็นแม่เหล็ก ผู้กำหนดทิศทาง ทำให้คนอื่นๆ สนใจ (แล้วทำตาม)

แต่สุดท้าย อย่างไรก็แล้วแต่ การเป็นมนุษย์ ทักษะที่จำเป็นก็ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องการสื่อสารอยู่ดี
ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้านายหรือลูกน้อง เป็นพ่อค้าหรือลูกค้า เป็นอาจารย์หรือเป็นลูกศิษย์
หากเราสามารถพูดให้คนอื่นเชื่อ ให้คนคล้อยตาม ให้เค้าเห็นในสิ่งที่เราอยากให้เป็น เราจะสามารถเปลี่ยนโลกของเราได้
และการจะทำเช่นนี้ได้ เราต้องเชื่อในสิ่งนั้นอย่างหมดข้อสงสัย พูดเรื่องนั้นให้ตัวเองฟังเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นครั้ง
ย้ำคิด ย้ำทำ ให้มันกลายเป็นสัญชาตญาณ ทำให้เหมือนฟอร์เรสท์ กัมพ์
แล้ววันนี้… คุณคุยกับคนอื่นรู้เรื่องแล้วหรือยังครับ

Leave a Reply