หมั่นคอยดูแลและรักษาจิตวิญญาณ Startup ไว้

หากใครเคยซื้อรูปภาพมาใช้ทำ artwork คงจะต้องคุ้นๆ หรือได้ยินชื่อ Shutterstock แน่ๆ (ผมคิดว่างั้นนะ)
Shutterstock เริ่มจากการเป็น Startup เล็กๆ ที่โตจนสามารถ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ NYSE ไปได้หลายปีแล้ว
Dan McCormick หนึ่งในทีมงานที่ดูแลด้านเทคนิค ดูแลเซิร์ฟเวอร์จากเครื่องเดียวจนกลายเป็นพันๆ เครื่อง
เขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับองค์ประกอบในการรักษา Spirit ความเป็น Startup เอาไว้น่าสนใจดี
ผมคิดว่าหลายข้อเราสามารถเอามาประยุกต์กับการทำงานเมื่อธุรกิจของเรากำลังเติบโต (scale up) ได้ครับ

1. ทำทีมเล็ก
ในบริษัทใหญ่เราสามารถมีทีมเล็กๆ ได้หลายๆ ทีม เพราะการพูดคุยกันการสื่อสารซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญมาก
ข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ความสนิทสนมส่วนบุคคลทำให้งานง่ายขึ้น (และ/หรือในบางครั้งถ้าตีกันเองก็อาจจะทำให้งานติดขัดบ้าง)
แต่ที่แน่ๆ คือ คนเป็นต้นกำเนิดของงาน และ 1+1=2 ในบางครั้งก็อาจมากกว่า 2 ถ้าคนเหล่านั้นถูกจริตกัน
การทำทีมเล็กๆ ที่มีเป้าหมายชัดเจน แบ่งงานกันไปทำจะทำให้เราสามารถรักษาสมดุลย์ของการทำงานได้คล่องตัวขึ้น

ในงาน Web Summit 2014 ที่ Dublin คำยอดฮิตครั้งนี้คือ intrapreneurship หรือการให้อิสระแก่พนักงานในบริษัทใหญ่เสมือนว่าเค้ากำลังทำธุรกิจของตัวเอง เพื่อจูงใจให้เกิดนวัตกรรมในองค์กรขึ้น
หลายบริษัทไม่ว่าจะเป็น IBM, Coca-Cola, และ Vodafone ได้ออกโปรแกรมขึ้นเพื่อจูงใจพนักงานให้เวลา ให้ทุน ให้การสนับสนุนต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายใน เพราะเหตุผล 2 ประการ
(1) พวกเขากลัวตายหรือถูก take over โดย Startup ที่ disrupt ธุรกิจจากที่ไหนก็ไม่รู้ในโลก
(2) พวกเขาต้องการช่องทางหารายได้ใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม
ดังนั้นการสร้างทีมเล็กๆ ในองค์กรใหญ่ๆ เป็นเรื่องที่จำเป็น ทุกคนมีเป้าหมายเหมือนกันแต่มีหน้าที่ในการทำงานไม่เหมือนกัน

2. จ้างคนที่ถูกต้อง
หากใครเคยได้ยิน Airbnb.com ใช้เวลา 4-5 เดือนในการจ้างพนักงานคนแรก ซึ่งเป็น engineer จากการหา 1,000 กว่าคนและสัมภาษณ์ไป 100 กว่าคน และ Gebbia, Brain, Nathan ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสามได้กล่าวว่าพวกเขาให้ความใส่ใจมากๆ กับการคัดเลือกพนักงาน 100 คนแรก เพราะคนเหล่านี้คือ DNA ของบริษัท
พวกเขาจึงพิถีพิถันมากเพื่อให้ได้คนที่มั่นใจว่าจะเป็นกลุ่มคนที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ถูกต้องในช่วงแรกๆ นั้น

ส่วน Zappos.com มีข้อเสนอให้สำหรับคนที่ผ่านช่วงทดลองงานว่า จะเลือกเอาเงิน $2,000 แล้วออกไป หรือจะทำงานต่อกับบริษัท เพราะ Tony มีความเชื่อว่า ถ้าคนเหล่านั้นได้รู้จักงานที่ Zappos แล้วแต่คิดว่าไม่เหมาะกับตัวเอง ไม่ได้อยากทำงานกับเขาจริง แล้วจะรั้งพวกเขาไว้ทำไม เขาจึงให้ทางเลือกเพื่อให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และผลก็คือมีคนที่ยอมรับเงินก้อนนั้นแล้วเดินจากไป และคนที่อยากทำงานกับบริษัทจริงๆ ที่เหลืออยู่พร้อมทำงานทุ่มเทเพื่อบริษัท

แต่ที่ยากคือถ้าเราแค่รับพนักงานจากการดู resume สัมภาษณ์แล้วคุยครั้งสองครั้ง เราไม่มีทางจะรู้นิสัยใจคอของคนๆ นั้นได้หรอก (บางคนต่อให้ 3 เดือนก็ไม่รู้)
ดังนั้นแม้มันจะโหดร้าย แต่เมื่อใดถ้าเราเจอคนที่ไม่ใช่ มันมีความจำเป็นจะต้องไล่ออกให้เร็ว จะได้ไม่เสียเวลาด้วยกันทั้งสองฝ่าย

Google-robot

3. ปรับตัวให้ได้ (อันนี้ Dan ไม่ได้กล่าวไว้)
ทุกคนรู้จัก Google บางคนเคยอ่านประวัติจะทราบว่า 2 นักศึกษา Sergey Brin กับ Larry Page กับโปรเจคที่ชื่อ BackRub เอาไปขายใครก็ไม่มีใครเอา เลยต้องมาทำเอง
จากความเชื่อว่ามันสามารถเปลี่ยนโลกใบนี้ได้ จากการทำทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะเก็บตังค์ยังไง จากความสนุกที่พวกเขามีให้กับงาน
พวกเขาลุยและปรับตัวอยู่เสมอ ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่มีเข้ามา ไม่ได้ยึดติดกับการเป็นแค่เว็บไซต์เพื่อการค้นหา
ตอนนี้ Google มี Android โปรแกรม OS บนมือถือ ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในโลก
Google มี รถไร้คนขับ ที่ได้รับใบอนุญาตให้วิ่งบนถนนจริงๆ แล้ว ในหลายรัฐในอเมริกา
และที่หลายคนไม่รู้คือ Google มีสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับการทำหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์หรือ Humanoid จำนวนมากที่พร้อมเอามาประกอบร่าง
สักวันหนึ่งเราคงได้เห็นหุ่นยนต์โดย Google ที่มีความคิดความอ่าน เคลื่อนไหวได้อย่างมนุษย์

4. คิดบวก (Dan ก็ไม่ได้กล่าวไว้อีกเช่นกัน)
คำขวัญของ Amazon.com คือ “every challenge is an opportunity”
Jeff Bezos ตระหนักในความสำคัญของการคิดบวก จะมองว่าเหลือน้ำครึ่งแก้วดี หรือน้ำหมดไปแล้วครึ่งแก้วดี
ความท้าทาย ปัญหา และอุปสรรค ทุกอย่างก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดและการกระทำของเรา
Amazon เริ่มต้นในปี 1995 แบบที่ไม่มีสื่อสนใจ แต่เขาสามารถทำยอดขายได้ $20,000 ต่อสัปดาห์ภายในสองเดือน
แล้วพอมาช่วง dot-com bust หรือฟองสบู่แตก หุ้น Amazon ร่วงจาก $100 เป็น $6
พร้อมกับข่าวคราวของการเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่โดย Barnes & Noble ร้านหนังสือที่ใหญ่มากๆ ในอเมริกา
คำถามคือถ้าเราเป็นผู้บริหาร Amazon ในช่วงนั้นจะทำอย่างไร ???
สิ่งที่ Bezos ทำคือสร้างความมั่นใจให้กับองค์กร หาข้อดีทุกอย่างของบริษัทว่าจะสามารถแข่งขันในช่วงวิกฤตได้อย่างไร
เขาขยายจากแค่การขายหนังสือสู่การขายทุกสรรพสิ่งบนโลก และในปัจจุบัน Amazon กลายเป็นบริษัท 5 พัน 7 ร้อยล้านเหรียญไปแล้ว

5. สุดๆ ไปเลยกับ Passion (แน่นอน Dan ก็ไม่ได้กล่าวไว้อีกแล้ว เพราะ 3 ข้อหลังนี้ผมเอามาจากบทความ Spirit of the Entrepreneur)
คนที่แสดงให้เราเห็นได้ชัดที่สุดคือ Richard Branson ผู้ก่อตั้ง Virgin จากปี 1970 ธุรกิจของเขาขยายตัวไปมากกว่า 200 บริษัท ทำตั้งแต่ เพลง สิ่งพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ สายการบิน จนกระทั่ง ทัวร์อวกาศ
เขาเคยพูดว่า “Businesses are like buses, there’s always another one coming.” โอกาสมันจะมาเสมอ แต่คนที่พร้อมที่สุดๆ กับสิ่งเหล่านั้นเท่านั้นจึงจะคว้าโอกาสสู่ความสำเร็จได้
หากเราไปดูการใช้ชีวิตของท่านเซอร์จะพบว่าเขาทุ่มเทกับสิ่งที่เขาทำแค่ไหน เขาเอาตัวไปเกลือกกลั้ว คลุกฝุ่นกับแต่ละธุรกิจอย่างไร และที่สำคัญเค้าหลงไหลคลั่งไคล้กับมันแม้ไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย
นี่แหละครับ Passion!
อย่างที่ Henry Ford ครั้งหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “Whether you think you can or you can’t, you’re right.” ผมสรุปง่ายๆ ว่าทุกอย่างก็กลับมาอยู่ที่ใจของเรา “ใจสู้หรือเปล่า”
ถ้าไม่สู้ก็จะเป็นไปตาม Murphy’s law ที่ว่า “If anything can go wrong, it will. If it can’t go wrong, it will go wrong anyway.”

 

Leave a Reply