บนเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

มีหลายเหตุผลมากมายที่เราจะปฏิเสธตัวเองไม่ให้ทำ Startup เช่น

1. เด็กไป
2. ไม่มีประสบการณ์
3. ไม่ฉลาดพอ
4. ใหม่ต่อธุรกิจ
5. ไม่มีทีมงาน
6. ไอเดียไม่เจ๋งพอ
7. ไม่มีที่ว่างเหลือพอแล้ว
8. ครอบครัวไม่สนับสนุน
9. ไม่อยากผูกมัด
10. ต้องการความชัดเจนกว่านี้
11. กลัวความไม่แน่นอน กลัวการล้มเหลว
12. งานที่ทำอยู่ดีแล้ว

ครับทั้งหมดที่กล่าวมาคือเหตุผลของคนที่จะไม่เลือกเดินบนเส้นทางนี้ ซึ่งเค้าก็ไม่ได้ผิดอะไรที่จะคิดหรือรู้สึกแบบนั้น แต่สำหรับคนที่เลือกที่จะไปต่อบนเส้นทางนี้ นี่คือ checklist ที่ต้องมีครับ

1. โตพอที่จะมั่นใจ เมื่อมีใครมาบอกว่าเราบ้า ไอเดียเรามันงี่เง่าเต่าตุ่น เพราะเราเชื่อว่าเค้ายังไม่เห็นในสิ่งที่เราเห็น
2. พร้อมลุย เพราะการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ไม่มีใครมีประสบการณ์ ดังนั้นหากต้องการประสบการณ์ก็แค่ลงมือทำซะ
3. ถ้ารู้หรือตระหนักว่ายังไม่ฉลาดพอ นั่นคือสัญญาณที่ดีให้เราพัฒนาตัวเอง ดีกว่าคิดว่าเราฉลาดอยู่แล้ว (ก็แค่มุมมองน้ำครึ่งแก้ว)
4. เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกๆ อย่างเกี่ยวกับธุรกิจก่อนจะเริ่มหรอก ประสบการณ์จะสอนเรา ขอแค่เรารู้ในสิ่งที่ทำและทำให้มันแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่แล้วก็พอ
5. ถ้าไม่มีทีมงาน ก็ต้องเสาะหา เพราะคนคนเดียวสร้างสิ่งที่โลกนี้ไม่เคยมีไม่ได้ (มนุษย์คนหนึ่งยังเกิดจากคนสองคนเลย)
6. เริ่มวันแรกไอเดียเราอาจจะธรรมดา แต่ถ้าเราพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง หมกมุ่นให้มากกว่าคนอื่น ไอเดียที่มีจะกลายเป็นไอเดียที่ไม่ธรรมดาในวันหนึ่ง
7. ต้องคิดว่าโลกใบนี้มีที่ว่างเสมอ มนุษย์ต้องการสิ่งที่ดีขึ้นสำหรับชีวิตตนเอง ดังนั้นหากเราสามารถคิดและพัฒนาอะไรใหม่ๆ สำหรับผู้คน เรายังมีโอกาสประสบความสำเร็จ
8. เพราะครอบครัวรักเรา ไม่ต้องการให้เราเจ็บ เราจึงต้องพูดคุยและทำให้พวกเขาเข้าใจ มันอาจจะไม่ใช่วันนี้ แต่ต้องสื่อสารเพราะวันที่เราประสบความสำเร็จมันจะไม่มีความหมายเลยหากไม่มีพวกเค้า
9. พร้อมจะผูกพัน มุ่งมั่น ทุ่มเท กับสิ่งที่ทำ เพราะไม่มีความสำเร็จใดได้มาจากการทำอย่างไม่จริงจัง
10. ถ้าเราต้องการให้ใครมาบอกว่าต้องทำอะไรแบบชัดๆ เราอาจจะไม่เหมาะกับ startup เพราะหนทางข้างหน้าอาจไม่เคยมีใครผ่านมาก่อนเลยก็ได้
11. พร้อมจะล้ม และขอให้รู้ไว้ว่า startup ส่วนใหญ่ล้มเหลวก่อนที่จะสำเร็จทั้งนั้น
12. ถ้าไม่คิดจะเปลี่ยนชีวิตตัวเอง ก็จงอยู่ใน comfort zone ของตัวเองตลอดไปครับ

ยกตัวอย่าง LinkedIn

linkedins-startup-story

Reid Hoffman ระหว่างที่เรียนอยู่ที่ Oxford ราวปี 1993 คิดถึงเรื่องการเริ่มทำบริษัทซอฟต์แวร์ เขาเสนอ V.C. เพื่อขอทุนแต่ก็ได้รับการปฏิเสธ แล้วก็ไปได้งานกับ Apple ทำ eWorld และต่อมาก็ย้ายไปทำ Fujitsu เป็น product manager และในปี 1997 ก็ได้ลาออกเพื่อมาทำ Startup

เริ่มจาก SocialNet เป็นเว็บไซต์เครือข่ายสำหรับการออกเดท แล้วก็เลิกไปเพราะโมเดลและกลยุทธ์ที่ไม่ดีพอ แต่จากนั้นก็ได้เจอกับ Peter Thiel และ Max Levhin และได้เข้าร่วมเป็นบอร์ดใน PayPal ในปี 2002 PayPal ได้ขายให้กับ eBay ด้วยมูลค่า 1.5 พันล้าน

ในปี 2003 ได้เริ่ม LinkedIn โดยเงินลงทุนจาก Sequoia capital เริ่มมีรายได้ในปี 2006 จาก subscription แล้วในปี 2007 Dan Nye เข้ามาเป็น CEO ถัดมาปี 2009 Jeff Weiner ได้มาเป็น president และ CEO

ปี 2013 LinkedIn มีสมาชิก 225 ล้าน และโตด้วยอัตรา 2 คนต่อวินาที ปี 2014 ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศจีนด้วยภาษาจีน และกลายเป็น 1 ใน 10 เว็บไซต์ยอดนิยมของโลก

ข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากภาพนี้ก็คือความสำเร็จด้านตัวเลข LinkedIn ได้ออก IPO ในปี 2011 ด้วยราคา $45 ต่อหุ้น แต่ไปปิดที่ $94.25 ในวันแรก และในปีนั้น LinkedIn ทำรายได้จากโฆษณาอย่างเดียวได้ $154.6 ล้าน ซึ่งมากกว่า Twitter ที่ทำได้ $139.5 ล้านในปีเดียวกัน และข้อมูลทางการเงินล่าสุดในปี 2013 LinkedIn มีรายได้ถึง $1.52 พันล้านแล้วครับ

คนคนหนึ่งจะไม่มีวันสำเร็จได้ถ้าเขามีเหตุผลที่จะปฏิเสธตัวเอง และรอที่จะเดินบนเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ การเดินทางของ Hoffman กับ LinkedIn ก็ไม่ใช่ประสบความสำเร็จเป็นเส้นตรง เขาอาจจะเลิกหรือถอดใจไปตอนไหนก็ได้ แต่เขาเดินต่อ เค้าเจอเพื่อน เค้าสร้างทีม ใช่ครับ โลกใบนี้มีเหตุผลมากมายที่เราสามารถเอามาใช้บอกกับตัวเองได้ว่า จะไม่เริ่ม จะไม่ทำ และไม่อะไรทั้งนั้น ซึ่งมันก็ไม่ผิดด้วย แล้วเราก็อยู่ใน comfort zone ของเราต่อไป แต่มันมีเพียงเหตุผลเดียวที่เราจะใช้บอกกับตัวเองให้ทำในสิ่งที่เราเชื่อ มันคือ “ความรัก” ที่เรามีกับงานของเรา และไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เราก็จะไม่เสียใจที่ได้ลงมือทำ

Startup เป็นทั้งโอกาสและวิกฤตครับ ไม่ว่าเราจะเป็นใครใน startup ทำตำแหน่งใดๆ ก็ตาม เราคือคนสำคัญที่จะทำให้ทีมประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวไปในที่สุด หากเราต้องการเปลี่ยนโลกใบนี้ ทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น จงทุ่มเทไปทั้งกายและใจ ไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ เหนือความรู้สึก แล้วอีก 5-10 ปี เรามองย้อนกลับมา นั้นคือหนทางที่เราลุยฝ่ามาเพื่อคนรุ่นหลังต่อไปครับ

Leave a Reply