ตำนาน Pokémon GO

ตั้งแต่คุณเล่นเกมบน Smartphone ของคุณ มีเกมไหนบ้างไหมครับที่มันอยู่ในมือถือคุณได้นานเป็นปี แม้จะลบ format ใหม่หรือซื้อเครื่องใหม่เลยก็ตาม สำหรับผมหนึ่งในนั้นคือ Pokémon GO เกมที่เป็นปรากฏการณ์ของปี 2016 เกมที่สามารถทำให้คนทั่วโลกกว่า 10 ล้านคนดาวน์โหลด และสร้างรายได้กว่า $14 ล้านภายในสัปดาห์แรก มันเป็นเกมที่ทำให้คนติด แต่ก็ไม่ได้ติดแบบงอมแงม (หรือบางคนอาจจะงอมแงม) ในยุคที่เรามีทางเลือกมากมาย มีเกมใหม่ๆ ออกมาให้เล่นทุกวี่ทุกวัน แน่นอนสมัยนี้เป็น Freemium สามารถเริ่มเล่นได้ฟรี ถ้าถูกใจแล้วค่อยจ่ายตังค์ in-app purchase เป็นวิธีการดูดเงินจากผู้เล่นแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าคุยกันในเชิง Business model และ Business Strategy ต้องบอกว่า Pokémon GO ทั้งเก่งและเฮงในขณะเดียวกัน

John Hanke ผู้สร้าง Pokémon GO เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเค้าใช้เวลา 20 ปีในการสร้าง Pokémon GO ให้มันเป็นอย่างในทุกวันนี้ จะว่าไปก็สามารถเล่าสั้นๆ ได้ 10 ขั้นตอนดังต่อไปนี้ครับ

ขั้นที่ 1: ปี 1996 ขณะที่เค้ายังเป็นนักศึกษา​ John มีส่วนร่วมในการพัฒนา MMO (Massively Multiplayer Online game) ชื่อ Meridian 59

ขั้นที่ 2: ปี 2000 John ได้พัฒนา​โปรแกรมใหม่ชื่อ Keyhole ซึ่งมาพร้อมกับการเชื่อมต่อแผนที่โลกกับ GPS

ขั้นที่ 3: ปี 2004 Google ซื้อ Keyhole มาทำ Google earth เพื่อให้บริการฟรี

ขั้นที่ 4: ระหว่างปี 2004-2010 John และทีม Google Geo ใช้เวลาในการทำ Google Map และ Google Street View

ขั้นที่ 5: ปี 2010 John ก่อตั้ง Niantic Labs เป็น StartUp ที่ได้รับการลงทุนโดย Google เพื่อสร้างเกมบนแผนที่

ขั้นที่ 6: ปี 2012 John กับ Niantic ได้สร้างเกมที่เป็น Geo-based MMO เกมแรกขึ้นชื่อว่า Ingress
โดยลักษณะของเกมจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย
Enlightened (สีเขียว) ฝ่ายที่ต้องการใช้พลังงานลึกลับชนิดใหม่ปรับเปลี่ยนมนุษยชาติไปสู่ยุคใหม่
Resistance (สีฟ้า) ฝ่ายที่ต่อต้านแนวคิดของ Enlightened และต้องการปกป้องมนุษย์ในปัจจุบันเอาไว้
แต่ละฝ่ายต้องการระดม “สายลับ” (หมายถึงผู้เล่น) เข้ามาสนับสนุนแนวทางของตัวเองให้มากที่สุด โดยสายลับแต่ละคนจะแข่งกันยึดฐานที่เรียกว่า Portal ซึ่งเป็นการส่งจากผู้เล่นโดยการถ่ายภาพจุดแปลกๆ จากสถานที่จริงทั่วโลก เข้าไปให้ศูนย์​อนุมัติ

ขั้นที่ 7: ปี 2014 Google และ Pokémon Company ได้ร่วมมือกันทำ April Fool’s Day Joke ให้คนทั่วโลกสามารถค้นหาโปเกม่อนได้บน Google map แน่นอนทุกคนชอบและมันกลายเป็น viral ที่พูดต่อกันอย่างสนุกสนาน


 

ขั้นที่ 8: John ตัดสินใจสร้าง Pokémon Go ซึ่งเป็นเกม Augmented Reality จากข้อมูลซึ่งได้จาก User Generated Content กว่า 7 ล้านผู้เล่นทั่วโลกใน Ingress โดย จุดยอดนิยมต่างๆ กลายมาเป็น Pokéstops และ gyms ดังนั้นแน่นอนมันคือสถานที่ซึ่งผู้คนได้ไป ไม่ใช่จุดที่ random ออกมามั่วๆ

ขั้นที่ 9: ปี 2015 John ระดมทุน $25 ล้านจาก Alphabet Inc.(Google), Nintendo, Pokémon Company และนักลงทุนรายอื่นๆ เพื่อสร้างทีม 40 กว่าคน ในการปล่อยเกม Pokémon Go ในปี 2016

เบื้องต้นเราต้องเข้าใจก่อนว่าตัวละครโปเกมอนทั้งหมดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ Pokémon Company ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ราย
ได้แก่ Creatures, Game Freak และ Nintendo โดยทั้งสามถือหุ้นเท่าๆ กันประมาณ 33%
สิ่งที่ Niantic ทำคือการพัฒนาเกม Pokémon Go ขึ้นมา และยังต้องใช้ลิขสิทธิ์จากทาง Pokémon Company ในการเอาตัวละครต่างๆ มาใช้อยู่
ในขณะที่ Nintendo ก็ได้มีการผลิตและจัดจำหน่าย Pokémon Go Plus ขึ้นมาใช้เล่นควบคู่กับ Smart phone

(ซึ่งในประเทศไทย ทรู คอเปอร์เรชั่น ได้มีการซื้อลิขสิทธิ์โปเกมอนไว้ตอนปี 2014 จึงกลายเป็นผู้ที่สามารถทำกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ จัดอีเวนท์ เอาตัวละครต่างๆ มาใช้ได้อย่างถูกต้อง)

ขั้นที่ 10: 6 ก.ค. 2016 John ปล่อย Pokémon Go ให้ดาวน์โหลดวันแรกใน อเมริกา, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์


 

แล้วปาฏิหาริย์ก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้น หุ้นของ Nintendo เพิ่มขึ้นถึง 5,000 จุด (33.33%) หลังจากเปิดให้โหลดเกมไป 5 วัน ไปแตะที่ประมาณ 20,000 จุด มูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า $7.1 พันล้านเลยทีเดียว

และเมื่อมันดัง ทุกคนก็เข้ามามะรุมมะตุ้มรุมรักแมรี่กัน ผู้คนทั่วโลกต่างตั้งหน้าตั้งตารอจะได้เล่น
16 ก.ค. เปิดให้เล่นในยุโรป
22 ก.ค. เปิดให้เล่นในญี่ปุ่น
25 ก.ค. เปิดให้เล่นในฮ่องกง
6 ส.ค. เปิดให้เล่นในประเทศอื่นๆ ในเอเชียรวมทั้งประเทศไทย (*ยกเว้นเกาหลีใต้กว่าจะเปิดก็ ม.ค. 2017)

มันฮิตติดลมบนเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกถึงขนาดคำว่า “pokemon go” กลายเป็นอันดับหนึ่งของ top-trending Google searches for 2016 เลยทีเดียว นอกจากนั้นยังมีข่าวต่างๆ เกี่ยวกับ Pokémon Go เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะในแง่ดี หรือแง่ไม่ดี แต่ที่แน่ๆ พอเป็นข่าวมันก็จะกลับมาอยู่ในกระแสสังคม ยกตัวอย่างเช่น

คราวนี้ก็มาถึงเรื่องที่น่าสนใจมากๆ คือ แล้ว Pokémon Go ทำเงินได้อย่างไร ตอบง่ายๆ หลักใหญ่ใจความก็แค่ช่องทางเดียวคือ การซื้อ item ของผู้เล่นในเกม เท่านั้นเอง แต่ถ้าลองมาดูความแยบคายของแต่ละ item เหล่านี้ ผมว่าคนสร้างโคตรฉลาดเลยแหละ

เริ่มต้นจาก Poké balls ที่ไว้ใช้จับโปเกมอน ซึ่งสามารถหาได้ทั่วไปไม่ต้องซื้อ แค่ไปหมุนตามเสา Poké stop
ตามมาด้วย Lure module ไว้สำหรับล่อโปเกมอนให้มายังเสาที่เราเอาไปวาง ซึ่งแน่นอนมันก็ล่อเหล่าผู้เล่นโปเกมอนมาด้วย จึงได้ถูกนำมาใช้ในธุรกิจ (และจากเหล่ามิฉาชีพตามข่าว)
ถัดมาก็ Egg incubator ที่เอาไว้ใช้ฝักไข่ ซึ่งอันนี้จะมีแบบ infity ให้ใช้อยู่ 1 อัน แต่ไข่มันมีให้ 9 ฟอง ใครที่ใจร้อนก็ต้องไปซื้อมาใช้เพื่อให้ได้ลุ้นโปเกมอนตัวใหม่
Incense สำหรับทำให้เราดึงดูดโปเกมอนเหมือน Lure module แต่มีผลเฉพาะกับตัวเราเองเท่านั้น
Lucky egg สำหรับเพื่อ XP เป็น 2 เท่า ทำให้ level up ได้เร็วขึ้น
รายการทั้งหมดนี้ เอาจริงๆ ไม่ซื้อก็ได้ มันสามารถเล่นได้เรื่อยๆ ตามเกมของมัน และมีแจกฟรีตอน level up ต่างหาก แต่มี 2 รายการที่ไม่ซื้อไม่ได้คือ

Bag upgrade สำหรับเพิ่มจำนวน item ที่เราเก็บได้
Pokémon Storage Upgrade สำหรับเพิ่มโปเกมอนที่เราสามารถสะสมได้ ซึ่งจะโคตคอึดอัดมากตอน gen 2 มาแล้วไม่สามารถเก็บโปเกมอนใหม่ได้

และล่าสุดที่โคตรฉลาดคือ การออก Premium Raid pass สำหรับการตีบอสในยิม ซึ่งอนุญาตให้ปกติตีได้แค่วันละหนึ่งครั้งเท่านั้น พอปรับปรุงระบบใหม่ พร้อมปล่อยโปเกมอนในตำนานต่างๆ ออกมาเป็นระลอก ความอยากได้อยากมีของเหล่าผู้เล่นก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ถึงบอกว่า Pokémon Go เป็น Freemium game ที่ยอมให้คนเล่นฟรี แต่ถ้าใจร้อนก็ต้องยอมควักกระเป๋าจ่ายเค้าไป และพอปริมาณคนรู้จักมันมีมาก conversion rate จาก consumer เป็น customer ถึงไม่มากแต่ก็สามารถสร้างเม็ดเงินได้มหาศาลจากคนที่เป็น loyalty customer จริงๆ

ในช่วงเดือน ส.ค. 2016 ก็มีคนทำ infograpic สวยมาแขร์ที่ https://newzoo.com/insights/articles/analysis-pokemon-go/

หากจะลองวิเคราะห์ความสำเร็จก็อาจจะเกิดจาก

  1. ความเป็นตำนานของ Pokémon  ซึ่งผูกพันกับผู้คนมาหลายปี เป็นที่รู้จักตั้งแต่ gen-x ตอนปลาย จนกระทั่ง gen-y ที่ได้เล่นเกมในเครื่องต่างๆ อย่าง game boy, Nintendo DS, และอีกหลายๆ เครื่อง
  2. ความเป็นนวัตกรรมของตัวเกม ที่เป็น Geo-based Augmented Reality ที่บังคับให้ผู้เล่นต้องออกไปเดินนอกบ้านเพื่อตามจับโปเกมอนในสถานที่ต่างๆ ซึ่งพอเป็น AR ก็ทำให้มีความน่าสนใจ เหมือนตัวละคนต่างๆ ที่เราเคยดูในการ์ตูนออกมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง ระหว่างจับก็ capture รูปเก็บไว้แชร์ต่อได้อีก (แต่ฟีเจอร์นี้คนเหอแป๊บเดียว คนที่เล่นไปนานๆ ก็จะปิด AR แล้วเล่นฉากในเกมธรรมดาแทน)
  3. ความเป็นสังคม ตอนเริ่มเล่นไปเรื่อยๆ พอถึง level 5 ก็ต้องเลือกสีที่จะ join มี เหลือง แดง น้ำเงิน (คุ้นๆ การเมืองบ้านเราเลย) จากนั้นพออยู่สีไหน ก็จะมีกิจกรรมตียิมสีอื่นเพื่อให้ได้เหรียญในเกม แรกๆ ก็ไม่ค่อยมีอะไรมาก ตีกันมันส์ๆ แต่หลังจากปรับเกมมี Raid boss แล้ว ความเป็นสังคม multi player ก็เกิดขึ้นจริงๆ ในโลกจริงๆ เพราะต้องรวมตัวกันตีบอสในยิม คนอยากได้โปเกมอนในตำนานก็มารวมตัวกัน คุยกันระหว่างตียิมเพื่อจับโปเกมอนเหล่านั้น

เรื่องราวทั้งหมดของเกม Pokémon Go นี้เพิ่งเกิดได้แค่ปีนิดๆ ผ่านตัวละครหลากหลายของโปเกมอน ทำให้ชาวโลกตาดำๆ อย่างพวกเราได้มีเกมฆ่าเวลาตอนนั่งรถไฟฟ้าไปทำงานกัน บางก็ว่ามันสำเร็จ บางก็ว่ามันล้มเหลว แต่ที่แน่ๆ แค่เวลาปีนิดๆ เค้าสามารถสร้างรายได้เป็นพันล้านเหรียญจากการขาย virtual item ที่จับต้องไม่ได้ มีใครในโลกใบนี้ทำแบบนี้ได้อีกบ้างไหมครับ? ชาบูๆ (จากคนที่กำลังรอ gen 3 อยู่นะ)

 

 

Leave a Reply