What is Startup?

ตั้งแต่ออกหนังสือ “Startup เสี่ยยุคใหม่” ในฐานะนักเขียน ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนผมมักจะได้รับคำถามให้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “What?” ว่า

แล้วจริงๆ Startup คืออะไร แตกต่างจาก SME ไหม หรือว่ามันเหมือนกันแค่การเป็น Startup คือช่วงเพิ่งเริ่มธุรกิจใหม่
แล้ว Startup เนี่ยเฉพาะคนทำซอฟต์แวร์ ทำโมบายแอพหรือเปล่า เพราะด้วยภาพที่คุ้นตาคือ กลุ่มคนเริ่มทำแอพมือถือจะเรียกตัวเองว่า Startup อีกทั้งยังเห็น 3 ค่ายใหญ่หันมาให้การสนับสนุนอยู่เรื่อยๆ
พอรวมๆ กันเข้าหลายๆ คำถาม เลยอยากจะเรียบเรียงให้เป็นกิจลักษณะสักหน่อยดีกว่า และเผื่อมีเวลาจะได้คุยกันเกี่ยวกับ “How?” และ “Why?” ต่อด้วย
เพราะที่สำคัญไม่ใช่ว่า เรากำลังทำอะไร แต่มันคือเรากำลังทำไปทำไม เพื่ออะไรต่างหากครับ

ซึ่งก่อนอื่นเลย ผมมีความเชื่อว่าเพราะมันไม่ใช่เรื่องใหม่มาก ต้องมีคนเคยเขียนอธิบายไว้แล้วแน่ๆ ดังนั้นสิ่งแรกที่ทำคือต้อง Search ครับ และก็เจอจริงๆ ด้วยจากบล็อก http://rathpanyowat.wordpress.com/2013/09/09/proper-definition-of-a-startup ได้รวบรวมเรื่องราวไว้ได้ดีมากโดยมีการอ้างอิงจาก Quora.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้คำตอบจากผู้รู้ในวงการฝั่งอเมริกาต้นกำเนิดของเรื่องราวนี้โดยตรง ถ้าสนใจลองไปอ่านกันดูนะครับ ก็โดยเบื้องต้นผมขอยำสรุปรวมใจความดังต่อไปนี้

Startup คือการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่กำลังอยากจะแก้ปัญหาอะไรบางอย่างเพื่อที่จะหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำซ้ำและขยายตัวเป็นรูปแบบธุรกิจ

Steve blank Steve Blank

ซึ่งเมื่อใดที่ Startup สามารถตอบ 3 คำถามนี้ได้อย่างชัดเจนแล้ว
1) สินค้า/บริการ ที่แท้จริงของเราคืออะไร
2) ใครคือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเรา
3) เราจะหาเงินได้อย่างไรจากการทำสิ่งๆ นี้
เมื่อนั้นสถานะความเป็น Startup ก็จบลง และจะเริ่มเข้าสู่การเป็นธุรกิจอย่างแท้จริง

Dave McClure Dave McClure

แน่นอนว่า Startup ไม่ใช่เวอร์ชั่นเล็กของธุรกิจขนาดใหญ่ สิ่งที่ธุรกิจขนาดใหญ่ทำแล้วสำเร็จอาจไม่จริงเสมอไปกับ Startup
ดังนั้นผู้ที่จะทำด้านนี้จึงต้องการความรู้และวิธีปฏิบัติที่แตกต่างออกไป

ถัดมาอาจพูดได้ว่า Startup เป็น SME (Small Medium Enterprise) ประเภทหนึ่ง แต่ SME ไม่จำเป็นต้องเป็น Startup เพราะ
SME จะหมายถึง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยนิยามเน้นที่ขนาด (คนไม่เกิน 200 คน มูลค่าไม่เกิน 200 ล้านบาท)
ดังนั้นแน่นอนว่า Startup เริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีทรัพยากรจำกัด ขนาดก็ต้องจัดอยู่ในกลุ่ม SME แน่ๆ
แต่ด้วยเวลาเราพูดถึง Startup เราจะนึกถึงธุรกิจที่กำลังพยายามค้นหารูปแบบของตัวเองและต้องการการเติบโตแบบก้าวกระโดด
จึงแตกต่างจาก SME ทั่วๆ ไปที่ทำธุรกิจแบบ Lifestyle หรือทำไปเรื่อยๆ ตามสไตล์ของฉัน ซึ่งไม่เน้นโต ไม่มี economies of scale/scope/speed

คำว่า Startup ดูก็เห็นแล้วว่าเกิดจากคำสองคำมารวมกัน Start กับ up แปลเป็นไทยตรงๆ ก็คือ เริ่ม แล้วก็ ขึ้น
หลายคนก็เลยให้คิดว่า Startup ต้องเป็นธุรกิจเกิดใหม่เสมอ อาจจะอยู่ในช่วงไม่เกิน 3 ปี แต่อันที่จริงแล้ว Startup อาจมีอายุยาวนานเกินกว่า 5 ปีก็เป็นได้
ขึ้นอยู่กับว่า Founder หรือผู้ก่อการจะสามารถหาคำตอบทั้ง 3 เจอไหม และมีทรัพยากรเพียงพอให้ธุรกิจอยู่รอดได้ไหม
ผมเคยได้ยินคนเปรียบว่าการทำ Startup ก็เหมือนการต่อเครื่องร่อนที่ยังไม่เสร็จ แล้วกระโดดลงไปในหุบเหว
ขณะที่กำลังดิ่งลงไปเรื่อยๆ นั้น เราก็ต้องพยายามต่อเครื่องร่อนให้สมบูรณ์ ให้หัวมันเชิดขึ้นให้ได้ และก็แน่นอนว่าเครื่องยนต์ต้องการน้ำมันในการบิน
ซึ่งน้ำมันในที่นี้ก็คือ Cashflow หรือเงินทุนหมุนเวียน ที่เอามาใช้จ่ายในการประกอบการ
ไม่ว่าสินค้าหรือบริการของเราสุดท้ายจะดีแค่ไหน แต่ถ้า Cashflow ไม่ดีพอ มันอาจเกิดอาการเห็นที่หมายอยู่รำไรแต่เอาเครื่องไปไม่ถึงก็เป็นได้

ดังนั้นการเป็น Startup ที่ดีต้องเริ่มจากไอเดีย นำไปสู่การลงมือทำจริงๆ และต้องมีทุนสนับสนุนเพื่อการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
แล้วแหล่งที่มาของทุนหละ จำเป็นต้องมี V.C. (Venture Capital) เข้ามาเกี่ยวข้องไหม เพราะดูมันยากและไกลตัวเหลือเกิน
คำตอบอยู่ในคำถามข้อที่แล้วว่าถ้า Cashflow เราดี ก็ไม่ต้องมี V.C. เข้ามาเกี่ยวก็ได้
ผมชอบสิ่งที่ David Heinemeier Hansson เคยพูดไว้เมื่อปี 2008

บริษัทของเขาไม่จำเป็นต้องระดมทุนจากที่อื่น เพราะสามารถได้เงินจากลูกค้ามาใช้จ่ายเพียงพอในบริษัท

เทพนิยายแห่งซิลิคอนแวลลีย์ คือ การเริ่มต้นจากโรงรถ แล้วโตแบบพลิกฝ่ามือด้วยเงินจาก V.C. บริษัทเหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทไอทีที่เราเคยได้ยินชื่อแทบทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะ Facebook, Twitter ที่ IPO ไปแล้ว หรือ Tumblr ที่ถูก Yahoo! ซื้อไป
มีสถิติง่ายๆ บอกต่อกันมาไว้ว่า 10 รอด 1 นักลงทุนก็แค่หว่านเงินลงไปในโปรเจคที่เค้าสนใจ
โดยหวังว่าถ้าสัก 1 บริษัทสำเร็จ เค้าจะได้ทุนคืนทบต้นทบดอกคุ้มกับอีก 9 บริษัทที่เจ๊งไป
ซึ่งประเภทอุตสาหกรรมที่ทำเช่นนี้ได้ ต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีนวัตกรรมบางอย่าง
ดังนั้นซอฟต์แวร์จึงมีอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมากที่สุด เพราะสามารถทำซ้ำและขยายผลได้อย่างรวดเร็ว
แต่ก็ไม่ใช่ว่าธุรกิจอื่นหรืออุตสาหกรรมอื่นจะเป็น Startup ไม่ได้นะครับ

สุดท้ายอย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่ามันไม่ได้สำคัญเลยว่าธุรกิจที่เรากำลังทำเป็น Startup ไหม
ที่สำคัญคือเรากำลังทำมันเพื่ออะไร เรามีความสุขกับการค้นหาครั้งนี้ไหม
หากทุกวันเรามีความสุข ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ อย่างที่ฝรั่งเค้าเรียกว่า มี passion นั้นแหละครับคำตอบหนึ่งของชีวิต
Steve Jobs เคยกล่าวไว้ว่า You’ve got to find what you love เพราะทุกวันที่เราตื่นนอนขึ้นมา เราจะอยากไปทำงาน และมีความสุขอยู่กับงานที่เราทำ

Steve Jobs

Leave a Reply