Zipcar

ทางเดียวกันไปด้วยกัน หรือ Carpool เป็นคอนเซ็ปต์ที่มีมานานมากแล้ว ก่อน Uber, Grab จะมาเป็นที่นิยมเสียอีก
ประโยชน์ที่เราเห็นได้ชัดเลยคือเรื่อง การลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้พลังงาน และลดจำนวนรถบนท้องถนน

Zipcar น่าจะเป็นผู้ให้บริการรถเช่าที่สามารถเอาเทคโนโลยีมาผสมผสานเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้เป็นรายแรกๆ

เรื่องนี้เริ่มต้นในปี 1999 จาก Antje Danielson ไปนั่งชิลอยู่ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ณ กรุงเบอร์ลิน เธอไปเห็นป้ายประกาศบริการ car sharing แล้วเกิดความสนใจ อยากให้มีบริการแบบนี้ในอเมริกาบ้าง เธอเลยไปชวน Robin Chase คุณแม่ของเพื่อนลูกสาวในอนุบาลเดียวกัน แล้วก็สามารถระดมทุนมาได้ถึง $75,000 เพื่อเปิดให้บริการเช่ารถออนไลน์ แบบระยะสั้นไม่กี่ชั่วโมงในชื่อว่า Zipcar ในปี 2000 ที่เมือง Cambridge

ธุรกิจเช่ารถรูปแบบเดิมจะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจที่ต้องการเช่ารถหลายวัน แต่สำหรับ Zipcar ตอบโจทย์ที่แตกต่างให้กับผู้บริโภคสามกลุ่มหลักคือ กลุ่มลูกค้าทั่วไป, กลุ่มลูกค้าองค์กร, และสถาบันการศึกษา ซึ่งต้องการใช้บริการระยะสั้น แค่ชั่วโมงสองชั่วโมง อย่างมากสุดก็ไม่เกินหนึ่งวัน

Zipcar จะเรียกสมาชิกว่า Zipster สามารถใช้รถร่วมกันในลักษณะการเช่าขับ โดยมีกฎพื้นฐานเช่น ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามทิ้งขยะในรถ ถ้าส่งรถสายก็มีค่าปรับที่แพงเอาเรื่อง Zipster สามารถเลือกรุ่นรถที่ต้องการ โดยใช้ Zipcard เป็น RFID tag แตะที่เครื่องอ่านบนตัวรถเพื่อปลดล็อค และมีการเชื่อมต่อข้อมูลแบบไร้สายผ่านเครือข่ายของ AT&T ซึ่งจุดรับรถก็เป็นโรงรถตามบ้านเพื่อให้ Zipster ไม่ต้องเดินทางไปรับรถไกลๆ

สำหรับคนทั่วไปที่อยากเช่ารถ ก็สามารถสมัครเป็น Zipster ได้ที่เว็บไซต์ www.zipcar.com โดยต้องเสียค่าสมัคร และมีแพ็คแกจให้เลือกเป็นแบบรายปีหรือแบบรายครั้ง

และแน่นอนว่า Zipcar ก็มีปัญหากับกฎหมายเหมือน StartUp รายอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องประกันรถซึ่งไม่มั่นใจว่าใครได้รับความเสี่ยง และควรตั้งราคาเท่าไร คุ้มครองใครบ้าง

ปี 2001 Antje โดนไล่ออก และ Robin ขึ้นเป็น CEO แทนหลังการประชุมกันใน board
ปี 2002 Zipcar ไปตั้งออฟฟิศที่วอชิงตันและนิวยอร์ค พร้อมหาเงินทุนเพิ่มได้อีก $4.7 ล้าน (Series B)
ปี 2003 Robin ก็โดนไล่ออก ให้ Scott Griffith ขึ้นตำแหน่งแทน เนื่องจากผลงานไม่ดี
ปี 2005 ได้เงินลงทุนเพิ่ม $10 ล้าน
ปี 2006 ได้เงินทุนมาเพิ่มอีก $25 ล้าน เพื่อขยายธุรกิจออกนอกอเมริกา และคราวนี้ก็ไปตั้งออฟฟิศในโตรอนโต และลอนดอน
พอปี 2007 Zipcar ก็ได้รวมบริษัทเข้ากับบริษัทคู่แข่ง Flexcar

ปี 2009 ได้ออก iPhone App ในงาน Apple World Wide Developer Conference ทำให้สมาชิกสามารถระบุตำแหน่งของรถที่ให้บริการ สามารถจองและปลดล็อกรถได้ผ่าน App อีกด้วย
Zipcar กลายเป็นบริษัทที่ให้บริการ car sharing ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีรถถึง 6,000 คัน มีสมาชิก 275,000 คน ในอเมริกากว่า 49 เมือง แวนคูเวอร์ โตรอนโต และลอนดอน

ปี 2010 Zipcar เข้าซื้อบริษัท car sharing ที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ Streetcar ด้วยเงิน $50 ล้าน

ณ จุดๆ นี้ Zipcar ได้ระดมทุนไปถึง Series G รวมได้รับเงินลงทุนมาทั้งหมด $107.7 ล้าน
แต่อย่างไรก็ตามตลอด 10 ปี Zipcar ก็ยังไม่เคยทำกำไรได้เลย
และในที่สุดก็สามารถ IPO ใน NASDAQ ช่วงเดือน เม.ย. 2011 ด้วยการตีมูลค่ามากกว่า $1 พันล้าน

สุดท้าย Zipcar ได้ถูกซื้อโดย Avis Budget Group ด้วยมูลค่า $500 ล้าน ในเดือนมี.ค. 2013

ปี 2016 Zipcar ประกาศว่ามีสมาชิกครบ 1 ล้านคน จาก 500 เมืองใน 9 ประเทศ และอ้างว่ามีการจองรถเกิดขึ้นทุกๆ 6 วินาที

การใช้บริการ Zipcar ทำให้ Zipster มีโอกาสใช้รถได้หลากหลายรุ่น ประหยัดกว่าการซื้อรถไว้ขับเอง แต่เป็นการจ่ายตามระยะทางและเวลาการใช้งาน
Zipcar 1 คันสามารถแทนการใช้รถส่วนตัวได้ถึง 15-20 คัน และเป็นอีกทางเลือกสำหรับสถานที่ที่ต้องการลดความต้องการพื้นที่จอดรถและหลีกเลี่ยงรถติด
และหลังๆ เมื่อ Zipcar เป็นที่นิยม ก็เริ่มมีการพาร์ทเนอร์กับค่ายรถต่างๆ เพื่อนำรถต้นแบบมาทดลองให้บริการ อย่างเช่น รถยนต์ Hybrid, EV เป็นต้น

แม้จะเป็นเรื่องเศร้าสำหรับ 2 ผู้ก่อตั้งที่ถูกไล่ออกจากบริษัทตัวเอง แต่มันก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายให้กับโลกใบนี้

Leave a Reply