BAT

หลายวงการมักมีตัวย่อของตัวเอง อย่างการรวมกลุ่มของประเทศแถบเพื่อนบ้านเราที่ได้ยินกันบ่อยๆ อย่าง CLMV ก็มาจาก Cambodia, Loa, Mynmar, Vietnam
พอมาถึงวงการเทคโนโลยีในฝั่งอเมริกา ก็จะมีบริษัทชั้นนำตัวท็อป 5 บริษัทในตลาดหุ้น NASDAQ ที่บางคนอาจเคยได้ยินคือ FAANG อันประกอบด้วย

Facebook (NASDAQ: FB) มี Market Cap อยู่ที่ประมาณ $500B
Apple (NASDAQ: AAPL) $825B
Amazon (NASDAQ: AMZN) $900B
Netflix (NASDAQ: NFLX) $150B
Google (NASDAQ: GOOGL) $780B

เมื่อรวมมูลค่าตามราคาตลาดช่วงกลางปี 2019 กันก็อยู่ประมาณ $3,155B

ส่วนในฝั่งจีน ก็มีบริษัทชั้นนำ 3 บริษัท ซึ่งมีความหลากหลายไปขายอยู่ทั้งในตลาด NASDAQ, NYSE, และ HKG ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าแล้วก็ราว $840B

Baidu (NASDAQ: BIDU) มี Market Cap อยู่ที่ประมาณ $40B
Alibaba (NYSE: BABA) $400B
Tencent (HKG: 0700) $400B

ที่น่าสนใจคือ โลกใบนี้มียูนิคอร์น ประมาณ 360 ตัวทั่วโลก เป็นยูนิคอร์นจีนสัก 90 ตัว และมากกว่าครึ่งหนึ่งในนั้นได้รับเงินลงทุน จากค้างคาวยักษ์ทั้ง 3
และที่คนไทยคุ้นๆ กับ Alibaba ของเฮีย Jack Ma สูสีพอวัดพอเหวี่ยงกับ Tencent ของเฮีย Pony Ma ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกันแต่พอดีนามสกุลเดียวกัน
ว่าแล้วเรามาทำความรู้จักกับ BAT กันให้มากขึ้นกันเถอะครับ

Baidu ไป๋ตู้ ก่อตั้งโดย Robin Li ในปี 2000 อาจเทียบได้ว่าเป็น Search engine อันดับ 1 ของจีน อันดับ 2 ของโลก รองจาก Google ที่เรารู้จักกันดี
ซึ่งชื่อก็ความหมายคล้ายๆ กันด้วย ที่มาของ Google คือ googol (10 ยกกำลัง 100) ส่วนไป๋ตู้มาจากโครงกลอนจีนโบราณตอนนึงที่พูดถึง การค้นหานับหลายร้อยครั้งหรือนับครั้งไม่ถ้วน
นอกจาก Search engine ก็ยังมีบริการอีกมากมาย มีประมาณการณ์ผู้ใช้บริการทั่วโลกน่าจะถึง 2,000 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็น map, news, cloud, web analytics, dictionary, internet tv, antivirus (คุ้นๆ ไหมครับ) และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งตัวที่พยายามดันมากๆ คือ Wallet โดยมีการ partner กับ Paypal ให้สามารถจ่ายเงินในเว็บไซต์นานาชาตินับ 17 ล้านไซต์ได้
และแน่นอนระยะหลังก็มุ่งเน้นไปที่บริการ A.I. มีโครงการ Apollo เป็นเรือธง ไม่ใช่สิต้องเรียกว่า รถธง มั้งครับเพราะเป็นการสร้างระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติหรือ autonomous driving program ที่พาร์เนอร์ระดับโลกร่วม 100 ตั้งแต่ BYD, Dongfend, Microsoft, Intel, Nvidia, ZTE, Grab, Ford, Hyndai, Honda และอื่นๆ อีกมากมาย
รายได้หลักมาจากค่าโฆษณาจากบริการต่างๆ ซึ่งหลังๆ ก็เริ่มมีปัญหาเงินไหลไปยัง platform อื่นๆ ต้องมองเกมยาวๆ ว่าจะขยับขยายสู่ธุรกิจแห่งอนาคตอย่าง A.I. ได้มากน้อยแค่ไหน

Alibaba อาลีบาบา ก่อตั้ง 1999 ก็คือธุรกิจ E-commerce ซึ่งคงต้องเอาไปเทียบกับ Amazon ของอเมริกา (ไม่ใช่กาแฟ Amazon ของ ปตท. บ้านเรานะครับ คนละบริษัทกัน)
แต่ทราบไหมครับ ปริมาณธุรกรรมซื้อขายใน Alibaba มากกว่า Amazon รวมกับ eBay ซะอีก ซึ่งนอกจาก Alibaba ที่เน้น B2B แล้วยังมีบริการอีก 2 ตลาด คือ Tmall ที่เป็น B2C และ Taobao ที่เป็น C2C
และใน ecosystem ของ Alibaba ที่เน้น new retail ก็ยังมีบริการอีกหลายตัวที่จะส่งมอบประสบการณ์สุดยอด seamless ให้กับผู้บริโภค ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ซื้อ Lazada ไปแล้ว เรื่องการจ่ายเงินก็มี Alipay และยังมี Ant financial ที่ให้บริการด้านการเงินสินเชื่อเป็น non bank มี Hema ที่เป็น offline store ขายอาหารสด มี eli.me ให้บริการ delivery

Tencent เทนเซ็นต์ ก่อตั้ง 1998 อันนี้ยากหน่อย ถ้าจะให้เปรียบผมว่าเค้าคือ Disney ฝั่งจีน เพราะ Tencent มีความหลากหลายของธุรกิจสูง แต่หลักๆ หัวใจน่าจะเป็นเรื่องของ content
รายได้หลักของ Tencent อาจแบ่งออกเป็น 3 ช่องทาง ได้แก่

  1. ค่าบริการการใช้งาน อย่างพวก virtual good ต่างๆ ที่ซื้อในเกม อย่าง RoV ที่ติดกันทั่วเมือง
  2. ค่าโฆษณา จาก media ads ในบริการต่างๆ
  3. ค่าทำธุรกรรม เช่น ค่าธรรมเนียมการชำระเงิน, ค่า cloud

มีบริการที่เราคุ้นหูคือ WeChat ที่เป็น super app ทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ chat จ่ายเงิน เล่นเกม เรียก taxi ซื้อตั๋วหนัง ซื้อตั๋วเครื่องบิน ถ้าเทียบกับ Line ที่บ้านเราใครมีมือถือต่อเน็ตได้ก็คงต้องมี Line ในเครื่อง ส่วนเมืองจีนกรณีเดียวกันก็ต้องมี WeChat ในเครื่อง มันคือส่วนหนึ่งในชีวิตคนจีน

Tencent เป็นนักลงทุน ในกิจการไฮเทคทั่วโลกมากมาย
เช่น เข้ามาซื้อหุ้น sanook.com ช่วงปี 2010 แล้วปัจจุบันเป็น บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ไปซะแล้ว โดย sanook กลายเป็นแค่บริการตัวหนึ่ง
ลงทุนใน Ookbee ก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อ Ookbee U
ลงทุนใน Garena, Supercell เพื่อรุกธุรกิจเกม สร้างเกมต่างๆ มากมายขายในจีน
เข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน JD.com คู่แข่งกับ Alibaba
นอกจากนี้ก็ยังมีการลงทุนใน snapchat และ tesla motor อีกด้วย

สังเกตได้ว่าความยิ่งใหญ่ของ BAT เกิดขึ้นเพราะเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตภายใต้ the great firewall of china ที่ไม่ต้องคุยกันเรื่อง privacy นะครับ ไม่มี group ลับที่รัฐบาลไม่รู้ ไม่สามารถค้นหาอะไรที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งเหมือนจะมีความเสี่ยงทางการเมือง แต่ในทางตรงกันข้ามมันก็คือกำแพงกั้นไม่ให้ต่างชาติเข้ามาในประเทศ พวกเขาสามารถสร้าง ecosystem ของตัวเอง พึงพาตัวเองได้ เทียบกับ FAANG ที่บริษัทอเมริกาจะใหญ่ได้ต้องออกไปโตทั่วโลก แต่ BAT แค่ทำตลาดในประเทศจีนเองก็โตขึ้นระดับโลกได้แล้ว พอมีเงินสดเหลือก็ค่อยเอาไปลงทุนในบริษัทต่างประเทศต่อ

สุดท้าย เมืองจีนยังมีอีก 3 บริษัทคลื่นลูกใหม่ที่กำลังวิ่งไล่มา เรียกรวมกันว่า TMD
Toutiao โถวเถี่ยว แอพอ่านข่าวที่ใหญ่ที่สุดในจีน ขับเคลื่อนด้วย AI ในการส่งข่าวให้ผู้อ่าน
Meituan-Dianping เหมยเถียน-เดียนปิง แอพไลฟ์สไตล์ โดยมีบริการตั้งแต่สั่งอาหาร delivery รีวิวร้านอาหาร ซื้อตั๋วหนัง และโปรโมชั่นส่วนลดสินค้าหลากหลายประเภท (อ่านแล้วเหมือน WeChat)
Didi Chuxing ตีตี้ ชูซิง แอพเรียก taxi ที่สามารถชนะ Uber ได้

Leave a Reply