อนาคต ณ ปัจจุบัน วันนี้ ในปี 2018

เมื่อปี 1993 William Gibson พูดไว้ว่า The future is already here — it’s just not very evenly distributed. แปลเป็นไทยคือ อนาคตได้เกิดขึ้นแล้วที่นี่ มันก็แค่ยังกระจายไม่ทั่วถึงเท่านั้นเอง ประโยคนี้ทำให้ผมได้ย้อนมองภาพรอบตัวที่เกิดขึ้นในปี 2017 ที่กำลังจะผ่านไป และได้เห็นว่าเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่พูดถึงกัน มันกำลังจะก่อตัวขึ้นให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งอย่างที่ Gibson พูดไว้เลยครับ เราเคยเห็นมันมาแล้วทั้งหมด บางทีมันก็เรียกอย่างอื่น จนเมื่อถึงเวลาของมันที่ทุกคนเข้าใจก็อาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่ง ใครที่เคยได้ยินหรือรู้จัก Technology Adoption Life Cycle (TALC) จะเห็นภาพนี้เหมือนกันครับ การเริ่มต้นใช้งานในกลุ่มคนบางคนที่ชอบรู้ชอบลองยอมจ่าย แล้วก็แพร่หลายไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้ามันสามารถกระจายไปทั่ว จนข้ามผ่าน chasm ไปสู่ mainstream ให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าใจและใช้งานกัน ก็แปลว่านั่นคือ เทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับให้ไปต่อ

แต่ก่อนจะพูดถึงสิ่งที่จะไปต่อในปีหน้า ผมขอว่าถึงคำ 2 คำที่กำลังจะซาไปก่อนแล้วกันนะครับ นั่นคือ “Digital marketing” และ “StartUp”

ปี 2017 นี้ผมว่าถึงจุดอิ่มตัวที่เรียกว่า The end of Digital marketing ได้แล้วหละครับ เพราะ digital มันกลายเป็นเนื้อเดียวกับ marketing ไปแล้ว การตลาดใดๆ ที่ไม่ได้ใช้ดิจิทัลไม่สามารถเข้าถึงผู้คนส่วนใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปีนี้ผมมีโอกาสช่วยโครงการ CSR อยู่ตัวหนึ่ง จากเดิมที่เค้าไม่รู้วิธีการซื้อ Facebook Advertising อย่างไรให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ก็เลยต้องใช้เงินซื้อสื่อ offline ไปหลายล้าน แต่ก็ไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนจับต้องได้ จนกระทั่งได้มาคุยกัน ผมเลยลอง target ads ให้ดู ก็ทำให้เค้าสามารถสื่อสาร สร้างการรับรู้ในตัวโครงการได้ดีขึ้น วัดผลเป็นตัวเลขได้ง่ายขึ้น ถึงบอกเลยว่ามันไม่ใช่ digital marketing แล้วครับ มันคือการวางกลยุทธทางการตลาดโดยมีเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ช่วยทำให้เป็นจริงได้ง่ายขึ้น

และเรามากล่าวคำอำลากับ buzz word ที่ใช้กันเกลื่อนอย่าง StartUp จาก 2-3 ปีที่ผ่านมา เดินไปไหนมาไหน ใครๆ ก็พูดถึงแต่ StartUp ทั้งในมุมที่เป็น Tech StartUp กับมุมที่เป็น SMEs เริ่มต้นธุรกิจใหม่ ซึ่งใช้ไปใช้มา ค่อนข้างมั่วตั่วพอสมควร ก็แล้วแต่จะใช้กันนะครับ คงไปห้ามอะไรใครไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ คือความศักดิ์สิทธิ์มันหายไป และทำให้เรามองย้อนกลับไปที่รากของสิ่งสิ่งนี้ สิ่งที่มีเสน่ห์ในการดึงดูดใจผู้คนให้เดินในทางของตนเอง นั่นก็คือ จิตวิญญาณของผู้ประกอบการครับ เอาเป็นว่า bye bye StartUp, welcome back entrepreneur แหละกันนะ

มาวันนี้ถ้าให้ผมทำนายอนาคตเทรนด์ของปี 2018 นี่คือ 8 สิ่งที่ผมคิดว่ามันกำลังจะได้ไปต่อครับ

1. Cryptocurrency
จากความดังของ bitcoin ที่มีคนบอกว่ามีบ้านขายบ้าน มีรถขายรถ เข้าเลยตอนนี้ รออะไร ลองดูกราฟนี้นะครับ

เมื่อปลายปี 2016 มันยังราคาประมาณ $1,000 แต่ปลายปี 2017 นี้มัน $17,000 ต่อ bitcoin หละครับ ใจไม่นิ่งเนี่ย ขอบอกว่า “อย่าดีกว่า”
นี่อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่เหมือนกับ Tulip mania ที่เคยเกิดขึ้นในปี 1637 จากความหายาก ปลูกลำบากในยุโรป นำไปสู่การซื้อขายล่วงหน้า กลายเป็น future market แห่งแรกของโลก จากความคลั่งไคล้เพราะความสวยงาม กลายเป็นการเก็งกำไรจากความโลภล้วนๆ ซื้อขายสัญญากระดาษกันโดยที่ไม่มีใครเห็นดอกทิวลิปเลยด้วยซ้ำ
ครั้งนี้จะเกิดอะไรขึ้นใครจะรู้ แต่ที่แน่ๆ คือจากเทคโนโลยีที่ไม่มีคนรู้จัก กับการใช้งานเฉพาะกลุ่ม จนสามารถเอามาใช้แทนเงินได้จริง มีสถานะการยอมรับโดยสาธารณะชน เอาไว้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า/บริการได้ กระทั่งนำมาสู่ ICO (Initial Coin Offering) การเสนอขายหุ้นของบริษัท StartUp
ทำให้เรารู้ว่า เงินอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้มีแค่ bitcoin เท่านั้น ยังมีอีกหลายสกุลให้ปั่น เอย…ไม่ใช่ ให้ลงทุนกัน ไม่ว่าจะเป็น NEO, BNB, QSP, ZCASH, DASH, EOS, WAVES, QTUM เป็นต้น
ผมเชื่อว่า 2018 นี่แหละครับ จุดวัดใจ จากเมื่อก่อนมีประโยคที่ว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” แต่ปีนี้จะกลายเป็น “คนแก่เล่นหุ้น วัยรุ่นเล่น crypto”

2. Omni channel
พูดกันเรื่อยๆ เรื่องการผสมผสานประสบการณ์ระหว่าง online และ offline เข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ซึ่งแบรนด์ใหญ่ๆ หลายๆ แบรนด์ก็เริ่มลงมือทำกันไปแล้ว จากหลักการ micro moments ที่ Google พูดถึงเมื่อปีก่อน หลังจากนักการตลาดเข้าใจ ZMOT (Zero moment of truth) สิ่งที่เราคำนึงถึงต่อมาก็คือ การมีตัวตนในจังหวะต่างๆ ที่ผู้บริโภคต้องการ I want to “know”, I want to “go”, I want to “do” และ I want to “buy” ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ข้อมูล คือหัวใจของเรื่องนี้ แบรนด์ใหญ่ๆ สามารถ implement ได้ก่อนเพราะเขามี data ที่ค่อนข้าง structure สามารถเอาไปใช้ ไปแชร์ตามช่องทาง touch point ต่างๆ ได้ ในขณะที่ SMEs เพิ่งได้เรียนรู้ว่า “ข้อมูล” เป็นเรื่องสำคัญ ต้องรู้จักเก็บข้อมูลก่อนนะ จึงจะสามารถเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อได้ และการบูมของ StartUp ในปีที่ผ่านมา ทำให้ SMEs ได้มีเครื่องมือ ได้ทดลองใช้ digital service เพื่อหาจุดที่เหมาะกับตัวเอง

และปี 2018 นี่แหละครับ จุดเปลี่ยน ที่ธุรกิจขนาดเล็กหากเลือกจะโตต่อไป ต้องลงทุนในระบบ IT เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่เขาอยากได้

3. Automation
ระบบอัตโนมัติ แน่นอนคำนี้คือส่วนนึงของ Thailand 4.0 ที่ภาครัฐอยากเห็น หลายคนคิดถึงหุ่นยนต์ที่ใช้ในวงการต่างๆ ปีที่ผ่านมาเหมือนแค่ว่า ตีฆ้องร้องเป่าให้ผู้คนสนใจ เพราะในระดับโลกความก้าวหน้าของวิทยาการด้านนี้ทวีคูณขึ้นมามาก จากเดิมที่คงมีแต่ในหนัง sci-fi ที่รถขับเคลื่อนตัวเองได้ ตอนนี้เรามีระบบ Self driving car อย่าง Waymo ที่ใช้งานได้จริงแล้ว เราได้เห็นตัวอย่างการทำงานของหุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์ (หรือแม้แต่ล้ำเกินมนุษย์ขึ้นเรื่อยๆ) อย่าง Atlas จาก Boston Dynamics และจักรกลพวก warehouse bot ที่เป็นตัวขับเคลื่อนในฝั่ง Logistics ที่ไม่ว่าจะ Alibaba หรือ Amazon ต่างก็ใช้ในการบริหารจัดการคลังสินค้า

เทคโนโลยีเหล่านี้แค่รอการกระจายตัวเพื่อเข้าถึงทุกๆ คน มันเป็นไปตามกฏของ Moore ที่พูดถึง ปริมาณของทรานซิสเตอร์บนวงจรรวมที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุกๆ สองปี อุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้สมองกลมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น เป็นเท่าตัว ในขณะที่ราคาก็ลดลงเรื่อยๆ ให้คนทั่วไปสามารถจับต้องได้

มองกลับมาใกล้ๆ ตัวอีกนิด ปี 2017 เราได้เห็น 3 ยักษ์ใหญ่ให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ในบ้านด้วยการส่งสินค้าที่คล้ายๆ กันออกตลาด Apple HomePod, Google Home, และ Amazon Echo อุปกรณ์เหล่านี้จะทำให้คำว่า IoT (Internet of Things) ขยับเข้ามาใกล้ตัวเราเพิ่มขึ้นอีก ทุกอย่างในบ้านจะต้องต่อ Internet ทุกอย่างจะ smart ขึ้นเรื่อยๆ การสั่งงานด้วยเสียง การพูดคุยกับเครื่องใช้ไฟฟ้าจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่คนดีๆ ไม่ใช่คนบ้าทำกัน

และนอกจาก bot ที่เป็น hardware เหล่านี้แล้ว chatbot ก็กำลังกลายเป็นรากฐานที่ธุรกิจขนาดใหญ่มองว่า จะเอาเข้ามาใช้เพื่อลดความผิดพลาดในการทำงานของมนุษย์ และทำให้สามารถขยายธุรกิจได้เร็วขึ้น ซึ่งมันจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็อยู่ที่หลายๆ ศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น machine-learning, natural language processing และ artificial intelligence ภาษาอังกฤษหนะมาแน่ปี 2018 นี้ครับ ส่วนภาษาไทยก็อาจจะต้องร้องเพลงรอกันต่อไป เพราะไทยไม่ค่อยซื้อของไทย แล้วนักวิจัยไทยจะเอาเงินที่ไหนมาพัฒนาหละครับ สู้กันต่อไปนะ… บัวขาว

4. Privacy
และเมื่อทุกอย่างอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ความเป็นส่วนตัวทั้งหลายจะหายหมดสิ้นไปจากโลกใบนี้ ผู้ให้บริการเขียนนโยบายต่างๆ ยาวยืด ใช้ภาษาสละสลวยสวยงาม มีชื่อเรียกเก๋ๆ ว่า “privacy policy” แต่อ่านเข้าจริงๆ มันก็แค่ข้อความทางกฎหมายที่เค้าเอาไว้ใช้ป้องกันตัวเองเวลาจะเอาข้อมูลของผู้ใช้ไปใช้ประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง ซึ่ง Who care เพราะทุกวันนี้ เราใช้งาน online service ต่างๆ ฟรี โดยแลกกับ “ข้อมูล” ความเป็นส่วนตัวของเราอยู่แล้ว ใครจะรู้ว่าหละครับว่า Google, Facebook, หรือแม้กระทั่ง Line รู้จักเราดีกว่าตัวเราเองรู้จักตัวเองหรือเปล่า?

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคที่ well educated ก็จะเรียกร้องให้บริษัทปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเค้าให้ดี ไม่ใช่แค่เรื่องความเป็นส่วนตัวแต่มันคือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลด้วย

หัวข้อนี้ผมเชื่อว่าผู้คนจะตระหนักกันมากขึ้น แต่ก็จะเป็นเรื่องค้างคาใจกันต่อไปตลอดปี 2018 นี้

ก็คงพอหอมปาก หอมคอกันไปกับ 4 ข้อแรกที่ผมคิดว่าจะได้ไปต่อในปี 2018 นี้ สำหรับอีก 4 ข้อเดี๋ยวขอตัวไปทำงานต่อแว๊บ จะกลับมาเขียนต่อ ถ้ามีคนสนใจอยากอ่านนะครับ ทิ้งคอมเมนต์กันไว้ได้เลย

Leave a Reply