เราจะเริ่มต้นธุรกิจ Startup อย่างไรดี

พอดีผมได้มีโอกาสดูคลิปของ Sam Altman ประธาน Y Combinator ซึ่งเป็น incubator ชั้นนำในอเมริกา จากเว็บไซต์ startupclass.co เลยลองสรุปออกมา (พร้อมกับใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไปในบางจุดนะครับ) เขาบอกว่าสิ่งที่จะบอกต่อไปนี้อาจจะไม่สามารถใช้กับธุรกิจใหญ่ได้ เพราะการทำ Startup มีธรรมชาติที่แตกต่างออกไป และที่สำคัญเรื่องราวตรงนี้อาจจะเป็นเพียงแค่ 30% ที่เรากำลังจะเจอในเส้นทางการเป็น Startup ของเรา

เริ่มแรกเลยก่อนที่จะลงมือทำ Startup เราควรตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าทำไมเราถึงต้องทำสิ่งนี้ เพราะถ้าอยากรวย มีวิธีอื่นที่ทำให้รวยแบบแน่นอนกว่านี้ หรือถ้าอยากเท่ห์ ก็มีอาชีพอื่นที่เท่ห์กว่านี้ หรือถ้าบอกว่าอยากสบาย ตอบได้เลยการเป็น Startup ชีวิตไม่ได้สบาย มันก็อาจมีเหตุบางอย่างที่ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่า “Startup รวย เท่ห์ ชีวิตสบาย” ซึ่งถ้าใครไม่ได้ทำจริงจัง ไม่รู้หรอกครับ ว่า Startup โหดกว่าที่ใครๆ คิดเยอะ อันที่จริงจะว่าไป การไปถึงจุดสุดยอดของทุกสาขาอาชีพมันไม่ได้มาโดยง่ายหรอกนะ

เคยมีพี่ท่านหนึ่งสอนผมว่า ในเกมเบสบอลหนะ ทั้งเกมคุณไม่ต้องตีโฮมรันให้ได้หลายลูกหรอก บางครั้งแค่ลูกเดียวก็ชนะแล้ว แต่กว่าจะตีลูกลูกนั้นได้ คุณจะต้องซ้อม ต้องตีลูกเป็นหมื่นเป็นแสนลูกให้ได้ก่อน การทำ Startup ก็เหมือนกัน คุณอาจจะล้ม จะพลาดเป็นสิบ เป็นร้อย แต่ขอให้คุณสร้างผลงานที่ผู้คนยอมรับได้สักครั้งหนึ่ง แค่นั้นก็พอแล้ว การจะทำ Startup ต้องการ Passion อันแรงกล้า คล้ายๆ เราจะถูกดึงดูดด้วยปัญหาบางอย่าง และการลงมือทำของเราคือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในโลกใบนี้เพื่อที่จะแก้ปัญหานั้น

sam_altman

กลับมาที่เนื้อหา Sam กล่าวว่ามี 4 ด้านที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเป็น Startup ได้แก่ เราจะต้องมี great idea, great product, great team, และ great execution

1. ไอเดีย
หลายปีมานี้เรามักได้ยินบ่อยๆ ว่า idea doesn’t matter หรือไอเดียไม่มีค่าอะไรเลย ในวงเล็บว่าถ้าปราศจากการลงมือทำที่จริงจัง ดังนั้นเอาเข้าจริงทุกอย่างเริ่มต้นที่ไอเดีย เราต้องมีไอเดียที่ดีก่อน เพราะถ้าไอเดียแย่ไม่ต้องคิดเลยว่าผลลัพธ์จะออกมายังไง และเราก็ไม่ต้องกลัวว่าถ้าคิดไปแล้วหรือนำเสนอไปแล้วจะมีใครมาลอกเลียนแบบ เพราะถ้ามันเป็นไอเดียของเรา เราหมกหมุ่นลุ่มหลงกับมันจริงๆ จะมีแต่เราเท่านั้นที่ลงมือทำแล้วสำเร็จ ในทางตรงกันข้ามถ้าไอเดียนั้นไม่ใช่ของเรา มันก็จะไม่อยู่กับเรา

ไอเดียที่ดีต้องอธิบายออกมาได้ง่าย ถ้ามันยากที่จะเล่าให้คนอื่นฟังด้วยประโยคเดียว แปลว่ามันซับซ้อนเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจ (แหมมมม ขวานผ่าซากมากๆ ครับ) และ ไอเดียที่ดีคือไอเดียที่ทำให้ทุกคนในทีมรู้สึกถึงภาระกิจอันยิ่งใหญ่และอยากจะไปด้วยกัน ซึ่งสำหรับการทำ Startup แล้วไอเดียที่เราต้องการคือไอเดียที่ฟังแล้วดีในขณะเดียวกันก็ฟังแล้วงี่เง่าด้วย เพราะถ้ามันดีมากๆ คนอื่นเค้าทำไปหมดแล้วแหละครับ แต่ถ้ามันมีจุดที่บ้าบิ่นอยู่ ดูเหมือนจะมีอะไรบางอย่างที่เป็นไปไม่ได้ นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นที่ดีของเรา

เพราะบางทีตอนนี้อาจมีแค่คนกลุ่มเล็กๆ ที่สนใจอยากใช้ของเรา แต่ถ้าเราสามารถยึดตลาดได้และขยายได้อย่างรวดเร็ว แปลว่าเราจะครอบครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ในอนาคตได้ นั้นแหละครับที่บางทีบางไอเดียดูเหมือนว่าไม่น่าสนใจ แต่เวลาผ่านไปมันกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ดังนั้นวันนี้ถ้าเราบอกไอเดียใคร แล้วเค้าบอกว่าเราบ้า นั่นแหละครับดีแล้ว เพราะเค้าจะไม่แข่งกับเรา (unpopular but right!)

คำถามถัดมาที่ต้องถามก็คือ แล้วมันใช่เวลาไหมที่ต้องทำตอนนี้ ทำไมไม่มีคนทำไปแล้วเมื่อสองสามปีก่อน หรือเพราะมันอาจจะยังไม่ถึงเวลา เทคโนโลยีไม่พร้อม พฤติกรรมผู้คนไม่พร้อม และอีกหลายๆ ปัจจัยแห่งความไม่พร้อม ดังนั้นถ้าเรากำลังสร้างสิ่งที่ตัวเราเองต้องการ มันกำลังแก้ปัญหาที่คนอื่นก็มีเหมือนๆ กัน และเรามั่นใจว่าเราพร้อมและต้องตอนนี้เท่านั้นเพื่อที่จะได้ประโยชน์จากการเป็น First mover ก็ลุยเลยครับ และถ้ามันไปได้สวย นั้นคือพันธะสัญญาว่าเราจะอยู่กับมันไปอีกเป็นสิบปี

2. Product
ในการสร้างบริษัทที่สุดยอดเราต้องการ Product ที่สุดยอดซึ่งมาจากไอเดียที่สุดยอด ซึ่งขั้นตอนการสร้าง Product ที่สุดยอดนี้คือขั้นตอนที่สนุกที่สุดในการทำ Startup แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าควรทำอะไร จะมีก็แค่คนที่ช่วยบอกว่าน่าจะทำได้อย่างไร และที่แน่นอนก็คือ Product ที่สุดยอดส่วนใหญ่มันกำลังแก้ปัญหาให้ใครบางคน ดังนั้นการทำงานใกล้ชิดกับคนที่มีปัญหาเหล่านั้นเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การสร้างสุดยอด Product ซึ่งถ้าเรามีสุดยอด Product แล้ว ไม่ว่าอะไรก็จะเป็นเรื่องง่าย อยากได้คนเพิ่มหรือ อยากได้ตังค์เพิ่มหรือ ก็แค่เอา Product เราไปขาย ไปเล่าให้คนอื่นฟัง แค่นั้นเอง

ขั้นตอนแรกคือการสร้างสิ่งที่ผู้คนชอบ ผมเชื่อว่าคนที่ศึกษาเรื่องนี้คงเคยได้ยินคำว่า Minimum Viable Product หรือ MVP มันคือการสร้าง Product ที่น้อยที่สุดที่ทำงานได้ เพื่อปล่อยออกไปทดสอบตลาดก่อน แต่แค่นั้นมันไม่พออีกต่อไปแล้วครับ เราต้องสร้าง MLP หรือ Minimum Lovable Product เพื่อมั่นใจว่า ถ้าเราปล่อยออกไปแล้ว ผู้คนจะชอบมัน เราต้องทำงานด้วยเท้า ต้องเดินไปคุยกับผู้คน ไม่ใช่ทำงานนั่งเทียนแต่ในห้องอยู่ในออฟฟิศอย่างเดียว อย่าไปสนใจเรื่องการทำ PR ให้คนรู้จัก เพราะถ้าคนรู้แล้วไม่ชอบ ไม่ใช้ ไม่เกิดอะไรขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าคนชอบ เขาจะเป็นสื่อนำพา Product เราไปให้เพื่อนๆ ของเขารู้จักด้วย

ที่สำคัญคือ อย่าเพิ่งขยายถ้ายังไม่มั่นใจว่าผู้คนชอบ Product ของเรา ไม่งั้นเราจะเสียเวลา เสียทรัพยากรต่างๆ โดยเปล่าประโยชน์ และอย่าไปเสียเวลาแข่งกับคู่แข่ง จงแข่งกับตัวเองเพื่อสร้าง Product ที่ผู้คนชื่นชอบ Startup ส่วนใหญ่ที่เจ๊งเพราะมัวแต่ไปเสียเวลาทำเรื่องอื่นๆ แทนที่จะพัฒนา Product ให้ดีพอ มันต้องง่ายมากๆ มันต้องเป็น Product ที่คนใช้ได้โดยไม่ต้องคิด และอยากบอกต่อโดยไม่ตะขิดตะขวงใจ ลองนึกภาพของ Google หรือ Facebook ตอนให้บริการแรกๆ สิครับ มันใช้งานง่ายมาก

ในการได้ feedback จาก user ไม่ต้องคิดวิธีอะไรยากเย็น ไม่ได้ต้องการเยอะ ขอแค่กลุ่มเดียวหรือคนเดียว คนที่สามารถพูดคุยกับเค้าได้ทุกวันเพื่อนำมาปรับปรุง Product เราให้ดีขึ้น เราต้องการคนที่มาเป็นสาวก เป้าหมายคือสร้างผู้ใช้กลุ่มแรกที่หลงรักใน Product ของเรา และปรับปรุง Product เราให้ดีขึ้นทุกๆ สัปดาห์แค่ 10% ก็พอแล้ว ต้องหมั่นถามว่า เขาชอบหรือไม่ชอบอะไร เขายินดีที่จะจ่ายไหม และเขาจะแนะนำให้เพื่อนๆ ไหม ถ้าคำตอบคือยังไม่ใช่ ก็ต้องรีบพัฒนาปรับปรุงให้เร็วขึ้น

3. ทีมงาน
เรื่องที่สำคัญมากๆ ในการทำ Startup (และจริงๆ ก็ทำทุกเรื่องนั่นแหละ) คือ เรื่องคน เดี๋ยวมาแตกประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
a. cofounders ผู้ร่วมก่อการ
คือหุ้นส่วนทางธุรกิจ การไม่มียังดีกว่ามีที่ไม่ดี แต่มันก็ยังแย่อยู่นะถ้าจะทำงานแค่คนเดียว ผู้ร่วมก่อการควรเป็นคนที่เรารู้จักแต่ไม่ใช่เพื่อนที่สนิท เพราะถ้ามีปัญหาผิดใจกันเราจะสะดวกใจที่จะคุยกันเพื่อแก้ปัญหา ไม่ได้เอาความสัมพันธ์มาเกี่ยว ซึ่งถ้าเราเป็นคนเทคนิค เราควรหาคนที่รู้ธุรกิจมาร่วมงาน ในทางตรงกันข้ามถ้าเราเป็นนักธุรกิจ เราต้องหาคนเทคนิคมาร่วมด้วย และอย่าคิดว่าแค่จ้างก็พอ มันอาจจะไม่พอ โดยเฉพาะถ้านี่คือ Startup ที่เป็นซอฟต์แวร์ ยังไงเราก็ต้องการคนที่เข้าใจซอฟต์แวร์มาหมกหมุ่นกับปัญหาที่จะเผชิญไปข้างหน้าด้วยกัน จำนวนที่เหมาะสมน่าจะอยู่ระหว่าง 2-3 คน

b. อย่าพยายามจ้างคน
การมีจำนวนพนักงานมากหรือน้อยไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะยิ่งจำนวนมากก็แปลว่าต้องจ่ายมาก แต่ถ้าเราสามารถคงจำนวนได้น้อยในช่วงปีแรกๆ และดึงศักยภาพของผู้คนออกมาให้ได้มากที่สุด จะเป็นการทำงานที่ฉลาดกว่า ยิ่งมีคนเยอะยิ่งเรื่องแยะ ถ้าได้คนห่วยๆ มาร่วมทีมด้วยยิ่งปัญหาตามาให้แก้เยอะเข้าไปใหญ่ ยกตัวอย่าง airbnb ใช้เวลา 5 เดือนในการสัมภาษณ์และจ้างพนักงานคนแรก และในปีแรกเขาสามารถจ้างได้แค่ 2 คน สิ่งที่พวกเขาต้องการคือคนที่เชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อ เพราะเมื่อมีวิกฤตทุกคนในทีมคือคนที่จะพร้อมอยู่สู้กับมัน เพราะเขากำลังทำในสิ่งที่เขาเชื่อที่เขารักอยู่

c. ถ้าจ้าง จ้างคนที่เจ๋งที่สุด
พนักงานทั่วๆ ไปไม่สามารถสร้าง Startup ที่สุดยอดได้ พวกเขาเหมาะกับบริษัทใหญ่ทั่วไปมากกว่า ในการเริ่มต้น Startup เราต้องการแรงผลักดันอย่างสูงจากคนที่มีความมุ่งมั่น เชื่อในสิ่งที่เราเชื่อ เขาต้องเจ๋งมากในสิ่งที่เขาทำได้เพื่อไม่เป็นภาระของทีม และแหล่งในการหาคนที่ดีที่สุดคือจากคนที่เรารู้จักแล้ว หาจาก reference

d. หลังจากจ้างคนที่เจ๋งที่สุดแล้ว ต้องให้เขาอยู่กับเรานานที่สุดด้วย
มันคือ management skill นี่คือศิลปะการดำรงอยู่ของบริษัท เราต้องรู้จักการให้เครดิตทีมงาน รู้จักขอบคุณ และรู้จักผลักดัน จูงใจผู้คน

e. ไล่ออกให้เร็ว
สั้นๆ ง่ายๆ คนไม่ใช่ ยังไงก็ไม่ใช่ อย่าปล่อยไว้นาน

4. Execution หรือ การลงมือทำ
มันคือส่วนยากที่สุดในที่นี่ และแน่นอนเรา outsource ไม่ได้ เราต้องลง detail ด้วยตัวเอง และมันจะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไป
เริ่มจาก CEO มีงานที่ต้องทำ 5 อย่าง
– กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision)
– หาเงิน
– โน้มน้าวชักชวนคนอื่น
– จ้างและบริหารจัดการ
– ทำให้มั่นใจว่างานทุกอย่างในบริษัทมีการลงมือทำ

การลงมือทำ ประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ (1) หาให้เจอว่าต้องทำอะไร (2) ทำมันให้เสร็จออกมา
แน่นอนครับ เราต้องโฟกัส โฟกัส โฟกัส เพราะในแต่ละวัน มันจะมีเรื่องโน่นเรื่องนี้ผ่านเข้ามาให้เราต้องคิดมากมาย เราต้องจัดลำดับความสำคัญให้ได้ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง และไม่ทำอะไร ต้องดูแลทรัพยากรที่มีทั้งเงินและเวลา ต้องฝึกปฏิเสธเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง พยายามดู Growth และ momentum ที่เกิดขึ้น ทำงานเป็นทีม ทุกคนต้องเอาจริงเอาจัง สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือ ทุกครั้งที่เราคุยกับทีม เราต้องพบว่ามีบางอย่างใหม่ๆ ทำเสร็จแล้ว นี่แหละคือกลิ่นไอของความสำเร็จ

ผมขอยกตัวอย่าง ป้ายหนึ่งที่เป็นภาษาญี่ปุ่น เค้าเขียนไว้ว่า

japan-intensity

1.01 ยกกำลัง 365 = 37.8
0.99 ยกกำลัง 365 = 0.03
หมายความว่า ถ้าหากเราเพิ่มความขยันขึ้นเพียงวันละเล็กน้อย คือ มากกว่า 1 แค่ 0.01 ผลลัพธ์ที่ได้ออกมามันคือ 37.8 เท่า ในเวลา 1 ปี
ในทางตรงข้าม ถ้าหากเราทำตัวแบบผลัดวันประกันพรุ่ง เหยาะแหยะ แค่ขี้เกียจกว่าปกติวันละ 0.01 เวลาผ่านไป 1 ปี ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจะเหลือแค่ 0.03
ดังนั้น จงอย่าดูถูกความขยัน แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะได้เห็นผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ของมันอย่างแน่นอน! (ถ้าเราเริ่มต้นได้ถูกทางนะ เพราะถ้ามันผิดตั้งแต่ข้อไอเดีย แล้วขยันทำเรื่องโง่ๆ มันจะสร้างความบรรลัยได้มากถึง 37.8 เท่าทีเดียวครับ)

Leave a Reply