จากใจถึงใจที่ขอนแก่น

เสร็จสิ้นไปอีกหนึ่งภาระกิจกับการอบรม “พัฒนาผู้ประกอบการ OTOP เพื่อเตรียมความพร้อมด้าน e-commerce” ที่ขอนแก่น งานนี้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง และได้รู้จักคนดีๆ เยอะเลยครับ ต้องถือว่าไม่เสียใจที่ตัดสินใจรับงาน จริงๆ จุดเริ่มต้นก็มาจากความเกรงใจว่า พี่ชนินทร์แห่ง dentsu plus ผู้ซึ่งเคยมาช่วยทำ Focus group สมัยที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่เอ่ยปากถามว่า สนใจจะมาบรรยายเกี่ยวกับ e-commerce ให้ผู้ประกอบการ OTOP ฟังไหม ตอนแรกก็ลังเลเพราะมันเป็นแค่เส้นบางๆ ที่เชื่อมโยงกับงาน BOXBOX.me ที่ทำอยู่ ตัวเองก็งานยุ่งท่วมหัว แถมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญสายตรงอะไรด้าน e-commerce ตัวเองก็แค่เป็นคนที่สนุกกับการอยู่กับเทคโนโลยีในโลกดิจิตอลคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งถึงแม้จะพอมีความรู้บ้างในฐานคนไอทีที่คลุกคลีกับอินเทอร์เน็ตมาตลอด แต่สำหรับการนำไปใช้งานกับกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP นี่สิ เค้าจะเข้าใจที่เราพูดไหมน้าาาา

i-hotel

คำถามมากมายวนเวียนไปมา แล้วก็รับปากไปอย่างงงๆ ว่าจะไปให้หลังจากกลับจากญี่ปุ่น รู้ตัวอีกที ก็มาโผล่ที่สนามบินขอนแก่นแบบง่วงๆ ซะแล้ว งานนี้เป็นงานสัมมนา 3 วัน โดยผมรับผิดชอบตั้งแต่วันที่สองครึ่งบ่ายกับวันที่สามทั้งวัน โดยมีเรื่องที่แปลกคือเป็นการสอนเนื้อหาเดียวกันแต่แบ่งสอนสองห้องเพราะต้องการให้ผู้ประกอบการได้ทำจริงในห้องคอมที่ไม่สามารถจุคนได้ครบ ซึ่งอีกห้องหนึ่งก็ได้รับเกียรติจาก อ.ภิเษก เจ้าพ่อตำราหนังสือด้านดิจิตอลเมืองไทยมาสอน และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลังจากที่แบ่งงานกับอาจารย์ทำสไลด์กันคนละช่วง พอก่อนงานจริงผมก็จะมาเตรียมการสอน เลยเอาสไลด์อาจารย์มาแก้เพิ่มโน่นเพิ่มนี่เข้าไป โดยไม่ได้คิดอะไร แต่พอมาทราบอีกทีนี่คือการไม่ให้เกียรติผู้ร่วมสอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ผมทำให้อาจารย์ไม่สบายใจถึงขั้นความดันสูงขึ้นเลยทีเดียว รู้สึกผิดมากมายครับ เป็นบทเรียนแรกจากนิสัยสบายๆ ของตัวเองที่ไม่ค่อยสนใจมารยาทหรือกฏเกณฑ์อะไรของสังคมเสียเท่าไร ก็ต้องขอโทษ ขออภัยอาจารย์ไว้ ณ ที่นี้อีกทีด้วยนะครับ แต่สุดท้ายจะบอกว่าหลังจากเจอกันตัวเป็นๆ อาจารย์ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไรอีก หนำซ้ำยังพาไปเลี้ยงขาหมูเยอรมันที่โรงแรมหรูในฐานะเจ้าบ้านซะด้วยสิ ต้องบอกว่า ซึ้งน้ำใจจริงๆ ครับ

อ้อและจากการไปกินขาหมูครั้งนี้ก็เลยได้รู้จักกับพี่อ๊อด อภิชัย นักพัฒนา AR ผู้รักบ้านเกิดแดนอีสานของตนเอง ได้ฟังพี่อ๊อดเล่าเรื่องแนวคิดการทำธุรกิจ และตลาดขอนแก่นที่ยังมีโอกาสอีกมากมาย แต่นักพัฒนาซอฟต์แวร์กลับมองแต่จะมุ่งมาที่เมืองหลวง ฟังแล้วก็รู้สึกเหมือนคนกรุงเทพที่อยากไปซิลิคอนวัลเล่ย์ ทำไมไม่ทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่ตนเองอยู่ แต่กลับมองว่าที่อื่นดีกว่าแล้วไปแก่งแย่งกันในท้องทะเลแดงเพื่ออะไรเนี่ย มันคือระบบนิเวศน์ที่ดีกว่าจริงหรือ การแข่งขันที่บ้าเลือดมันทำให้คนเราเก่งขึ้นแกร่งขึ้นได้สักแค่ไหนเชียว แล้วพอมารู้ตัวอีกทีก็เสียเวลาเสียสุขภาพไปกับอะไรบางอย่างที่ไม่ได้ต้องการหรือเปล่า เป็นคำถามที่น่าคิดสำหรับ Startup ทั้งหลาย เรากำลังทำอะไรเพื่ออะไรด้วยวิธีการอะไร

kku

กลับมาที่การบรรยาย ในงานวันแรกผมมาทันได้ฟังเจ้าบ้านอาจารย์เพ็ญศรีแห่ง มข. ได้เห็นหน้าคร่าตาผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งสารภาพว่าด้วยความที่นอนน้อยมาหลายคืน เลยฟังไปก็หลับไป เพราะหลังจากกรีดสไลด์แล้วจับใจความเนื้อหาที่สอนไม่ได้มีอะไรมาก ฟังเพลินๆ เหมือนอาจารย์เล่านิทานให้ฟัง ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าไม่ค่อยมีเนื้ออะไรมากนัก ส่วนใหญ่เป็นบรรยายเพื่อเล่าเรื่องขยายความอธิบายหลักการเบื้องต้นแต่ละอย่างให้ฟัง แต่นี่แหละครับคือบทเรียนที่สองที่ได้จากงานนี้ เพราะมองข้ามประเมินผู้เข้าร่วมสัมมนาผิดไปอย่างแรง ผู้ประกอบการ OTOP ที่มาเข้าร่วมอบรมกลุ่มนี้คือ ชาวบ้านจริงๆ ที่ไม่ได้เรียนสูงในระบบการศึกษาที่ผมคุ้นเคย แต่พวกเขาคือผู้ที่มีความชำนาญเชียวชาญในการผลิตสินค้าของตน และเค้าก็ไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้สนใจศัพท์เทคนิคหรูหราที่คนกรุงชอบเอามาพูดกันให้ฟังเท่ห์ๆ อาจารย์เจ้าบ้านรู้ซึ้งถึงประเด็นนี้เป็นอย่างดีจึงได้ถ่ายทอดความรู้มาในแบบที่คนฟังเข้าใจ และติดตามได้ไม่ยาก แต่ผมกลับไม่ได้รู้สึกอะไร ณ จุดนั้น จนกระทั่งในวันที่สองที่ต้องมาสอนเอง ตอนแรกก็ยังรู้สึกสอนเท่ห์ๆ ได้ แค่แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย ผู้ฟังก็คงเข้าใจ แต่… มันไม่ใช่เช่นนั้น กิจกรรมที่วางแผนไว้ กับการตอบรับจากคนฟังที่มองตาแล้วไม่มั่นใจว่าตามกันทัน ทำให้การสอนวันแรกเสีย self ไปเหมือนกัน ว่าที่พูดๆ ไปเนี่ย คนฟังเค้ารู้เรื่องกันถึงครึ่งหรือเปล่า คืนนั้นก็แรกมาวางแผนใหม่ปรับสไลด์ตัดเนื้อหาที่เตรียมๆ มาออกไปกว่าครึ่ง เพื่อที่จะให้เวลากับเรื่องที่คิดว่าสำคัญได้เยอะหน่อย

kku-lab

และในวันถัดมาผมก็เริ่มด้วยความเท่ห์และสนุกกับวิดีโอคลิปมากมายที่เตรียมมาพูดในหัวข้อเกี่ยวกับ Social media ซึ่งก็ต้องอึ้งไปอีกรอบกับตัวอย่างที่คนกรุงคุ้นเคย แต่คนขอนแก่นไม่รู้จัก จะมีก็แค่บางอันที่มีผู้อบรมบางท่านพอรู้บ้าง ชักท่าไม่ค่อยดีงั้นตัดเข้า workshop เลยดีกว่า แต่พลาดซ้ำสองกับการคุมเวลาอีกแล้ว จากกิจกรรมที่ถ้าตัวเองทำใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที เราก็เผื่อเลยว่าให้เต็มที่ครึ่งชั่วโมง แต่แม่เจ้าไม่ใช่ซะแล้ว นี่มันเกือบชั่วโมงแล้วนะ เอาเหออยากให้ทุกคนทำได้ไปพร้อมๆ กัน (ซึ่งก็มีบางคนที่ทำไม่ได้ ตามไม่ทันจริง แต่เวลาไม่อำนวยแล้ว ก็เลยต้องให้ดูกับเพื่อนโต๊ะข้างๆ ไป ก็ต้องขอโทษด้วยนะครับ) อย่างไรก็ตามมีภาพหนึ่งที่ผมจำได้ดีเลยคือสองตายายที่มาด้วยกันนั่งกันคนละเครื่อง ผมเข้าไปช่วยทำให้เค้าสามารถ add friend ใน facebook กันได้ ตายายได้ post ข้อความถึงกันบน timeline กด refresh แล้วเห็นข้อความของอีกฝั่ง ตายายยิ้มดีใจได้ใช้ facebook เป็นแล้ว ขอบคุณผมใหญ่เลย

จุดนี้เห็นได้ชัดเลยว่า คำว่าง่ายของแต่ละคนไม่เท่ากัน ง่ายของเราไม่ใช่ง่ายของเค้า เรื่องเล็กๆ บางเรื่องมันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ในทางกลับกัน ถ้าเค้าสอนเราทำสินค้าง่ายๆ ของเค้า เราก็อาจจะงี่เง่าทำอะไรไม่ได้เลยก็เป็นได้ ตอนนี้มันเหมือนเครื่องส่งกับเครื่องรับจูนสัญญาณไม่ตรงกัน ยิ่งถ้าเร่งให้เสร็จเร็ว ให้เนื้อหาเยอะๆ ยิ่งเละเข้าไปใหญ่แน่ สุดท้ายจึงยอมเสียเวลาเพื่อเป้าหมายสูงสุดให้คนส่วนใหญ่รู้ เข้าใจ และทำได้นั่นเอง ก็เลยสอนได้แค่ facebook page กับ google place นิดๆ หน่อยๆ

ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ สุดท้ายต้องขอบคุณอาจารย์ติ๊กที่ปรึกษาโครงการที่ให้คำแนะนำดีๆ ตลอด 3 วันที่ผ่านมา นอกจากเรื่องการบรรยายก็ยังมีการคุยกันเกี่ยวกับ business line ของ BOXBOX.me ที่น่าจะไปไกลได้กว่านี้ กับเรื่องทิศทางที่กำลังมุ่งไป ซึ่งถ้าพลาดอาจเสียศูนย์เสีย core value ที่อุตส่าห์สร้างมาทีเดียว สรุปว่าง่วงแล้ว ไปนอนดีกว่า อ้อ… ที่ต้องขอบคุณที่ขาดไม่ได้เลยคือ ผู้ร่วมสัมมนาทุกท่านครับที่ทำให้ผมรู้ว่า ในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพผู้พูดและผู้ฟังต้องพูดภาษาเดียวกัน ด้วยความถี่ที่ตรงกัน มันคือความถี่ที่ส่งมาจากใจถึงใจ ขอบคุณครับ

 

Leave a Reply