ปัญหาที่คุณคู่ควร

มีหลายคนชอบมาถามผมว่าทำ StartUp เริ่มอย่างไรดี คำถามนี้มันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด ที่เหมาะกับทุกคนหรอกนะครับ แต่ที่แน่ๆ สำหรับทุกคนที่คิดจะเริ่มควรจะหาปัญหาที่ควรค่ากับการแก้ไข หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Problem worth to be solved ก่อนครับ เพราะการสร้างธุรกิจก็เหมือนการวิ่งมาราธอน มันไม่ได้สำเร็จกันชั่วข้ามคืน มันไม่ใช่แค่มีไอเดียดีๆ แล้วก็ pitch แข่งกันในเวทีต่างๆ นั่นไม่ใช่ธุรกิจครับ การทำ StartUp ให้เป็นธุรกิจต้องมี passion ซึ่งไม่ใช่แค่ความหลงไหลอยากจะทำเฉยๆ แต่มันคือแรงขับเคลื่อนให้เรายังทำมันต่อไป แม้ไม่มีใครเห็นด้วย ไม่มีเงินทุน ไม่มีเหลืออะไรอีกต่อไปในชีวิต เหมือนโดนคำถามที่ว่าถ้าพรุ่งนี้เป็นวันสุดท้ายของเรา เราจะทำอะไร หากคำตอบคือสิ่งนี้ นี่สิครับถึงจะเรียกว่า passion เสียดายหลายคนไม่ได้เริ่มด้วยความรู้สึกส่วนลึกที่อยากจะแก้ปัญหา พวกเค้าเพียงแค่อยากทำ StartUp จุดจบก็เลยไม่สวยเท่าไร

อันที่จริงการเริ่มธุรกิจสามารถทำได้ตลอดเวลา มันไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจไม่ดีแล้วเราจะทำให้ไอเดียที่ดีกลายเป็นธุรกิจไม่ได้ ตรงกันข้ามหากเราเริ่มต้นได้ดีมีปัญหาที่ควรค่าแก่การเข้าไปแก้ไข มันจะสามารถเลี้ยงชีวิตเราได้และกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนร้องหา แน่นอนโลกใบนี้เต็มไปด้วยปัญหา และก็มีคนพยายามแก้ปัญหาด้วย solution ต่างๆ แต่ในฐานผู้ประกอบการเราต้องแยกให้ออกระหว่าง solution ที่เป็น must have กับ nice to have มันคือระดับความต้องการของลูกค้าว่ามากน้อยแค่ไหน ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ก็คือเรากำลัง ผลิตยา (drug) เพื่อช่วยชีวิตเค้า หรือ มันเป็นแค่ วิตามิน (vitamin) ที่กินก็ดีไม่กินก็ได้ ยิ่งความซีเรียสมากเท่าไรก็แปลว่าลูกค้าต้องการเรามากขึ้นเท่านั้น และจะตามมาด้วยการกลายเป็นธุรกิจที่สร้างทั้งคุณค่า และมูลค่าให้กับเราได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยให้เริ่มได้ง่ายขึ้น พวกเราลองพิจารณา 4 ข้อนี้ดูนะครับ ว่าเราจะค้นเจอปัญหาที่ควรค่าแก้การแก้ไขซึ่งเหมาะสมกับเราได้ไหม

1. ความท้าทายของตนเอง
หากเรามีความฝันอยากจะได้อะไรบางอย่าง และพบว่าในโลกนี้ยังไม่มีใครทำสิ่งที่เราต้องการ ถ้าเราไม่ทำสิ่งนี้ หลายๆ คนบนโลกใบนี้ก็คงต้องใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ต่อไป เราต้องการเปลี่ยนโลก เปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของผู้คน ดังนั้นยิ่งเราฝันใหญ่เท่าไร มันก็ยิ่งควรค่าแก้การเข้าไปจัดการมากขึ้นเท่านั้น

ยกตัวอย่าง Elon Musk เจ้าของ Tesla, Space X, และ Hyperloop สิ่งต่างๆ ที่เค้าทำในช่วงเวลาต่างๆ มันช่างยิ่งใหญ่และท้าทายจนหลายๆ คน คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “เป้าหมาย… สิ่งที่ชีวิตต้องการ

หรืออย่างในไทยที่ผมเคยได้ฟังก็เช่น พี่อู่เฉลิมพล CT-Asia Robotics ผู้สร้าง ดินสอ หุ่นยนต์สัญชาติไทย จากความสงสัยว่าเด็กไทยเก่งๆ ที่แข่งหุ่นยนต์ชนะระดับโลก มันหายไปไหนกันหมด ทำไมประเทศไทยไม่เคยมีหุ่นยนต์ของตัวเอง เค้ากล้าที่จะเสนอตัวเป็นคนรวบรวมทรัพยากรมนุษย์ จนกลายเป็นหุ่นต้นแบบ และปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจส่งออกขายหุ่นยนต์ให้กับทั้งญี่ปุ่นและประเทศในยุโรป ไปฟังเต็มๆ กันได้จาก TEDxChulalongkornU “อุตสาหกรรมไทยในอนาคต

chalermpol-dinsor

2. เกาที่ตัวเองคัน
StartUp หลายคนเริ่มแบบนี้ครับคือ หาว่าในชีวิตนี้อะไรเป็นสิ่งที่น่ารำคาญ หรือเป็นปัญหาที่คาใจตัวเองมากที่สุด ถ้ามันเป็นเรื่องที่หลายๆ คนคิดและประสบอยู่เหมือนกัน แปลว่า “น่าจะมีตลาด” ถัดมาก็ต้องหาให้ได้ว่าคนที่ประสบปัญหานั้นยอมจ่ายเงินเพื่อแก้ปัญหาไหม ถ้าใช่ก็แปลว่ามาถูกทางแล้วครับ อาจจะเป็นธุรกิจได้ถ้ามีคนจ่ายมากพอ เพราะบางปัญหาถึงมีคนคิดเหมือนกันมาก แต่ถ้าเค้าเหล่านั้นคิดว่าไม่เป็นไร ฉันมีวิธีการอื่นแก้ปัญหาแบบอื่นได้โดยไม่ต้องเสียเงิน นั่นแปลว่าปัญหานั้นยังสำคัญไม่พอครับ

ยกตัวอย่าง Facebook กับความต้องการสมุดรวมรุ่นของ Mark Zuckerberg ที่ยิ่งทำยิ่งมันส์ ขยายตัวจากมหาลัยตนเองไปยังมหาลัยอื่นๆ ออกไปสู่คนทำธรรมดา และขยายจากอเมริกาสู่การใช้งานทั่วโลก จนปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่าพันล้านคนไปแล้ว ถ้าใครเคยดูในหนัง Social Network อาจจำได้ เขาไม่ยอมเอาโฆษณาแบบ banner เชยๆ เข้าไปใส่ในเว็บช่วงแรกๆ เพราะมันไม่ cool ผู้ใช้อาจไม่ชอบ เขารอจนจำนวนคนใช้มากพอถึง monetize มัน

หรืออย่าง Siamoutlet ที่ 2 ผู้ก่อตั้ง คุณน้ำฝนและน้องน็อต ที่ขายของออนไลน์แล้วรู้สึกถึงปัญหาเรื่องการแพ็คของส่งของที่แสนยุ่งยากลำบากสำหรับคนค้าขาย แทนที่จะเอาเวลาไปทำการตลาดหาลูกค้าใหม่หรือพูดคุยกับลูกค้าเดิมต้องมาทำงานหลังบ้านพวกนี้ จึงเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ Co-warehousing เอาของมากองที่พวกเขา ขายได้ส่งสัญญาณมา ที่เหลือพวกเขาช่วยจัดการให้เอง

3. ฟังให้เยอะ
การทำ StartUp คือการแก้ปัญหาบางอย่าง แต่ตอนเราเริ่มต้นอย่าพึ่งยะโสว่าเราเป็นผู้รู้ ถ้ามีโอกาสได้เจอคนที่มีปัญหา อย่าพึ่งไป pitch ด้วย solution ที่เราคิดมาว่าดี ให้ฟังว่าอะไรเกิดขึ้นกับเค้าบ้าง ให้เรียนรู้ขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง บางครั้งเราอาจจะประหลาดใจว่าเค้าอาจจะต้องการอะไรบางอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเพื่อทำสิ่งนั้นก็ได้ คำถามถัดไปคือแล้วมันเป็นไปได้ไหม ถ้ามีใครบางคนมาทำสิ่งนั้นแทนให้ ทำให้เค้าประหยัดเวลา หรือประหยัดเงินได้มากขึ้น เค้าจะยอมจ่ายเงินไหม

ยกตัวอย่าง Airbnb ที่ปรับตัวตามความต้องการลูกค้าตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นที่ Brian Chesky พบว่า ห้องเช่าขายไม่ค่อยดี เนื่องจากรูปไม่สวย ก็ไปถ่ายรูปให้สวยให้ดูดี ต่อมาก็ต้องพิสูจน์ว่าคนแปลกหน้าไม่อันตรายนะ ทุกคนสามารถสะดวกใจเข้าพักอาศัยร่วมกันได้แม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แก้ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาไปทีละอย่างจนกลายเป็น solution ระดับโลกไปแล้ว

หรือ คุณทอม Sellsuki ที่เคยเล่าให้ฟังว่ากว่าจะถึงวันนี้ เค้าปรับผลิตภัณฑ์ (pivot) มาพอสมควร จากเริ่มต้นที่คิดว่าทำ solution เพื่อให้ร้านค้าขายดีขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีร้านค้ามาใช้เยอะขึ้น ได้คุยกับร้านค้ามากขึ้น ก็พบว่าไม่ใช่แล้ว สิ่งที่ Sellsuki ทำได้คือช่วยประหยัดเวลาในการบริหารจัดการต่างๆ ให้คนขายของออนไลน์แชทเป็นระบบ ไม่ตกหล่นเรื่องการสรุปออเดอร์และการชำระเงิน เค้าฟังเสียงลูกค้าตลอดมาว่าชอบไม่ชอบอะไร แล้วให้ priority กับสิ่งที่ลูกค้าจำเป็นต้องใช้ในการขายของออนไลน์ก่อน

4. เปลี่ยนมุมมองของปัญหา
ในโลกนี้มีอะไรหลายอย่างที่ผู้คนทำตามๆ กันมานาน จนไม่คิดว่าเป็นปัญหา แต่ถ้าเราสังเกตมันดีๆ มันอาจจะมีวิธีการอะไรบางอย่างที่ทำให้สิ่งนั้นดีขึ้น ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และแน่นอนถ้ามีโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม มันอาจจะกลายเป็นธุรกิจใหม่ได้

ยกตัวอย่าง Apple สมัยท่านศาสดา Steve Jobs จากปัญหาการเก็บเพลงในอุปกรณ์พกพา กลายเป็น iPod และ iTunes สามารถพลิกโฉมอุตสาหกรรมเพลง และต่อมา iPhone พร้อม App Store ของเค้าก็ได้เปลี่ยนแปลงคำว่า smartphone ไปตลอดกาล

หรือ อย่างมุมมองของ คุณทร Bentoweb ที่บอกว่า solution ต่างๆ ในปัจจุบันมันยาก ไม่เหมาะกับพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการทำ e-commerce เค้าจึงพยายามทำให้มันง่ายขึ้นทีละนิด ทำให้สร้างร้านได้ในไม่กี่นาที รับเงินได้จากทุกช่องทาง คำนวณค่าจัดส่งอัตโนมัติ เปิดรับออเดอร์ผ่าน facebook, line และ instagram ได้ แถมล่าสุดมี chatbot ให้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ 4 ข้อคือจุดเริ่มต้นที่น่าจะทำให้เราสามารถขยับขยายจาก comfort zone ของตัวเอง ไปสู่การแก้ปัญหา ทำ solution ที่เราคิดว่าเจ๋ง และแน่นอนต้องไป validate กับลูกค้าว่าต้องการสิ่งที่เราคิดจริงไหม โดยการออกไปคุย หรือ out of the builiding จริงๆ นะครับ ไม่ว่าเราจะทำ solution เพื่อแก้ปัญหาอะไรสำหรับ SMEs สำหรับบริษัทใหญ่ หรือสำหรับผู้บริโภคทั่วไป หลักการก็ไม่ต่างกันหรอกครับ อย่ามโนเองในที่ออฟฟิศ ยิ่งเราคุยมากขึ้นเท่าไร จะได้ยินทั้งเสียงคนที่ชอบ และไม่ชอบ ซึ่งถ้ายิ่งเราพบว่าปัญหานี้มีความถี่ (Frequency) เช่น ปัญหาที่เราแก้นี้เกิดขึ้นบ่อย, ความหนาแน่น (Density) เช่น มีผู้คนจำนวนมากที่ประสบปัญหาเดียวกัน, และความเจ็บปวด (Pain) อยู่เยอะๆ คือ ไม่ใช่แค่รำคาญ แต่มันคือความรู้สึกสาหัสอยู่ในใจ กำลังรอฮีโร่มาช่วย บอกได้เลยคำเดียวครับว่า มันอาจเป็นปัญหาที่พาเราไปสู่การเป็น Unicorn (บริษัทพันล้านเหรียญ) ก็เป็นได้

Leave a Reply