ถนนที่โรยด้วยหนามกุหลาบ

เช้านี้ตื่นมารูดมือถือใน facebook พบบทความกระแทกต่อมคิดจาก 2 หมู คือ พี่หมู วรวุฒิ COL และ คุณหมู ณัฐวุฒิ Ookbee ซึ่งเป็นโพสต์เกี่ยวกับ Startup ที่ในยุคนี้ พ.ศ. นี้กลายเป็นคำฮิต ในแบบที่ว่าแต่ละคนก็มีนิยามของตัวเอง และเข้าใจในแบบที่ตัวเองเข้าใจ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมเคยเขียนสรุปไว้ที่ What is Startup? ย้อนกลับมาดู ผมว่ามันก็ยังใช่ในมุมของผมนะ เพิ่มเติมคือ ผ่านมา 2 ปี ผมเห็นตัวอย่างที่แตกต่างกันมากมาย เห็นทั้งธุรกิจที่ตายไปแล้ว เห็นทั้งที่อาการล่อแล่ และฮีโร่จากสนามรบแห่งนี้

การทำธุรกิจที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นหลัก มีความเสี่ยงสูง เสี่ยงตั้งแต่เอ่ยปากว่าจะทำ เพราะคนทั่วไปไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร แม้คนที่คิดว่าเค้าเข้าใจก็ยังเข้าใจในแบบที่เค้าอยากเข้าใจ ภาระหน้าที่สำคัญในการสื่อสารตกอยู่กับพวกเราเหล่า Startup และเมื่อทางเดินของคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน Every man fight in his own war ทุกคนจึงมีสนามรบของตัวเอง เราทุกคนเชื่อในบางสิ่ง และคนบางคนก็ลงมือทำตามความเชื่อของตน มันไม่ได้มีผิดหรือถูกซะทีเดียวที่จะเชื่อไม่เหมือนกัน สุดท้ายคือให้ผลลัพธ์เป็นตัวพิสูจน์ความเชื่อนั้นๆ เวลาจะเป็นคำตอบเอง

natavudh-quote

จากโพสต์ของคุณหมูหนึ่งใน Startup Hero ที่ประสบความสำเร็จในการ raise fund 7 ล้านเหรียญ (หรือประมาณ 200 ล้านบาท) พา Ookbee เข้าสู่ Series B ไปแล้วเมื่อปี 2014 และปัจจุบันก็ได้เล่นอีกบทบาทให้ฐานะนักลงทุนภายใต้หมวกของ 500Tuktuks กองทุนที่ตั้งใจลงทุนใน Startup ไทยซึ่งมีมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท เค้าก็มีความท้าทายของเค้าเอง เชื่อในสิ่งที่เค้าเห็น และวางเงินลงทุน(พนัน)ในธุรกิจที่เค้าเชื่อเหล่านั้น

Startup ที่น่าเชื่อต้องถูกสร้างมาจาก Dream Team ซึ่งประกอบไปด้วย Hipster, Hacker, และ Hustler โดย Hipster คือ คนที่มีหัวศิลป์ ส่วน Hacker คือ คนที่มีความสามารถด้านโปรแกรม สุดท้าย Hustler คือ คนที่เข้าใจธุรกิจ เมื่อคนเหล่านี้รวมตัวกันภายใน Passion เดียวกัน จะก่อให้เกิดอุปทานหมู่ว่าเราจะสำเร็จไปด้วยกัน แต่พอเอาเข้าจริงพื้นฐานคนเราไม่เท่ากัน ความสำเร็จของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน หนำซ้ำการอดทนต่อสภาวะกดดันหรือจุดต่ำสุดของธุรกิจก็มีไม่เท่ากันด้วย ทีมเลยอาจจะอยู่ไม่ถึงฝั่งฝัน ต้องแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง องค์ประกอบแห่งความสำเร็จมีมากกว่าแค่ “ความเชื่อ”

หลายคนทำ Startup โดยเริ่มจากเชื่อว่า เป็นอาชีพที่สบาย ดูเท่ ดูรวย แต่ฮ่วยสิ มันไม่ง่ายเหมือนอย่างที่ใครๆ เห็น เพราะสิ่งที่คุณเห็นคือภาพของคนที่เป็น Hero คนที่สำเร็จระดับนึงแล้ว คุณไม่ได้เห็นตอนเค้าลำบาก และคุณก็ไม่ได้เห็นคนที่ตายไปในสนามรบแห่งนี้ ไอเดียที่ดี ไม่ใช่จะสำเร็จเสมอไป ไอเดียที่ดี ไม่ใช่ว่าจะ raise fund ได้ ไอเดียที่ดี ไม่ใช่จะทำให้ทุกคนหันมาสนใจ แม้ทุกอย่างจะเริ่มจากไอเดีย แต่สำหรับวงการ Startup ไอเดียคือของราคาถูก ที่ใครๆ ก็คิดได้ และรับรองได้ว่าไม่ใช่เราคนแรกที่คิดเรื่องที่เราสนใจนี้ ถ้าไปลอง search ดู อย่างใน AngelList ก็จะพบว่าในโลกนี้เคยมีคนคิดอย่างเรามาก่อน แต่จะมีสักกี่คนที่ทำสำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่าง มีคนใช้ และหารายได้ได้

worawoot-quote

พี่หมูเริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัวจากการขายเครื่องเขียน สร้าง OfficeMate ขึ้นมาด้วยสองมือของตัวเอง เอาเทคโนโลยีเข้าไปใช้ หาผู้บริหารมืออาชีพมาดูแล และสามารถนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ จนกระทั่งปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในเครือ Central Group ก็มีมุมมองที่น่าสนใจ ผมสรุปได้สั้นๆ ว่า “ท้อเป็นถ่าน ผ่านเป็นเพชร” เพราะบางทีที่เราไม่รู้ว่าเรากำลังสู้กับอะไร คนรอบข้างก็ไม่เข้าใจ มันก็อาจทำให้คนธรรมดาๆ ต้องมีถอดใจกันบ้าง ถ้าเราหยุด เกมนี้ก็จบ แต่เมื่อใดที่เราล้มและตั้งหลักขึ้นมาใหม่ได้ เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ความสำเร็จจะขยับเข้ามาใกล้เราขึ้นอีกทีละนิด

อย่างไรก็ตามธุรกิจคือธุรกิจครับ ผลลัพธ์สุดท้ายคือกำไร ทำแล้วต้องได้เงิน ไม่มีนักลงทุนคนไหนลงทุนกับ Startup ที่ทำแล้วขาดทุนไปตลอดแบบไม่เห็นอะไรเลย แม้เราจะบอกว่า เราเอาเงินมา subsidize ชดเชยให้ user ใช้ฟรีในช่วงแรก แต่คำถามคือแล้วช่วงต่อไป user ในระบบจะเห็นคุณค่าไหม และจะยอมจ่ายเงินให้เราไหม ฟรีไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง ฟรีแค่เป็นใบเบิกทางให้มีเหยื่อหลงเข้ามา ทำให้ conversion rate ในการเปลี่ยนจากคนรู้จักเป็นคนทดลองใช้มากขึ้น ถ้าสิ่งที่เราทำมี value เพียงพอหรือมากกว่าความรู้สึกเสียดายเงินในกระเป๋าของลูกค้า เราอาจมี revenue เข้าสู่บริษัท แต่นั้นก็แค่ขั้นแรก มันยังไม่ใช่กำไร ยังต้องมีเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เราต้องลงไป ค่าจ้างคน ค่า hardware software ค่าการทำการตลาด เบ็ดเสร็จสุทธิแล้วธุรกิจต้องอยู่รอดได้ด้วยตนเองก่อน เคาะ excel แล้วมันถึงน่าสนใจสำหรับนักลงทุนครับ

แต่เชื่อผมสิครับ ทุกๆ คนไม่ได้เกิดมาเป็นผู้ประกอบการ แม้ทุกคนจะอยากเป็นนายของตัวเอง แต่ระบบการศึกษาที่เราผ่านมา ประสบการณ์การทำงานที่เราแต่ละคนได้รับมา มันทำให้คนบางคนเหมาะที่จะเป็น ผู้เชี่ยวชาญมากกว่า และบางคนก็เหมาะจะเป็นผู้บริหารมืออาชีพมากกว่า การจะมาเป็นผู้ประกอบการเป็น Startup ที่ลงมือทำทุกอย่างตั้งแต่สากเบือยันเรือรบ มันอาจทำให้คุณเสียเวลาอันมีค่า คุณอาจเลือกสนามรบที่ผิด ไม่เหมาะที่จะมาทำอะไรแบบนี้หรอก แต่ผมก็เชื่อว่าเมื่อคุณได้อ่านบทความนี้แล้ว คุณบางคนก็คงไม่เชื่อผมหรอก หลายคนคง “คัน” คงอยากมือเปื้อนฝุ่นเอง ก็แล้วแต่ละกันครับ นานาจิตตัง May the force be with you!

 

Leave a Reply