อาชีพที่สอง (ที่สาม ที่สี่)

หากใครเกิดทันสมัยได้เล่นเกมแฟมิคอม
ผมเชื่อว่าคงต้องได้ยินชื่อเสียงของเกม Final Fantasy III แน่ๆ
เกมนี้ออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 1990
แล้วเอามากลับมา remake อีกหลายต่อหลายครั้ง
ล่าสุดเราสามารถเล่นได้บนสมาร์ทโฟนทั้ง Android, iOS และ Windows Phone

ลักษณะการเล่นคือจะมีตัวละครสมมติ 4 ตัวเดินบนแผนที่และเมื่อเจอศัตรูก็ต่อสู้กันโดยใช้คำสั่งต่างๆ
ซึ่งจุดเด่นของเกมอยู่ที่การมี “อาชีพ” ถึง 23 อาชีพ (ถึงเรียกว่า Role Playing Game)
ตัวละครแต่ละตัวสามารถเติบโตในสายอาชีพใดๆ
สามารถเปลี่ยนอาชีพ ผสมความสามารถต่างๆ ซื้อเกราะ ซื้ออาวุธ เพื่อให้เราเก่งขึ้นเรื่อยๆ สู้ชนะศัตรูที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

FF3 job

เห็นอะไรไหมครับ ในชีวิตจริงก็คงไม่ต่างกันเท่าไร เมื่อนักศึกษาจบใหม่คนหนึ่ง จะต้องเลือกอาชีพของตัวเอง ว่าจะทำงานอะไร
บางคนพอทำงานแล้วก็เติบโตไปเรื่อยๆ เพิ่มความสามารถแนวลึกไปเรื่อยๆ
ส่วนบางคนก็อาจจะเปลี่ยนอาชีพไปเรื่อยๆ เพื่อหาสิ่งที่ตนเองถนัด ตนเองชอบ
ผมเองมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งที่จะเจอกันประมาณปีสองปีหน และทุกครั้งผมก็จะถามว่าทำอยู่ที่ไหน เค้าก็จะตอบไม่เคยซ้ำกันเลยสักหน
ตรงกันข้ามกับเพื่อนอีกคนที่ตั้งแต่จบมาทำงานอยู่ที่เดิมสิบกว่าปีแล้วก็ยังไม่เปลี่ยนงาน

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ แต่ละคนมีเหตุผล และความเหมาะสมของตนเอง ที่จะตัดสินใจในอาชีพของตนเอง
ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว สิ่งที่ชีวิตจริงแตกต่างจากเกมคือ “เรากด reset เริ่มใหม่ไม่ได้”
เมื่อมองย้อนกลับไป มันคือประสบการณ์ที่อาจจะดีหรือร้าย ที่แน่ๆ คือเราสามารถแชร์เป็นวิทยาทานให้กับน้องๆ ต่อไปได้

แต่เกมก็ยังเป็นแค่เกมครับ เพราะในชีวิตจริงแม้จะเริ่มใหม่ไม่ได้ แต่ในเวลาหนึ่งๆ เราสามารถทำงานหลายอาชีพไปพร้อมๆ กันได้
ตัวอย่างที่ผมจำได้แม่นเลยคือ ดร.นนท์ เฉลิมรัฐ แห่ง Net Design ได้เขียนไว้ในหนังสือ รวยฝ่าวิกฤต ว่า ตอนจบใหม่ๆ เค้าได้ทำงานพร้อมกันถึง 3 ที่เลยทีเดียว
การได้ทำงานหลายๆ อย่าง ทำให้คุณนนท์ รู้ตัวเองได้ไวกว่าคนอื่น

รวยฝ่าวิกฤต

ปัจจุบันนี้ยิ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ในช่วงเวลานึง คนเราจะทำงานหลายอย่าง มีหลายอาชีพ รายรับหลายๆ ทาง
สำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังทำงานประจำอยู่ ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องลาออกมาเพื่อทำงานที่อยากทำ งานที่ฝัน ในขณะที่งานนั้นๆ ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องการดำรงชีพในสังคมได้
หากแบ่งเวลาได้ เราก็สามารถทำอะไรหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างใน 24 ชั่วโมงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่นกลางวันอาจเป็นพนักงานออฟฟิศ เย็นอาจเป็น freelance เสาร์อาทิตย์อาจเป็นวิทยากรสอนหนังสือ
แต่ก็ไม่ได้บอกว่าให้เอาเวลางานประจำมาทำงานพิเศษนะครับ ถ้าอย่างนั้นเค้าเรียกว่าไม่ซื่อสัตย์ทั้งต่อตัวเองและต่อเพื่อนร่วมงาน
ในทางกลับกันผมก็เคยได้ยินบ่อยๆ ว่านายจ้างที่เข้าใจจุดนี้ก็จ้างงานพิเศษให้ลูกน้องตัวเอง เพื่อจะได้ไม่ต้องไปหาเงินที่อื่นทำ ก็ Win-Win ทั้งคู่

อย่างไรก็ตาม หากอยากทำงานหลายอาชีพจริงๆ ผมว่าแนวคิดจากหนังสือซีรีสย์ Rich Dad โดย R. Kiyosaki ก็ไม่เลวเหมือนกัน
เขามีหลักการหนึ่งที่เรียกว่า “เงินสี่ด้าน” โดยแบ่งการได้มาของรายรับออกเป็น 4 แบบ ได้แก่

Active income
E = Employee = ลูกจ้างในระบบธุรกิจ
S = Self Employed = คนทำงานอิสระ ทำงานให้กับระบบธุรกิจของตัวเอง
Passive income
B = Business Owner = เจ้าของกิจการ ที่สร้างระบบธุรกิจขึ้นมา แล้วก็จ้างให้คนอื่นมาทำงานในระบบ
I = Investor = นักลงทุน ใช้ทรัพย์สินที่มีทำงานให้กับตัวเอง

ดูๆ ไป การบรรยายออกมาลักษณะนี้ ก็เหมือนกับว่า career path หรือ สายอาชีพขั้นสุดท้าย คือ การเป็นนักลงทุน ถ้ามีเงินแล้วให้เงินทำงานให้เรา ฟังแล้วสุดยอดอาชีพไปเลยใช่ไหมครับ
ดังนั้นในสำหรับพนักงานประจำขณะที่กำลังอยู่ในสถานะ E เพื่อไม่ให้เหนื่อยจนเกินไป เราอาจจะลองขยับไปสร้าง Passive income เพื่อจะได้ “เหนื่อยชั่วคราว สบายชั่วโคตร” นะครับ
ซึ่งงานที่ว่าคืออะไรนั้นก็แล้วแต่ความถนัดความชอบของแต่ละคนเลย
บางคนใช้เวลานอกเปิดร้านกาแฟเล็กๆ เปิดบริษัทรับงานทำเว็บไซต์
บางคนลงทุนในหุ้น บางคนอสังหาริมทรัพย์
หรือถ้าใครอยากจะลงทุนใน Startup ก็บอกได้นะครับ โอกาส 10 รอด 1 ซึ่งถ้ารอดก็ต้องรุ่งสุดๆ ไปเลย

สุดท้ายนี้ ขอทิ้งไว้ด้วยคติประจำใจของผมที่ว่า “ทำอะไร สบายใจทำ” ถ้ามันไม่หนักกระบาลใคร ทำไปเถอะครับชีวิตเกิดมาเพื่อเรียนรู้ เพื่อสู้กับอุปสรรค เพื่อสิ่งที่ใฝ่ฝัน

 

Leave a Reply