เป็นเด็กเข้าค่าย Tycoon Chic #2

จบไปแล้วกับการเข้าค่าย 4 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 27-30 มีนา 57 ในโครงการที่มีชื่อเรียกว่า Tycoon Chic ณ บ้านอ้อมกอดขุนเขา สวนผึ้ง ราชบุรี

ขอโทษนะครับ ณ ที่แห่งนี้ dtac ไม่มีสัญญาณ โทรศัพท์ไม่ได้ แต่ยังโชคดีมี WiFi ให้ฟรี เกือบโดนตัดขาดการติดต่อจากโลกภายนอกซะแล้วสิ

สำหรับงานนี้ก่อนมาก็ยังงงๆ ว่าโฮ… ต้องทิ้งงานตั้งหลายวัน แล้วจะได้อะไรไหมเนี่ย กางหัวข้อบรรยายมาดู หลักๆ มี 4 อย่างคือ
หัวข้อ Funding ความรู้ที่ได้เพิ่มคือ ได้รู้จัก บริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินร่วมลงทุน ข้าวกล้า จำกัด ได้รู้ว่ามีความคาดหวัง return 16.5% ต่อปี และก็ได้กลับไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับการร่วมลงทุนใน Kapook.com
หัวข้อ Marketing ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้าย วิทยากรมาพูดเกี่ยวกับ Digital marketing ซึ่งเป็นทักษะที่ผมติดตามอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เลยจำได้แค่ประโยคเดียวที่ว่า “ต้องตระหนักจะได้ไม่ต้องตระหนก”
หัวข้อ IP เรื่องประเภททรัพย์สินทางปัญญาอันนี้เรียนมาเป็นเทอม ทฤษฎีแน่นปึกอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจคือ Q&A ต่างๆ ที่เพื่อนๆ ในห้องระดมถามวิทยากร ถ้าอย่างโน่น แล้วอย่างนี้ได้ไหม สนุกดีครับ
หัวข้อ Tech trend ก็มาบรรยายเกี่ยวกับ SaaS อืมมม ก็ทำอยู่แล้วนิ จะมีก็เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่ implement ใน Microsoft ก็น่าสนใจดี

tycoonchic

สรุปคือ เอาเข้าจริงโครงการนี้ได้ความรู้ในวงเล่ามากกว่าในห้องเรียนซะอีก เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ที่วิทยากรบรรยายคือเรื่องพอจะรู้อยู่แล้ว ก็ดีนะได้มาทบทวน กลับเป็นนักเรียนอีกครั้ง
อย่างที่บอกครับ ทีเด็ดสุดของหลักสูตรนี้ได้จากวงเล่านอกเวลา คือการได้มาเจอกันของ พี่ๆ น้องๆ ผู้บริหารบริษัทซอฟต์แวร์หลายๆ ที่ ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่
ได้มาใช้ชีวิตร่วมกัน กินนอนด้วยกัน ได้แชร์ไอเดีย และรับฟังประสบการณ์ต่างๆ นี่ถ้าไม่ได้มาอยู่ด้วยกันแบบค้างคืน ก็คงจะไม่มีโอกาสได้รู้เรื่องราวเหล่านี้แน่ๆ ว่าแล้วเลยต้องขอใช้พื้นที่ตรงนี้จดบันทึกไว้สักหน่อย

1. พี่ย้ง เตือนว่า “อย่าไปเก็บเศษตังค์ตัดหน้ารถสิบล้อ”
แหมมมมมมม ทำไมไม่มีใครมาบอกเราก่อนหน้านี้เลย ประเด็นเรื่อง revenue model สำหรับ SaaS ที่ใครๆ ก็คือว่าต้องกินแบบ Long tail เก็บเล็กๆ แต่ได้เยอะๆ ยาวๆ
เอาเข้าจริงกลับไม่ได้เหมาะกับสภาพการทำตลาดในประเทศไทยสักเท่าไร เราแทบไม่เห็นใครสามารถเก็บตังค์เล็กๆ น้อยๆ ได้จำนวนเยอะๆ เลย
Idol ของผม David Heinemeier Hansson (DHH) เคยเล่าให้ฟังว่า เราไม่จำเป็นต้องเก็บลูกค้าแพงๆ แต่ให้เก็บลูกค้าในราคาที่เหมาะสม ให้ได้จำนวนเยอะๆ ดีกว่า
แต่ที่ผมลืมไปคือ ขนาดตลาดโลก ตลาดอเมริกา กับ ตลาดไทย มันคนละ size กันเลย จะไปคาดหวังอะไรกับ Long tail ที่มันไม่ได้ long จริงๆ จังๆ

การตั้งราคาค่าบริการการใช้ซอฟต์แวร์แบบ SaaS จะว่าไปเราจะตั้งเท่าไรก็ได้ สุดท้ายไปดูที่ bottom line ว่าสามารถ cover ค่าใช้จ่ายและมีกำไรไหม
สมมติตัวเลขกลมๆ ว่า ถ้าเราอยากได้เงิน 1,000,000 บาท ก็สามารถมาได้หลายแบบเช่น
ก. เก็บลูกค้า คนละ 100 บาท ให้ได้ 10,000 ราย
ข. เก็บลูกค้า คนละ 1,000 บาท ให้ได้ 1,000 ราย
ค. เก็บลูกค้า คนละ 10,000 บาท ให้ได้ 100 ราย
ง. เก็บลูกค้า คนละ 100,000 บาท ให้ได้ 10 ราย
แบบไหนง่ายกว่ากันครับ? คำตอบก็คือแล้วแต่ศักยภาพของเราเอง
การเก็บเงินลูกค้าน้อยๆ มุมนึงคือ ก็มันน้อยลูกค้าน่าจะยอมจ่าย คำถามคือแล้วจริงๆ ลูกค้ายอมจ่ายไหม และคนที่ยอมจ่ายมีจำนวนมากพอไหม
ดังนั้นถ้าเราเป็นบริษัทขนาดเล็ก การหาลูกค้า 10,000 ราย อาจจะยากกว่าหาลูกค้า 10 ราย และดูแลลูกค้าให้ได้ดีๆ
แต่ที่สำคัญคือ เรามีคุณค่าพอไหมที่จะทำให้ท่านว่าที่ลูกค้ายอมจ่ายเงินเราหรือยัง
ซึ่งถ้าบังเอิญมีลูกค้าดีๆ ชื่อดังๆ ยอมเป็น reference site นั้นหมายถึง เราจะมีโอกาสได้ลูกค้ารายใหญ่ต่อไปได้ไม่ยาก

2. พี่อ้วน พูดถึงเรื่องการเลือก Strategic partner และเรื่องธุรกิจการสร้างคน
ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องสำคัญที่สอดคล้องกัน Partner คือคนนอกบริษัทที่จะนำพาบริษัทเราไปได้ไกลกว่าที่เราคิด
ในขณะที่ธุรกิจซอฟต์แวร์ ผลลัพธ์จริงๆ ก็ไม่ใช่การทำซอฟต์แวร์ แต่เป็นการสร้างท่อสร้างคนแบบที่ Tony Hsieh แห่ง Zappos เขียนไว้ในหนังสือ Delivering Happiness เลย
Model การโตแล้วแตกของ Soft Square Group เป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจ
บริษัทแห่งนี้ตอบรับพนักงานใหม่โดยเข้าใจว่าทุกคนเข้ามาสักวันหนึ่งก็ต้องออกไป แต่ในระหว่างที่อยู่ เค้าต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงระดับเหมาะสม
คนที่มีความสามารถคุมคนได้ สร้างคนใหม่ได้ และมีความตั้งใจจะไปเปิดบริษัทใหม่ พีๆ ใน Soft Sqaure ก็ยินดีให้ลาออก ให้เงินทุนสนับสนุน พร้อมให้น้องๆ ในทีมไปช่วยด้วย
ส่วนคนที่อยู่นานๆ แล้วไม่คิดจะออก นี่สิลำบาก เพราะ nature การทำ software ไม่ได้เหมาะกับทีมใหญ่ๆ หากอยู่นาน ตำแหน่งใหญ่ นั้นหมายถึงเงินเดือนเยอะ เป็นภาระให้บริษัทไปซะอีก
ดังนั้นสรุปคือ หากเราสามารถมีทีมที่มีขนาดเหมาะสมก็จะทำงานได้ดี ได้กำไร แล้วถ้ามันใหญ่เกินไปก็แตกออกเป็นอีกทีม อีกบริษัทก็กลายเป็น Partner ไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน ก็จะยิ่งเกิด synergy เกื้อหนุนกันขึ้นไปอีก

3. พี่โต ก็เน้นในเรื่องของ Clustering
คนไทยเราต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำ แล้วพอจะเอาไปขายต่างประเทศ มันก็ไม่ครบสิครับ กลายเป็นว่าเราดีไม่พอ
แต่สมมติว่าถ้าเราสามารถร่วมมือกันได้ เอาส่วนดีๆ ของแต่ละคนมาผนึกกันแล้วลุยไปทีละอุตสาหกรรม เช่น การท่องเที่ยว
ถ้าเราต่อจิ๊กซอว์จาก การจองโรงแรม จองตั๋วเครื่องบิน จองรถ ให้ข้อมูลสถานที่ใกล้เคียง ให้โปรโมชั่นคูปองส่วนลด สะสมแต้ม กลายเป็นแพ็ครวมใหญ่ๆ ไปด้วยกัน ไปได้ไกลกว่า
นอกจากนี้ BOI จะเป็น Competitive Advantage ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ใน AEC
ซึ่งเท่าที่ฟัง มีวิธีการขอ วิธีการใช้สิทธิ์ ก็มี step มีเคล็ดลับ shortcut ที่น่าสนใจและต้องศึกษาให้ดีเลยทีเดียว

tycoonchicparty

นอกจากนี้ในวงเล่ามีการบ่นหยิกแถมหยอกลูกค้าแบรนด์ใหญ่ว่า พอไปขายแบบเป็น IT มันเก็บเงินยากเย็นแสนเข็ญ แต่พอมองไปเวลาทำโฆษณา แหมมมม ทำไมเงินมันจ่ายง่ายสิ้นดี
เช่น สมมติระบบซอฟต์แวร์เราขายราคา 10 ล้าน ลูกค้าจะบ่นแล้วบ่นอีก ต่อแล้วต่ออีก แก้โน่นแก้นี่
พอระบบเสร็จออกมา ถึงขั้นโฆษณา ก็เอาเงินมาทุ่มซื้อสื่อ จ้างดารามาเป็น presenter ทำงานแป็บเดียว ใช้เงินไป 30-40 ล้าน
แหมมม… ช่างน่าน้อยใจยิ่งนัก

ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่พี่ๆ น้องๆ เล่าให้ฟัง เก็บไว้ใน memory แล้ว แต่วันนี้เอาเท่านี้ก่อน ไว้มีเวลาจะมาเขียนใหม่นะครับ

อ้อเกือบลืมวันสุดท้ายของค่ายนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้พบกับความจริงที่ว่า “ลูกสาวท่าน ผ.อ. สวยครับ” ฟิ้ววววว หนีดีกว่า

Leave a Reply