Warung Pintar

Digital revolution ในอินโดนีเซียก่อให้เกิดร้านค้าแผงลอยดิจิทัลชื่อ Warung Pintar ขึ้น เป็นร้านค้าปลีกที่ทำธุรกิจแนวใหม่ ด้วยบริการเสริมอย่าง ฟรี Wi-Fi, ชาร์จแบตมือถือ, ในร้านมีจอ LCD โดยมีความตั้งใจที่จะนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มายกระดับร้านค้าบ้านๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยชนชั้นรากหญ้า ให้สามารถเข้าถึงบริการดีๆ ไม่ว่าจะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน หรืออยากจะสั่งซื้อสินค้าผ่าน e-commerce ทำไม่เป็นมาที่นี่ได้เลย เพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่ประชากรกว่า 200 ล้านคน ยังมีชาวอินโดนีเซียอีกเป็นจำนวนมากที่มองว่าการซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันจากซุ้มขายของยังสะดวกกว่าการสั่งออนไลน์อยู่

Warung Pintar จึงกำลังกลายเป็นศูนย์รวมของพนักงานระดับล่างที่ทำงานในกรุงจากาต้าร์ หรือคนขับมอไซค์ Go-Jek เป็น community เล็กๆ ในชุมชน โดยมีงานสำรวจพบว่าในจากาต้าร์มีซุ้มขายของแบบเดิมๆ อยู่มากกว่า 50,000 ร้านค้า แต่ละร้านมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1.5 ล้านรูเปียห์ต่อวัน (ประมาณ 3 พันกว่าบาท) สิ่งที่ Warung นำเสนอเป็นแฟรนไชส์ที่ลงทุนเริ่มต้นเพียง 50 ล้านรูเปียห์ (ประมาณแสนกว่าบาทนิดๆ) ก็จะได้ซุ้มมีโต๊ะเก้าอี้ Wi-Fi router จอ LCD และกล้อง CCTV พร้อมเปิดให้บริการ และน่าจะสามารถทำกำไรได้ 6 ล้านรูเปียห์ต่อเดือน (หมื่นกว่าบาท) จึงมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 10-12 เดือน

นอกจากนั้นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในซุ้มของ Warung Pintar ก็ล้วนมาจากสตาร์ทอัพในเครือของ East Ventures ผู้ลงทุน ยกตัวอย่างเช่น
Moka POS เป็นแอปพลิเคชั่นเครื่องคิดเงินดิจิทัล
Jurnal เป็นแอปพลิเคชั่นจัดการบัญชี
Kudo เป็นแอปพลิเคชั่นตัวแทนรับ ขายตั๋วต่างๆ และ สินค้าที่ขายผ่าน e-commerce ด้วยเงินสด (ปัจจุบันถูก Grab ซื้อไปแล้ว)
Do-Cart เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับจัดซื้อและจัดส่งสินค้า
Waresix เป็นระบบบริหารจัดการระหว่างคลังสินค้ากับร้านค้าปลีก

ธุรกิจของ Warung Pintar เป็นการแก้ปัญหาแบบ One Stop Service ให้กับผู้ที่ต้องการจะเริ่มธุรกิจซุ้มขายของอย่างแท้จริง โดยบริษัทจะช่วยจัดหาทั้งทำเลและเงินทุนในการเปิดร้านใหม่ เป็นการ matching ระหว่าง นักลงทุน เจ้าของที่ และ ว่าที่เจ้าของร้าน ให้มาพบกันตั้งร้านค้าภายในแฟรนไชส์ของ Warung Pintar

ซึ่งในการ operate แต่ละวันของร้าน เจ้าของร้านสามารถเข้าถึงข้อมูลสินค้าได้หลากหลาย สามารถสั่งซื้อและจัดส่งมาที่ร้านได้ในราคาถูก สะดวกสบาย อีกทั้งยังไม่ต้องวางโชว์สินค้าทุกอย่างลูกค้าสามารถเดินมาสั่งซื้อผ่านระบบ e-commerce ของทางร้าน มารับของที่ร้าน มีการทำกิจกรรมการตลาดสร้าง awareness จากแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก มีโปรโมชั่นกลางที่สนับสนุนจากส่วนกลางช่วยดึงลูกค้าเข้าร้าน มีระบบสต๊อก บัญชี มาตรฐาน มีซอฟต์แวร์ใหม่ๆ พร้อมติดตั้งและอบรมให้พนักงาน เจ้าของร้านจึงมีหน้าที่แค่รับผิดชอบการขาย ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน มันคือโอกาสของคนที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ

Warung Pintar คือ นิยามใหม่ของคำว่า ค้าปลีก ในประเทศอินโดนีเซีย เราเสนอความเป็นพันธมิตรให้กับเจ้าของร้าน ซึ่งหน้าที่ของเจ้าของร้านจึงมีแค่ รับผิดชอบการขาย, มีความซื่อสัตย์ และลงแรงบำรุงรักษาร้านตามความเหมาะสมเท่านั้น”

Warung Pintar เปิดตัวในเดือนตุลา 2017 ต้นปี 2018 มีเพียง 2 ซุ้ม ณ ต้นปี 2019 ขยายไปถึง 1,150 ซุ้ม หรือโตขึ้น 500 กว่าเท่า และมีเป้าหมายจะขยายให้ได้ถึง 5,000 ซุ้มภายใน 1 ปี ล่าสุดเมื่อมกรา 2019 ได้ระดมทุน series B ที่ $27.5 ล้าน โดยได้รับความสนใจจาก VC จำนวนมาก หนึ่งในนั้นมี Jerry Yang ผู้ก่อตั้ง Yahoo! อีกด้วย (รวมระดมทุนไปแล้ว $35.5 ล้าน) และได้มีการ acquire สตาร์ทอัพชื่อ Limakilo (agtech ที่เพิ่งเริ่มต้น) เข้าไปช่วยเสริมธุรกิจด้วย ทำให้ Warung Pintar สามารถเป็น platform ในการเชื่อมระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคได้โดยตรง ลูกค้าสามารถเดินไปที่ซุ้มสั่งซื้อกระเทียม หอมใหญ่ และพืชผลการเกษตรต่างๆ ถูกกว่าซื้อจากซูปเปอร์มาร์เก็ตถึง 15%

Leave a Reply