มาเป็นมืออาชีพกันเถอะ

ทำไมเราถึงทำงานที่เราทำอยู่กันครับ ผมเชื่อว่าหลายคนอาจเคยสงสัยตั้งคำถามนี้กับตัวเอง และก็คงมีอีกหลายๆ คนที่ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็แค่พยายามทำงาน (หน้าที่) ของตัวเองในแต่ละวันให้ดีที่สุดไปเรื่อยๆ

สิ่งที่ผมเห็นในสังคมปัจจุบัน คือการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทุกคนต้องแข่งขัน แย่งกันกิน แย่งกันอยู่ แย่งกันหายใจ มันทำให้เราอาจจะมองข้ามความสวยงามต่างๆ ในชีวิตไป ยิ่งความจำเป็นของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนต้องปากกัดตีนถีบ บางคนต้องหาเช้ากินค่ำ ในขณะที่​บางคนค่อนข้างชิล

ดังนั้นหลายคนจึงอยากประสบความสำเร็จเร็ว อยากรวยเร็วๆ อยากมี passive income แล้วจะได้ไปเที่ยวรอบโลก ไม่ต้องทำงาน งกๆๆ อย่างที่เป็นอยู่ เราก็เลยพยายามทำอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่ได้เป็นตัวเราเลย เพราะ “เค้า” ว่ากันว่าดี

สิ่งที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้ ไม่ได้บอกให้ทุกคนหันไปใช้ชีวิต slow life นะครับ มันคงไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมกับทุกๆ คน โดยส่วนตัวผมมีความเชื่อว่าแต่ละคนมีจุดสมดุลย์ในการใช้ชีวิตที่เหมาะของตัวเองอยู่ต่างกัน ซึ่งเราต้องหามันให้เจอด้วยตัวของตัวเอง

maslow

อันดับแรกถ้าอ้างอิงสิ่งที่คนเคยศึกษามาก่อน คงต้องขอกล่าวถึง ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) สั้นๆ นะครับคือ ทฤษฎีความต้องการ 5 ขั้นของมนุษย์
(1) ทางกายภาพ – อาหาร น้ำ อากาศ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งเพศสัมพันธ์
(2) ความปลอดภัย
(3) ความรักและความเป็นเจ้าของ
(4) ความเคารพนับถือ หรือ Esteem
(5) ความประจักษ์ในตนเองอย่างแท้จริง หรือ Self Actualization

เราทำสิ่งที่เราทำอยู่ในตอนนี้เพื่อตอบสนองความต้องการตามลำดับขั้นต่างๆ ที่กล่าวไปนึ้ พื้นฐานเลยคือ ทำงานทุกวันนี้เพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ดีกว่านั้นก็คือเอาเงินมาผ่อนบ้านผ่อนรถ ทำงานเพื่อเอาเงินไปซื้อหาสิ่งของเพื่อคนที่เรารัก ไม่ว่าจะพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูง ภรรยา หรือกิ๊กกั๊กก็ตามที ทั้งหมดนี้อยู่ในขั้น 1-3
ให้ advance ขึ้นมาหน่อยคือ ทำงานเพื่อหาชื่อเสียง ให้กลายเป็นที่เคารพนับหน้าถือตาของคนอื่นๆ ในสังคม และถ้าให้พีคสุดๆ คือทำงานเพื่อตอบสนองส่วนลึกๆ ในตัวของตัวเอง เพื่อค้นหาเติมเต็มความสมบูรณ์ของชีวิต ซึ่งก็คงไม่ใช่ทุกคนที่จะมองเห็นและทำเพื่อสิ่งนั้น ผมถึงบอกว่าแต่ละคนมีทางของตัวเองครับ

ลองมองย้อนกลับมาดูตัวเองนะครับ อะไรเกิดขึ้นกับชีวิตเราบ้าง สมัยเรียนจบใหม่ๆ พลังท่วมท้น เราก็คิดว่าเรารู้เยอะ ร้อนวิชา เราจะกร่างและคิดว่าเรารู้มาก
ในวันที่เราโตขึ้นเรื่อยๆ เราจะเริ่มเรียนรู้ว่าเราไม่รู้อะไร จนกระทั่งถึงวันนึงเมื่อเรารู้ขอบเขตของตัวเองแล้ว และพยายามพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เราจะกลายเป็น ผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านนึง
นี่คืออีกหนึ่งงานวิจัยด้านจิตวิทยาที่เรียกว่า Dunning-Kruger Effect ผมเชื่อว่าหลายคนคงเป็นเช่นนี้จริงๆ เราทำงานและแสดงออกตามภาวะจิตใจของเราในช่วงนั้นๆ

dunning-kruger

เพราะระบบการศึกษาที่เราทุกคนผ่านกันมา ได้สร้างเราให้มีทักษะบางอย่าง (อันที่จริงเพื่อป้อนเราเข้าไปตอบโจทย์ภาคธุรกิจเดิมๆ) ทำให้เรามีความสามารถอย่างนึง ซึ่งมันเอาไปใช้ประกอบสัมมาอาชีวะได้อย่างนึง
พูดง่ายๆ คนจบวิทยาก็ไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวะมาก็ไปทำงานเป็นวิศวกร คนจบสถาปัตย์ก็ไปเป็นสถาปนิก คนจบบัญชีก็ไปทำบัญชี คนจบหมอก็ไปเป็นหมอ อะไรทำนองนั้นครับ เพราะระบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตคนเข้าไปเป็นฟันเฟืองในอุตสาหกรรมตามศาสตร์สาขาอาชีพนั้นๆ ครับ
คราวนี้เรื่องเศร้าที่เราพบก็คือ คนจำนวนไม่น้อยเลยที่มารู้ตัวว่าสิ่งที่ตัวเองเสียเวลาร่ำเรียนมาตั้งไม่รู้กี่ปี ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบ เขากลายเป็นปลาที่ถูกสอนให้ปีนต้นไม้ และปลาหลายตัวก็สูญเสียสัญชาตญาณการว่ายน้ำของตัวเองไป เพราะถูกบอกว่าบนต้นไม้มีอาหารดีๆ อยู่ ต้องปีนให้สูงๆ นะ
จะมีปลาสักกี่ตัวแหละครับ ที่ปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม แล้วหันกลับไปหาแหล่งน้ำที่เหมาะกับตัวเอง คำตอบคือมีครับ ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่หาตัวเองจนเจอรู้ว่าตัวเองเหมาะหรือไม่เหมาะกับอะไร และพยายามต่อสู้กับแรงต้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย

มีกูรูหลายคนมักจะเปรียบงานประจำเป็น comfort zone หรือพื้นที่ที่คุ้นเคย เนื่องจากเราได้เรียนรู้และกลายเป็นส่วนหนึ่งของมันไปแล้ว เราทำมันซ้ำๆ จนมันกลายเป็นทักษะที่เรียกว่า”ประสบการณ์” บางคนทำจนกลายเป็นมืออาชีพในเรื่องนั้นๆ คือทำแบบไม่ต้องคิด แบบว่าเป็นธรรมชาติมั๊กมาก
ซึ่งจะมีสักกี่คนที่โชคดี ที่อาชีพที่ทำอยู่คือสิ่งที่ตัวเองรัก ได้ทำในสิ่งที่ความชอบและความเชี่ยวชาญกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้เค้าทำสิ่งนั้นไปได้เรื่อยๆ ไม่เบื่อ ไม่บ่น ที่สำคัญทำโดยไม่ได้คาดหวัง และต้องการเงินด้วยซ้ำ นี่แหละครับที่เรียกว่า “Passion”
แล้วพอทำได้ดี ก็ได้รับผลตอบแทนตามมา ยิ่งถ้าสิ่งนั้นมันไปแก้ปัญหาหรือสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ในโลกใบนี้ เงินทองมันก็ไล่มาเทมาเองโดยไม่ต้องร้องขอ (โลกเราก็ตลกเช่นนี้แหละครับ)

ถึงอย่างไรก็ตามบางครั้งก็อาจจะมีบางคนที่ไม่ได้เริ่มจากความรักซะด้วยซ้ำ แต่ทำมันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเค้า ทำเข้าไปให้มากกว่า 10,000 ชั่วโมง ทำจนเชี่ยวชาญจนหาตัวจับได้ยาก กลายเป็น ขงเบ้ง ของวงการนั้นๆ แบบไม่รู้ตัวก็เป็นได้
ดังนั้นไม่ว่าจุดเริ่มต้นจะเป็นอย่างไรหากเราใส่ใจในสิ่งที่ทำอยู่ ฝึกฝน พัฒนา ปรับปรุงให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ เก็บแก้ข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำซ้ำ จนกลายเป็นมืออาชีพแล้ว มันก็จะย้อนกลับไปตอบสนองความต้องการในลำดับขั้นต่างๆ บางทีอาจจะไปถึงขั้น Self actualization เลยก็เป็นได้
เพราะเอาเข้าจริง มันไม่ได้สำคัญเลยว่า คุณทำงานอะไร ต่อให้คุณเก็บขยะก็สามารถเป็นเศรษฐีพันล้านได้ หรือคุณจะเป็นศิลปินมันก็ไม่จำเป็นต้องไส้แห้งแบบที่อ.เฉลิมชัยเคยบอกในคลิป ทุกอาชีพมีจุดสูงสุดของมัน ขึ้นอยู่กับว่าเราทุ่มเทกับมันแค่ไหน

“ฟ้าจะประทานสิ่งที่เราต้องการมาให้เมื่อเราพร้อม โอกาสมีอยู่ทั่วไปในอากาศครับ เราจะคว้ามันได้เมื่อเราคู่ควรเท่านั้น”

หรือแม้แต่ต่อให้งานที่กำลังทำอยู่เราไม่ได้รักไม่ชอบ แต่มันเป็นทักษะที่ติดตัวมา ผมก็เชื่อว่าพวกเราทุกคนสามารถทำตามหน้าที่และไขว่ขว้าฝันของตนเองได้ในขณะเดียวกัน มีตัวอย่างเรื่องราวของคนมากมายที่ต้องทำงานประจำและในเวลาว่างก็ทำงานพิเศษ ซึ่งเรียกว่ามันว่าเป็นงานอดิเรก หรือ hobby แล้วเค้าก็มีความสุขให้ได้ยินมากมาย และก็มีอีกหลายคนยกระดับงานในเวลาว่างนี้ให้มันเป็น serious hobby ที่มีการตั้งเป้าหมาย คาดหวังผลสัมฤทธิ์ และจะสู้ไม่ถอยจนกว่าจะเห็นผล
ยกตัวอย่าง เมื่อหลายปีก่อนเพื่อนๆ ผมที่ทำงานประจำเป็นพนักงานบริษัทธรรมดา พวกเค้ามีความเห็นตรงกันในการสร้างเว็บไซต์ตัวหนึ่งขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ Digital Marketing ให้คนไทยได้อ่าน
เค้าเริ่มลงมือเขียน เก็บข้อมูล ออกสัมภาษณ์ หาข่าว ทำอยู่อย่างนั้นจนผู้คนในวงการยอมรับ ปัจจุบันด้วยงานอดิเรกที่เริ่มต้นในวันนั้น มันแตกกิ่งก้านสาขา ทำให้หลายคนในทีมขยับจากพนักงานออกมาเป็นเจ้าของบริษัท ครับเว็บนี้ยังอยู่มันชื่อ thumbsup.in.th และพวกเขากำลังจะมีงานใหญ่ประจำปีสำหรับคนในวงการ Digital ที่เรียกว่า Spark Conf อีกครั้งเร็วๆ นี้

อย่ารอจนกว่าจะมีอิสรภาพทางการเงิน แล้วค่อยไปทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ฝันไปเถอะครับ! สุดท้ายมันจะเป็นไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน อย่าเชื่อในสิ่งที่คนอื่นบอก อย่าโทษฟ้าโทษฝน อย่าหาข้ออ้างร้อยแปดให้ตัวเองสบายใจชั่วคราว คิดดีๆ คิดให้เยอะๆ แล้วลงมือทำจริงๆ จัง แบบมืออาชีพ สุดท้ายเราจะได้ในสิ่งที่เราต้องการครับ (ถึงไม่ได้ก็คงไม่เสียใจที่ไม่ได้ลงมือทำ)

ปล. อ่านจบแล้ว จงทำสิ่งที่ทำอยู่อย่างมืออาชีพนะครับ ไม่ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่กี่อย่าง เรียนรู้ รับผิดชอบ และพยายามทำให้ดีที่สุด จะได้ไม่มีใครมีตราหน้าว่า “ไอ้มือสมัครเล่น”

Leave a Reply