2020 ผักไม่ขม ชีวิตก็ไม่ขม

ไม่ได้อัพเดท blog มาเกือบปี มีอะไรก็ไปบ่นใน facebook
วันนี้ฤกษ์งามยามดี คันไม้คันมือ อยากมาสรุปเรื่องราวของฟาร์มผักที่ใหญ่ที่สุดในสยามสแควร์ให้ทุกคนได้อ่านกัน
จริงๆ พื้นที่มันก็ไม่ได้ใหญ่มากหรอก แค่ 20 กว่าตารางเมตร แต่สยามไม่มีใครปลูกผักไง เลยใหญ่ที่สุดแล้ว (คุณโอวีระบอกไว้แบบนั้น)
สิ่งที่ทำนี้ ตอนแรกอาจเรียก StartUp ได้ไม่เต็มปาก เพราะเราคิดจะทำธุรกิจ ไม่ได้คิดว่าจะเข้าวงการอะไรทั้งนั้น

ว่าแล้วขอย้อนกลับไปช่วงปี 2017 ผมได้มีโอกาสคุยกับพี่อั๋นกับพี่โดม
ช่วงนั้นพี่อั๋นลาออกจากธนาคารฯ และก็เป็นเจ้าของ co-working space อยู่ที่สยามชื่อ Space@Siam
เราคุยกันว่าอยากทำอะไรด้วยกัน แล้วพื้นที่ชั้นบนสุดของ Space ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
มันเป็นลานหญ้าเทียมโล่งๆ เต็ม floor ที่ไม่ค่อยได้ถูกใช้ประโยชน์ จะมีเด็กๆ ขึ้นไปนอนชิลบน bean bag บ้างบางวัน
ด้วยความที่พี่อั๋นเคยทำเกษตรมาก่อน มีสวนปลูกกาแฟ ปลูกลำไย และเข้าใจดีเลยว่า ทำไมเกษตรกรถึงได้ยากจน
เพราะการทำเกษตรภายใต้ธรรมชาติ มันลำบาก ไม่มีอะไรควบคุมได้ ฝนตก น้ำท่วม น้ำแล้ง ผลผลิตไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฯลฯ
เลยคุยกันเล่นๆ ว่าทำ indoor farming กันไหม เพราะปลูก outdoor มันควบคุมอะไรไม่ได้เลย

ก็เลยเป็นที่มาว่าผมไปหาคนที่มีความเชี่ยวชาญทางเกษตรสมัยใหม่มาคน และพี่อั๋นก็ไปชวนพี่เชษฐ์ซึ่งปลูกผักไฮโดรโปนิกส์อยู่มาอีกคนรวมเป็น 5
เวลาล่วงเลยผ่านไป เรานัดคุยกันหลายรอบ ถึงความเป็นไปได้ คุยในหลายๆ มิติ คุยเป็นปี และก็มอบหมายให้เพื่อนคนนี้ช่วยดูแลเรื่องการซื้อของมาติดตั้งระบบให้
พวกเราตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทในเดือน ต.ค. 2018 โดยรวมเงินกัน 1 ล้านบาทมาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อปลูกผักในพื้นที่ชั้นบนสุดของ Space
และชื่อ noBitter ก็ได้เกิดขึ้นจากการที่เราอยากปลูกผักที่ใครๆ ก็กินได้ มันน่าจะเป็นผักที่ไม่ขม
งานก่อสร้างเริ่มขึ้นและใช้เวลานานกว่าที่คิด การประชุมเริ่มไม่ลงรอย มีปัญหาน้ำรั่วจากชั้นบนลงชั้นล่าง สุดท้ายเพื่อนที่ชวนมาก็แยกตัวออกไป
มี.ค. 2019 ผลผลิตรอบแรกออกมา พร้อมกับอาการงงๆ อยู่ว่าจะขายยังไงกันดี แน่นอนครับ ผักรอบนีัแจกจ่ายกันไป
แล้วปัญหาน้ำรั่วก็ยังเกิดอยู่ มันร้ายแรงถึงขั้นแฟนพี่อั๋นที่กำลังท้องต้องมา Space กลางดึกกับพี่อั๋นเพื่อเช็ดน้ำที่นองลงชั้นล่าง
ผมจึงตัดสินใจ shutdown ระบบ และรื้อทุกอย่างออกทั้งหมด เอาหญ้าเทียมออกเพื่อติดตั้งระบบใหม่ ผมกลับไปเริ่มจากศูนย์

ครั้งนี้ผมรู้แล้วว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเท่านั้น จึงเริ่มออกหาความรู้ ไปสัมมนาอบรมปลูผักไฮโดร อบรม Plant factory อะไรที่เกี่ยวข้อง search Google YouTube มาให้หมด
เรียนรู้ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับการปลูกพืช จนไปเจอ why ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่
ฟังดูแล้วอาจจะเวอร์ๆ หน่อยนะว่า “เรากำลังสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนเมือง” แต่ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ในอนาคตเราต้องทำได้
แม้ noBitter ที่ Space@Siam จะเป็นจุดปลูกผักเล็กๆ ได้ผลผลิตแค่สัปดาห์ละประมาณ 10 กิโล แต่ผักที่เราปลูกมันต่างจากคนอื่น

ผมเกิดในกรุงเทพฯ ลูกสาวผมก็เกิดที่นี่ เราโตขึ้นมากินผักไปแล้วไม่รู้กี่กิโล แต่ผมก็เพิ่งจะมารู้นี่แหละครับว่า ผักที่เรากินเนี่ยมันไฟเบอร์เคลือบสารพิษดีๆ นี่เอง
เพราะความเจริญของเมือง urbanlization ทำให้คนเมืองไม่ได้ปลูกผักกินเองเหมือนแต่ก่อน พืชผักที่เรากินถูกปลูกจากที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วถูกส่ง ถูกลำเลียงเข้ามาขายให้เราในเมือง
ถ้าคนทำกับข้าวกินเองก็จะไปเจอผักในตลาดในซูปเปอร์มาร์เก็ต แล้วก็มักจะเลือกแต่ต้นสวยๆ ใช่ไหมครับ ที่มันดูดี
ซึ่งหากมองย้อนกลับไปที่ supply chain ของสินค้าประเภทนี้ เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าผักเน่าเสียได้ ก่อนที่มันจะมาวางบนเชลฟ์ให้เราเลือก มันผ่านมาจากตลาดค้าส่ง ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว กว่าจะย้อนกลับไปถึงฟาร์มที่ปลูก แล้วกว่ามันจะโตขึ้นมาจากเมล็ด มันใช้เวลากี่วันทราบกันไหมครับ แล้วไม่สงสัยหรือครับ ทำไมผักที่วางขายมันยังสวยกิ๊งอยู่ได้
จากสถิติประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับการใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า สูงเป็นอันดับต้นๆ ในโลก ทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีพื้นที่เพาะปลูกมากขนาดนั้น และที่แย่กว่านั้นคือสารพิษพวกนี้ตกค้างในดิน

ผมอยากปลูกผักที่ตัวเองกินได้แล้วสบายใจ อยากกินอะไรที่มันดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ก็เลยเป็นที่มาว่าเราต้องปลูกผัก ณ จุดขาย ซึ่งผักเราต้องแตกต่างจากผักที่คนอื่นเค้าปลูกกันอยู่ทั่วไป เราอยากได้ผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ผักที่ปลูกยากในสภาพปกติ ปลูก indoor จะได้ผลผลิตสม่ำเสมอทั้งปี
เคลเป็นหนึ่งในตัวเลือกต้นๆ ที่เราสนใจ พี่โดมเลยอาสาจะทำการตลาดให้ เริ่มต้นจากเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ที่เราคุ้นเคย
Google บอกว่า เคล มีอัตราการค้นสม่ำเสมอเป็น trend ที่น่าสนใจ ในขณะที่ Facebook บอกเราว่ามีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคนรักสุขภาพชอบออกกำลังกายสนใจมะเร็งในกรุงเทพอยู่เป็นแสนราย ตลาดใหญ่พอถ้าเราตอบโจทย์ลูกค้าได้
เราจึงเริ่มทดลองปลูกเคล และส่งตรวจ lab เพื่อให้รู้ว่ามันมีสารอาหารอะไรจริงอย่างที่ฝรั่งเค้าบอกมาไหม พี่เชษฐ์เป็นคนที่อยู่กับผักนานที่สุด ดูแลตั้งแต่เพาะเมล็ดจนมันโต
ก.ย. 2019 คือเดือนที่เราได้เริ่มขายผักจริงจัง จากลูกค้ากลุ่มแรกคือคนรู้จักที่รู้ว่าเราทำอะไร ก็ขยายไปเป็นเพื่อนของเพื่อน แล้วก็เป็นคนที่ไม่รู้จักเลยที่มารู้จักเราผ่าน Facebook

มีคำถามเข้ามาเรื่อยๆ เราเจอกลุ่มคนที่ต่อต้านไฮโดรโปนิกส์ เจอ fake news ที่วนอยู่ในอินเทอร์เน็ต ผมต้องคอยให้ข้อมูลเรื่องการปลูก การควบคุมปัจจัยในการเติบโตของพืช บอกทุกคนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มา บางคนกลัวคำว่าสารเคมี กลัวการตกค้างของไนเตรต กลัวปุ๋ย AB ผมก็เอาคำตอบเชิงวิทยาศาสตร์มาให้ พูดเรื่องการสังเคราะห์แสงของพืช การเปลี่ยนธาตุอาหารเป็นแป้งและน้ำตาล มันคือปฏิกริยาทางเคมีโดยอาศัยรงควัตถุในพืชที่เรียกว่า คลอโรฟิลล์
แต่… เราก็คงไม่อาจเปลี่ยนใจคนที่เชื่ออะไรสักอย่างมาเนิ่นนาน เราทำได้แค่ให้ข้อมูล educate ตลาดไปเรื่อยๆ 
จนได้มาเจอคำว่า Post-organic ที่ Bowery บริษัท StartUp ชั้นนำใช้ในการสื่อสารการตลาด พูดถึงผักที่สามารถควบคุมทั้งปริมาณและคุณภาพได้โดยไม่ขึ้นกับธรรมชาติ
คนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ซื้อบ้างไม่ซื้อบ้าง ไม่เป็นไร แต่จะบอกว่าดีใจมากกับความพยายามปลุกซากโครงรางปลูกที่ไม่รู้ว่ามันจะขายได้จริงหรือเปล่า มันขายได้และขายดีขึ้นเรื่อยๆ (เพราะปลูกได้น้อยด้วยแหละ)
เมื่อ demand มันมากกว่า supply การจองผักจึงเกิดขึ้น หลายคนบอกว่ามัน wow ปลูกผักกลางสยาม มันแปลกดี ก็อยากมาดู อยากมาลอง
จน brand inside เห็นและขอเข้ามาสัมภาษณ์เป็นสื่อแรก จากนั้นก็มีอีกหลายๆ สื่อทั้งนิตยสาร ทีวี และรายการออนไลน์ต่างๆ มาขอทำสคูป

คนรู้จัก noBitter มากขึ้น การตอบคำถามในหลายๆ ครั้งก็ทำให้คิดและช่วย shape ทิศทางของบริษัทให้ชัดเจนมากขึ้น
จากแค่ ผักไม่ขม ก็ทำให้กลายเป็น ชีวิตที่ไม่ขม เพราะคุณภาพชีวิตของทั้งตัวเกษตรกรเองและของผู้บริโภคจะดีขึ้น
ผักเราเริ่มมีลูกค้าประจำ มีคนที่จองล่วงหน้าสั่งซื้อมารับเองทุกสัปดาห์ เราสอบผ่านเรื่อง product หรือมี problem-solution fit แล้ว
เราจึงตัดสินใจระดมทุนเพื่อมาขยายธุรกิจ โดยชักชวนเพื่อนๆ ที่รู้จักมาฟังเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของเรา
ตัวเลข 10 ล้านลอยขึ้นมาในหัว จากโมเดลสมัยก่อนที่เคยได้ยินว่าเวลาใครจะเปิดผับ เค้าใช้วิธีรวมเงินเพื่อนๆ มา แล้วก็ให้เพื่อนมาเป็นลูกค้าด้วย
คิดง่ายๆ แค่นั้น แล้วเราก็ค่อยมาวางแผนว่า ถ้าได้มา 10 ล้านจริงๆ จะเอามาทำอะไร ก็ได้พี่เชษฐ์ออกแบบแผนการเงินกับเป้าหมายในการขยายสาขาสัก 4-5 แห่ง
พี่อั๋นบอกว่า เราต้องเป็น satellite farm ที่กระจายตัวอยู่ใกล้ๆ ผู้บริโภคให้มากที่สุด และกรุงเทพนี่แหละดีมาก เพราะขับรถไปที่ไหนก็มักจะเห็นตึกเก่าไม่ใช่ประโยชน์

  • MVP (Minimum Viable Product) คือ Product ที่ทำน้อยที่สุดให้ผู้คนได้เข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำเพื่อหา problem-solution fit

ด้วย connection ของพี่ๆ ทำให้มีเพื่อนๆ เอาเงินมาลงทุนกับเราจริงๆ เราได้มา 10 ล้านบาทแลกกับ 10% ทำให้ noBitter มี valuation ที่ 100 ล้านบาททันทีในเดือน ม.ค. 2020
เงินมาพร้อมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบครั้งใหญ่ แน่นอนก่อนอื่นเลยเราต้องสร้างทีม ต้องมีคนดูแลจริงจัง ด้วยพี่ๆ ทั้ง 3 คนมีภาระหน้าที่สำคัญอยู่แล้ว
ผมซึ่งเป็นน้องเล็กจึงได้รับการขึ้นตำแหน่งจากผู้ดูแลฟาร์มมาให้ทำหน้าที่เป็น CEO (ที่ส่วนตัวผมย่อมันจาก Chief Everything Optimizer)
และก็เริ่มสร้างทีมขึ้น จากพี่เกี้ยที่เป็นผู้จัดการ Space ก็กลายมาเป็นพนักงานหมายเลข 1 ของ noBitter ตามมาด้วย น้องๆ คนอื่นๆ ตามๆ กันมา
เราเป็น SMEs ที่ดำเนินธุรกิจคิดแบบ StartUp และมี board บริหารแบบบริษัทมหาชน (โดยมีผมกับพี่ๆ ทั้ง 3 เป็นบอร์ด)
มีเป้าหมายแรกคือ การสร้างสาขาที่ 2 ที่สาธุประดิษฐ์ โดยเราไม่เลือกเทคโนโลยีที่ใหม่ที่ดีที่สุด แต่เราเลือกที่ตอบโจทย์เรา คำนวณแล้วสามารถนำมาทำเป็นธุรกิจได้ รายรับต้องมากกว่ารายจ่าย

เหมือนทุกอย่างจะไปได้ดี แต่ COVID-19 ก็มาเยือนพวกเรา มันคือโอกาสในวิกฤตและเป็นตัวเร่งปฏิกริยาหลายๆ อย่าง
สาธุสร้างเสร็จในเดือน ก.พ. 2020 และผลผลิตออกมาช่วงปลายเดือน มี.ค. ซึ่งเริ่มมีการประกาศ Lock down
พวกเราระดมสมองกันอย่างหนักเพื่อวางแผนฉุกเฉินหาทางออก ถ้าปิดเมืองจะเกิดอะไรขึ้น เราจะส่งผักได้ไหม แต่ผักเป็นอาหารนะ ยังไงคนก็ต้องบริโภค
สุดท้ายกลายเป็นว่า มันเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้คนซื้อของออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับเราก็สั่งจองออนไลน์อยู่แล้ว ก็แค่หาทางส่งผักเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เราไปเอาถุงยืดอายุผักซึ่งเป็นงานวิจัยของ สวทช. มาใช้ เราประสานกับ SCG express อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าผักเราส่งถึงลูกค้าไม่บอบช้ำ ได้ของตรงเวลา
มันทำให้เราสามารถขยายขอบเขตการขนส่งจากเมื่อก่อนไม่กล้าส่งต่างจังหวัด กลายเป็นเรามีลูกค้าตั้งแต่เชียงใหม่ยันหาดใหญ่โดยใช้เวลาส่งแค่ข้ามคืนเอง

เราเริ่มทดลองหลายๆ เรื่องในฟาร์ม การปลูกผักคุณค่าทางอาหารสูงอื่นๆ เราพบปัญหาหลายอย่างตั้งแต่สเปกตรัม การดูแล ยันการบรรจุถุง
แล้วเราก็ไปจับมือกับ วว. เพื่อทำเรื่อง upstream หรือการวิจัยเมล็ดพันธุ์เคลใน plant factory ตามมาด้วยการ certify GAP (Good Agriculture Practises) ให้กับสยามและสาธุ
ต่อด้วยการหาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อทำ downstream ในการแปรรูปผลผลิตผักเคลของเราต่อ เราได้ทุนจาก NIA มาพัฒนาซอฟต์แวร์ในการดูแลระบบ
jigsaw หลายๆ ตัวเริ่มปะติดปะต่อเข้าหากัน เราค่อนข้างโฟกัสในสิ่งที่ทำ ไม่ได้ไปออกงานที่ไหน ไม่ได้ไปแข่ง pitching หรือขึ้นเวทีกับใคร
เรากำลังมองหาตลาด หาจุดที่เรียกว่า product-market fit โดยการยิง ads และใช้สื่อสารออนไลน์เต็มรูปแบบ เริ่มคำนวณ CAC (Customer Acquisition Cost) และ LTV (Life Time Value)ได้
เริ่มทำโปรแกรม subscription เพื่อ secure ฐานลูกค้าขาประจำ ทำระบบ loyalty program ที่บันทึก point ให้กับลูกค้า เราทำสิ่งที่ธุรกิจควรจะทำ
แต่เงินทุนก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ เพราะค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การขยายสาขาทำได้ไม่เร็วพอ revenue เลยเข้าช้าลง ก็เพราะ COVID อีกนั้นแหละครับ

หลังผ่อนคลาย Lock down เราก็เริ่มลุยขยายสาขาที่ 3 ต่อที่มหิดลศาลายา สร้างเสร็จ ส.ค. 2020 และสาขาที่ 4 ที่ศรีด่านซอย 17 บนถนนศรีนครินทร์สร้างเสร็จ ต.ค. 2020
วันนี้เราได้กำหนดพันธกิจขึ้นมาว่า “We are an AgriTech company who strives for Safe Food with Desired Nutrition near Your Homes.”
เราเริ่มตั้งเป้ากับการขยายสาขาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเลือกจะโตต่อด้วยระบบเฟรนไชส์ เราเชื่อว่ามีผู้ประกอบการที่อยากจะโต้คลื่นเกษตรยุคใหม่ไปด้วยกัน
ถ้าเราทำสำเร็จปีหน้า 2021 เราจะมี 29 สาขา, 2022 จะมี 75 สาขา และ 2023 เราจะมี 150 สาขา กับยอดขายที่จะเตะ 1,000 ล้านบาทในปี 2024
แล้วความฝันเรื่องการปลูกผักในเมือง ความมั่นคงทางอาหารของเราจะเป็นจริง ผักของคนเมืองจะไม่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป
ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ปัญหาอุปสรรคมากมายที่รออยู่ เทรนด์ของผู้บริโภค การแข่งขันที่กำลังจะเปลี่ยนจาก blue ocean เข้าสู่ red ราคากับปริมาณที่ต้องมองหา equilibrium ใหม่

กับเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา noBitter ได้ให้บทเรียนหลายอย่างกับผม ทำให้นอนไม่หลับหลายคืน มีปัญหาถาโถมมากมาย มีโจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทายมาเรื่อยๆ
การเดินทางต่อจากนี้ไม่น่าจะง่ายเลย ตอนแรกก็คิดว่าเงินค่าเฟรนไชส์จะทำให้เราขยายธุรกิจไปได้เรื่อยๆ อย่างมั่นคง
แต่หลังจากได้กลับมานั่งคิดทบทวนตัวเองใหม่ ผมคิดว่าเรามีความจำเป็นต้องระดมทุนอีกครั้ง และต้องเลือก Investor ที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อทำภารกิจนี้ให้ลุล่วง
Speed จะเป็นสิ่งจำเป็นมาก เราต้อง scale ให้เร็วพอ ที่แบรนด์ noBitter จะเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคทั่วไป ต้องข้าม Chasm ไปสู่ main stream market ให้ได้
อนาคตจะเป็นยังไงไม่รู้เหมือนกัน แต่วันนี้ได้ลงมือทำแล้ว เรื่องราวของเราได้เป็นส่วนเล็กๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ ที่อยู่ดีๆ ก็มีไอ้บ้าที่ไหนไม่รู้มาปลูกผักในตึก แล้วขายผักแพงเป็นพันยังมีคนซื้อ แล้วไอ้บ้าคนนี้จะชวนคนมาปลูกผักขายให้ทั่วประเทศก่อนออกไปลุยตลาดอาเซียน แค่คิดก็สนุกหละครับ!

Leave a Reply