StartUp ถึงเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง

ใครอยากทำ StartUp ยกมือขึ้น! ผมเชื่อว่าวินาทีนี้ใครๆ ก็ให้ความสนใจเรื่องนี้ สำหรับคนใหม่ๆ อาจจะตั้งคำถามว่า มันคืออะไร ต้องทำยังไง ส่วนคนทำอยู่ก็จะสงสัยว่าเมื่อไรฉันจะหลุดพ้นจากวัฏสงสารนี้ไปเสียที

แต่ถึงอย่างไรตาม ก็คงไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของ StartUp ที่ได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วย VC-backed StartUp ไม่ว่าจะอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เค้ามี StartUp ที่แข็งแรงแปลงร่างจากยูนิคอร์น (บริษัทที่มีมูลค่าพันล้านเหรียญ) ไปเป็น Tech company หล่อๆ เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล คุณไว Priceza เคยเขียนใน blog เมื่อปี 2015 ว่าในสหรัฐ GDP เท่ากับ $15 trillion ซึ่งมี 9 บริษัทเกิดใหม่ในช่วงไม่ถึง 15 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ Apple, Amazon, Google, Salesforce, VMware, Facebook, Twitter, Groupon, และ Zynga สามารถสร้างรายรับได้เกือบ $1 trillion เลยทีเดียว และในขณะเดียวกันนั้นเอง ก็มีบริษัท StartUp เกิดใหม่จำนวนมหาศาลที่ล้มหายตายจากไป แบบที่ยังไม่มีใครได้ทันรู้จักชื่อเสียด้วยซ้ำ

รู้ทั้งรู้ว่าความเสี่ยงสูง ทำแล้วอาจเจ๊ง แล้วจะทำทำไมหละครับ StartUp เนี่ย?

ในมุม VC มันคือการบริหาร portfolio คุณหมู Ookbee พูดไว้ว่า มี 10 บาท ลงทุนใน StartUp 10 ทีม ทีมละบาท ผ่านไปสามปี 5 ทีมเจ๊ง แปลว่าเหลือ 0 บาท 3 ทีมเป็นซอมบี้ ไม่โต ไม่ตาย แปลว่าก็ยังเหลือ 3 บาท ส่วนอีก 2 เติบโตต่อไป สมมติโชคดีโต 10 เท่า แปลว่า 2 บาทกลายเป็น 20 บาท สรุปคือ ลงทุน 10 บาท ได้คืน 23 บาท อย่างไรก็ตามการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจก่อนลงทุนทุกครั้งครับ

สำหรับในมุม StartUp หละ คือเอาเวลาไปทิ้งหรือเปล่า ยิ่งเวลาคือสิ่งมีค่าที่สุดในชีวิตมนุษย์ซะด้วย คำตอบคือ “ไม่” เลยครับ ทุกคนในทีม StartUp จะได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป คนที่น่าจะได้เรียนรู้มากสุดน่าจะเป็น founder เล่นจริง เจ็บจริง ได้ทดสอบสมมติฐานที่มีในใจตนเอง เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ตนเองอยากรู้ ส่วนทีมงานในแต่ละตำแหน่งก็จะได้อะไรๆ แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าอินแค่ไหน อย่างคุณตั้ม Cookly ก็เคยได้เขียนไว้ใน blog เรื่องที่ว่าแม้แต่ เด็กฝึกงาน internship ยังได้อะไรมากกว่าที่คิดเยอะ

องค์กรเล็ก มันดีตรงทำอะไรแผลงๆ ได้ตลอดเวลา โอกาสสำเร็จอยู่ที่ความกล้าของ founder และทีมงานที่จะช่วยกันผลักดันจากไอเดียสู่เป้าหมาย เพราะ สิ่งที่โลกนี้ต้องการคือ ไอเดียที่ดี execution ที่ดี ในเวลาที่เหมาะสม

idea-multiplier

สำหรับภาคการศึกษา พักหลังนี้มักเห็นหลายมหาวิทยาลัยพยายามสอนให้เด็กออกมาเป็น founder ลึกๆ ผมไม่เห็นด้วยกับการเอาเด็กมหาลัยมาทำเรื่องนี้ แม้ทุกคนมีหัวใจ entrepreneur ทุกคนอยากเป็นนายของตัวเอง อยากลิขิตชีวิตตัวเอง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเป็นนักธุรกิจที่ดีได้

คนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน อย่าสอนนกให้ว่ายน้ำ อย่าสอนปลาให้ปีนต้นไม้ มันหมดยุคสำหรับระบบที่ทำแบบ one for all แล้ว ยุคนี้ต้อง mass customization ประเทศไทยเราขาดคนในหลายๆ สาย ขาดผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ StartUp ขาดตั้งแต่ dev ux graphic sale marketing แม่งขาดทุกตำแหน่ง คนหายไปไหนหรือครับ? ก็หายไปตามความฝันกันอยู่หนะสิครับ ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริง ขอย้ำนะครับ ขีดเส้นใต้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะจะเป็น founder หรือ ผู้ก่อตั้ง StartUp ยิ่งอายุน้อยโอกาสรอดยิ่งต่ำ มีการศึกษาบอกว่าอายุเฉลี่ยของผู้ก่อตั้ง StartUp ที่จะประสบความสำเร็จอยู่ที่ 35-45 ปี เพราะเคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน และมี dot มากพอให้ connect มันไม่ได้เกิดจากความฟลุ๊ค แต่เกิดจาก “การล้ม 7 ครั้งแล้วลุกให้ได้ 8 ครั้ง”

ต้องบอกว่า ในขณะที่ผู้ใหญ่ของประเทศกำลังเป่าประกาศให้ทุกคนก้าวไปสู่ Thailand 4.0 หากเรายังทำอะไรเดิมๆ แล้วคาดหวังผลลัพธ์ใหม่ พูดให้ตาย มันก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราต้องการผู้กล้าที่ยอมเสียสละ คนที่รู้ทั้งรู้ว่าโอกาสสำเร็จมีน้อย แต่ก็คงต้องขอลอง (อย่างมีสติ) อะไรประมาณนั้น ซึ่งช่วงเวลานี้กับภูมิภาคแห่งนี้ นับเป็นสมรภูมิที่ดีที่สุดในโลกแล้ว เงินกำลังหาทางไหลเข้ามา การลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มอิ่มตัว นักลงทุนต่างชาติพยายามหายูนิคอร์นจาก South East Asia แต่… เรากลับไม่มีธุรกิจที่ดีพอที่จะไปรับเงินเหล่านั้น เพราะเรานึกอะไรไม่ออก ก็ทำตามๆ กัน มิหน้ำซ้ำยังมีสูตรสำเร็จคือให้ทำตามคนสำเร็จ ก็ไปดูสิว่ายูนิคอร์นฝรั่งทำอะไร แล้วไปลอกมาให้เหมาะกับไทย กลายเป็นว่า เรามีกองทัพ clone เต็มไปหมด หานวัตกรรมจริงๆ ค่อนข้างยาก เอาเถอะครับ นับ 1 จาก copy ให้เป็นก่อน จากนั้นต้อง develop ให้ได้ สุดท้ายค่อย research ครับ ไม่ว่ากัน

* สนใจอ่านเพิ่มเติมเรื่องนวัตกรรมได้ที่นี่ครับ

ปีนี้สิ่งที่ผมกำลังจะพยายามทำต่อไปคือ การมีส่วนร่วมในการช่วย Thailand ecosystem สร้าง StartUp จาก day 1 เอาประสบการณ์ที่พอมีมาช่วยกันสร้าง เราไม่ได้ไปพยายามหา unicorn ในป่าหิมพานต์จากประเทศสารขัน แต่เราจะฝึกช้างที่อยู่ในป่าให้เค้าสามารถลากซุง หรือแม้แต่วาดรูปในแบบที่เค้าเป็น เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาอะไรบางอย่างในเขตศูนย์สูตรที่เราอยู่นี้ ถ้าโชคดีเจอช้างเผือกก็ดีไป ถ้าไม่มีอย่างน้อยก็คงได้ช่วยคนจำนวนหนึ่งให้ได้เริ่มต้นทำอะไรเสี่ยงๆ ออกจาก comfort zone ของตัวเอง

สำหรับ True Incube ในปี 2017 จะมีหลักสูตรใหญ่ 2 ตัวคือ

  • Innovation weekend program สำหรับผู้ที่มีไอเดีย และกำลังเริ่มสร้าง product อยากให้คนในทีมได้เข้าใจวิถี StartUp เป็นการอบรม 2 สัปดาห์ ศุกร์เย็น เสาร์อาทิตย์เต็มวัน
  • Incubation & ScaleUp program สำหรับผู้ที่มี product และต้องการต่อยอดไปกับการทำงานร่วมกับ True Corporation ใน boot camp ที่มีทั้งการอบรม การ coach อย่างใกล้ชิด เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์

ถ้าใครสนใจก็สมัครได้เลยนะครับ http://trueincube.com/page/joinus

Leave a Reply