ตอนเล็กๆ ไม่เรียนหนังสือ โตขึ้นมาต้องขัดรองเท้า ♬♪
ปัญหามันอยู่ที่ว่าตอนเล็กๆ ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ว่าต้องเรียนไปทำไม มันสามารถเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้ เด็กๆ หลายคนที่เติบโตขึ้นมาตามระบบการศึกษาปัจจุบัน รู้แค่ว่า พ่อแม่ส่งให้เรียน อนุบาลสัก 2-3 ปี เข้าประถม จบป.6 ก็ต่อมัธยม จบม.6 ก็ต่อมหาลัยอีก 4 ปี เบ็ดเสร็จเรียนไป 18-19 ปี แล้วประเทศชาติก็ได้บัณฑิตออกมา (ที่หลายคนไม่รู้ว่าด้วยซ้ำว่าจะไปประกอบอาชีพอะไรดี)
ข่าวร้ายกว่านั้นคือ อาชีพแบบเดิมๆ ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเรารู้จักกันมาหลายอาชีพกำลังจะอันตรธานหายไปครับ ยกตัวอย่างเช่น
นักบัญชี อาชีพที่ตระกูลผมตั้งแต่รุ่นอากงทำกันมาจนถึงป๋าและสืบต่อมาให้น้อง ถูก Deloitte บริษัทตรวจสอบบัญชีหนึ่งในสี่ยักษ์ใหญ่ของโลกประเมินว่า 95% ของอาชีพนี้อาจจะสูญเสียงานของตนเองไปเพราะการเข้ามาแทนที่ของ AI (Artificial Intelligence)
พนักงานขายตามร้านค้าต่างๆ เพราะปัญหาการหาคนทำงาน ยิ่งนานวัน ยิ่งหายากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทห้างร้านในอนาคตอันใกล้จะใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่างๆ มาแทน ข้อดีคือ ทำงานได้ยาวนาน ไม่อู้ ไม่บ่น ไม่เรียกร้องวันหยุด หรือขอขึ้นเงินเดือนอีก
สาวโรงงาน หนุ่มโรงงานต่างๆ อันนี้ชัดมาก ในเมืองจีนและอเมริกา เค้ามีสิ่งที่เรียกว่า Dark factory แล้ว นั่นคือไม่ต้องใช้คน ก็ไม่ต้องเปิดไฟ โรงงานทำงานอัตโนมัติทั้งหมด พอเปิดสวิทซ์ปุ๊บก็รันเองจนกว่าจะจบโปรเซส ได้สินค้าออกมา แล้วส่งต่อไปขายได้เลย ไม่ต้องการ low cost labor มากมายแล้ว
คนขับแท็กซี่หรือรถขนส่งสาธารณะ เพราะ self-driving cars มาแน่ๆ ครับ ไม่ว่าจะฝั่งยุโรปหรืออเมริกาต่างก็มีการพัฒนาจนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเชื่อว่าจะสามารถใช้เชิงพาณิชย์ได้จริงแล้ว (ก็ดีนะครับ จะได้ไม่ต้องมีรถที่ปฏิเสธผู้โดยสารน้อยลง) นอกจากนี้เราก็อาจจะได้เห็นโดรนที่ถูกนำมาใช้ในการขนส่งสินค้าต่างๆ บินให้เกลื่อนท้องฟ้าอีกด้วย
พนักงานต้อนรับ อย่างสนามบินชางงีของสิงคโปร์ตอนนี้เปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังใหม่เป็นเทอร์มินอลไฮเทค ที่ให้บริการเช็กอินด้วยระบบอัตโนมัติทุกขั้นตอน ไม่ต้องใช้คนอีกต่อไปแล้ววววววว
ง่ายๆ เลยก็คือ อาชีพใดที่สามารถทำซ้ำๆ แบบมีขั้นตอนชัดเจน ไม่ต้องใช้วิจารณญาณในการคิดพิจารณาตัดสินใจอะไรมาก จะโดนซอฟต์แวร์หรือหุ่นยนต์เข้าไปแทนที่ได้เกือบทั้งหมด โดยที่มนุษย์ต้องไปค้นหาอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นตามสภาพสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนคุณทวดคงไม่คิดว่าอาชีพเต้นกินรำกินอย่างนักแสดงจะกลายเป็นอาชีพที่สามารถทำเงินได้เยอะกว่าแค่หาเช้ากินค่ำ แต่เพราะการเติบโตของสื่อที่ทำให้โทรทัศน์กลายเป็นอุปกรณ์รับสารที่มีอยู่แทบทุกบ้าน คนที่ทำงานอยู่หน้าจอเลยกลายเป็นที่ต้องการ แล้วต่อมาอีกไม่นานเมื่ออินเทอร์เน็ตเชื่อมโลกเข้าหากัน คุณปู่คุณย่าก็คงอาจจะงงๆ กับศัพท์ใหม่คำว่า net idol, youtuber, หรือ blogger ว่ามันคืออะไร มันเป็นอาชีพได้ยังไง แล้วอะไรคือการที่คนบางคนเปลี่ยนจาก nobody กลายเป็น somebody มันสร้างรายได้ได้จริงหรือ ส่วนพ่อแม่ก็คงงงว่าไอ้เด็กสมัยนี้มันทำอะไรกุ๊กๆ กิ๊กเอามือถือ เอากล้องมาถ่าย เต้นแร้งเต้นกา แล้วมันจะทำมาหากินได้อย่างไร ครับเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่สร้างโอกาสสร้างอาชีพใหม่ ในขณะที่มันก็ทำลายความคุ้นเคยเก่าๆ ลง พูดมาถึงตรงนี้ งั้นลองมาดูอาชีพใหม่ๆ กันหน่อยไหมครับ ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data scientist) ทำหน้าที่ิวิเคราะห์บริหารจัดการข้อมูล จากการนำ Big data มาทำให้เป็น information เพื่อนำไปสู่ knowledge หรือองค์ความรู้ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจจากผู้บริหาร เพื่อนำไปใช้ในการทำงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด หากเปรียบ data คือ น้ำมันดิบ data scientist คือ วิศวกรปิโตรเลียมที่ขุดเจาะค้นหาและกลั่นกรองมัน
นักวิเคราะห์ความปลอดภัยทางข้อมูล (Information security analyst) ทำหน้าที่ค้นหา ตรวจับ และป้องกัน การคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อกำจัดจุดอ่อนในโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีขององค์กร ไม่ว่าจะฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเน็ตเวิร์ค เพิ่มความมั่นคงปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น
นักจิตวิทยาบำบัด (Psychotherapist) ไม่ใช่จิตแพทย์ (Psychiatrist) นะครับ จิตแพทย์คือคนที่เรียนจบหมอแล้วไปต่อเฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์ (จบแพทย์ 6ปี ต่อเฉพาะทางอีก 2ปี) จิตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและให้การรักษาผู้ป่วยโดยรวมเอาข้อมูลจากการซักประวัติของพยาบาล ผลตรวจจากนักจิตวิทยาบำบัด ผลตรวจร่างกายอื่นๆ มาวิเคราะห์เพื่อวินิจฉัยโรค แล้วทำการรักษาโดยใช้ยา หรืออาจส่งต่อให้นักจิตวิทยาบำบัดเป็นผู้ดูแลต่อด้วยเทคนิคการบำบัดทางจิตวิทยา ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าคนเป็นโรคจิตกันเยอะขึ้นนะครับ แต่สังคมมันเครียด ความกดดันต่างๆ นานา ทำให้ผู้คนต้องการใครสักคนที่ช่วยบรรเทาให้มันเบาบางลง
สำหรับผมแล้วคอมพิวเตอร์คือจุดเปลี่ยนสำคัญตั้งแต่ครั้งสมัย Dot com รุ่งเรือง Webmaster กลายเป็นอาชีพยอดนิยม และเมื่อครั้นที่มือถือครองเมือง เราได้เห็นการเกิดของ StartUp ตามมาด้วยความต้องการอาชีพ อย่าง Mobile app developer, UX UI designer, Growth hacker และต่างๆ นานามากมาย แต่มีอยู่อย่างที่ผู้ใหญ่พูดไว้ไม่ผิดก็คือ ไม่เลือกงานก็ไม่ยากจน (แต่อาจจะไม่รวย) เพราะงานมีอยู่มากมาย ทุกอาชีพ ทุกตำแหน่งหน้าที่ มีความสำคัญของมันเอง การทำงานใหญ่ในปัจจุบันยากมากที่คนคนเดียวจะเก่งและทำได้ทุกอย่าง ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ ทำในสิ่งที่ชอบ แล้วก็ชอบในสิ่งที่ทำ ทำมันให้เก่งไปสักเรื่อง แล้วหาเพื่อนร่วมงานดีๆ มาช่วยกันสร้างคนละไม้คนละมือ หนังสือดีๆ หนึ่งเล่มกว่าจะออกมาวางขายได้ มันไม่ได้มีแค่นักเขียน มันยังต้องการคนออกแบบภาพสวยๆ คนพิมพ์ คนเย็บเล่มเนี๊ยบๆ คนจัดจำหน่าย จนกระทั่งต้องการผู้อ่านที่คู่ควร เรามีทางเลือกมากมายในการเป็นใครสั่งคนที่ทำอะไรสักอย่างให้กับคนอื่นๆ ให้กับโลกใบนี้
คำถามที่สำคัญคือ เราพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิมแล้วหรือยัง เรามีความรู้พื้นฐานเพียงพอที่จะเอาไปต่อยอดไหม เรามีจินตการความคิดสร้างสรรค์มากกว่าที่หุ่นยนต์สักตัวมันจะทำได้หรือเปล่า และที่จำเป็นคือเราสามารถทำงานเป็นทีม อยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ ที่เค้าทำหน้าที่ของเค้าด้วยกันอย่างมีความสุขได้ทุกฝ่ายใช่ไหม ทั้งหมดนี้คือการเดินทางของชีวิต การสะสมประสบการณ์และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากหน้าที่การงานหนึ่งสู่อีกหน้าที่หนึ่ง แล้วถ่ายทอดมันต่อๆ ไปให้คนรุ่นหลังๆ
คิด + คิด = ได้แต่คิด
ทำ + ทำ = ช้ำ
ต้อง คิด + ทำ = สำเร็จ เพราะถึงทำครั้งแรกมันจะ fail แต่มนุษย์สามารถเรียนรู้และทำซ้ำๆ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ อย่างที่ แจ๊ค หม่า เคยพูดไว้ “หยุดบ่นแล้วลงมือทำซะ!”
Leave a Reply