อยู่ที่มุมมอง

รู้ไหมครับ ว่าคนเรามีชีวิตอยู่ และทำงานไปเพื่ออะไร
ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยคิดว่า ถ้าสามารถอยู่เฉยๆ ไปวันๆ ไม่ต้องทำงานก็คงจะดีสินะ
ในขณะที่อีกหลายคน ที่เป็น workaholic อาจคิดว่าอยากให้ทุกวันเป็นวันทำงานจะได้มีเวลาจัดการโน่นจัดการนี่เยอะๆ
เป็นธรรมดาครับที่ความพอดีไม่เคยจะมีในโลกมนุษย์ใบนี้ และหลายต่อหลายครั้งมันก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรนอกจากทำตามๆ กันไป

อย่างตอนยังเล็กอยู่ เคยคิดไหมครับ ว่าทำไมต้องเรียนหนังสือด้วย
บางคนคิด และถามพ่อแม่ไป ก็จะได้คำตอบว่า “ถ้าตอนเล็กๆ ไม่เรียนหนังสือ โตขึ้นมาต้องขัดรองเท้า”
มันเป็นการเปรียบเปรยให้รู้ว่า ต้องเรียนหนังสือให้เก่งๆ นะ จะได้ทำงานดีๆ มีเงินเยอะๆ แล้วโตขึ้นจะได้สบาย
ซึ่งเด็กหลายต่อหลายคนที่เชื่ออย่างนั้นจริงๆ ก็จะตั้งใจเรียน สอบให้ได้เกรดดีๆ ได้เข้ามหาลัยดีๆ แล้วก็ไปสมัครงานบริษัทใหญ่ๆ ดีๆ
แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานไป เพื่อให้ได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ได้เงินเดือนเยอะๆ เอาเงินไปซื้อบ้าน ซื้อรถ สร้างครอบครัว และก็สอนลูกแบบเดียวกัน

นั่นไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ นั่นคือเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่คนในสังคมควรทำกัน เพื่อให้สังคมสงบสุข
เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น อาจมีบางคนที่คิดไม่ดีหรือคิดไม่ได้ แล้วก็ทำไม่ดี ออกไปปล้นฆ่า ขายยาเสพติด เป็นปัญหาสังคม ให้คุณตำรวจต้องเหน็ดเหนื่อยอีก
ดังนั้นถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมคิดเห็นเหมือนๆ กัน ทำตามๆ กัน มันก็กลายเป็นระบบ ระเบียบ เป็นที่เข้าใจกันในสังคมว่า นี่แหละคือวิถีแห่งสังคมในยุคสมัยนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ความสวยงามของโลกใบนี้คือ คนเราไม่เหมือนกัน มีคนคิดต่าง มีคนเป็นกบฏ มีเด็กนอกคอก อยู่ร่วมกันในสังคม
บางคนอาจเริ่มคิดต่างตั้งแต่ยังเล็กว่า ทำไมฉันต้องเรียนให้เก่ง สิ่งที่เรียนในวิชาที่กระทรวงศึกษาจัดมามันไม่ได้ช่วยอะไรในชีวิตเลย มันมีอะไรบางอย่างในโลกที่น่าสนใจกว่านี้ ก็อาจจะไม่ตั้งใจเรียนบ้าง หรือบางคนก็ลาออกไปทำอย่างอื่นเลย
ส่วนบางคนก็อาจคิดต่างในช่วงกลางๆ ของชีวิต หลังเรียนจบ เข้าระบบการทำงาน แล้วก็มาคิดว่าทำไมต้องใช้ชีวิตอยู่กับบริษัทนี้ด้วย ทำไมฉันเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ ที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า ฉันอยากจะทำในสิ่งที่ฉันอยากจะทำ แล้วก็อาจจะลาออกจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง หรือไปเริ่มธุรกิจต้นเอง
หรือบางคนก็อาจมาคิดต่างในบ้านปลายชีวิตหลังเกษียณ ปลดตัวเองจากระบบแล้วก็มาทำงานอดิเรกบางอย่างที่ฉันเฝ้ารอมาทั้งชีวิต

ผลลัพธ์ที่ได้จากคนเหล่านี้อาจแตกต่างกันไป ถ้าเค้าคืออัฉริยะและโชคดี พวกเราก็จะได้ยินชื่อของเขาตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Larry Page, Mark Zuckerberg หรือผู้พัน Sanders
แต่ถ้าเค้าแค่เป็นคนธรรมดา พวกเราอาจจะไม่มีโอกาสได้รู้จักเขาเลย ถ้าเขาไม่ได้อยู่ในชุมชนระแวกบ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงานของเรา แต่เชื่อผมสิครับ เขาเหล่านั้นได้ใช้ชีวิตในแบบที่คนปกติทั่วไปไม่รู้จักกัน ซึ่งอาจจะดีหรืออาจจะไม่ดีก็ได้ แล้วแต่กรรมและโชควาสนาของคนๆ นั้น

การที่เราเป็นมนุษย์ตัวจ้อยในโลกใบนี้ งานทุกงานที่เราทำหรือเพื่อนๆ เราทำ มันมีความหมายบางอย่างกับคนบางคนเสมอ
ยกตัวอย่างเช่น
สมมติถ้าเราเป็นภารโรง การทำความสะอาดของเรา ทำให้คนที่ใช้พื้นที่นั้นๆ มีความสุข
สมมติถ้าเราเป็นวินมอเตอร์ไซค์ การพาผู้โดยสารให้ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ทำให้เขา/เธอคนนั้นได้มีโอกาสไปทำงานหรือทำประโยชน์ให้คนอื่นต่อ นี่ก็สร้างความสุข
สมมติถ้าเราเป็นโปรแกรมเมอร์ ซอฟต์แวร์ของเรากำลังไปตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาบางอย่างให้กับคนใช้ ทำให้ชีวิตเค้าคนนั้นมีความสุข
เพราะฉะนั้นถ้าเราทำหน้าที่ของเราได้ดี แปลโดยอ้อมๆ ได้ว่า เรากำลังสร้างความสุขบางอย่าง ให้กับใครบางคน ซึ่งแน่นอนรวมถึงตัวเราเองด้วย

คราวนี้งานบางงาน ปัญหาบางอย่าง มันยากเกินไปกว่าที่คนๆ เดียวจะทำได้ หรือทำให้เสร็จในช่วงชีวิตของเขา
มันจึงต้องการทีมงาน ต้องการการรวมตัวกันของคนหลายๆ คน เกิดเป็นบริษัท เป็นองค์กรต่างๆ และการอยู่ร่วมกันหลายๆ คน ก็ต้องการระบบ ระเบียบเข้ามาเช่นเคย
สุดท้ายไม่ว่าเราจะนอกคอก เป็นกบฏ หรือคิดต่างอย่างไร ถ้าหากจะทำการใหญ่ให้มีผลกระทบกับคนหลายๆ คน หรือต้องการเปลี่ยนโลก เราก็หนีระบบระเบียบไม่ได้
เรายังมีความจำเป็นจะต้องพูดคุยกับผู้คนเพื่อให้เค้าทำงานของเขาเพื่อให้งานของเราเสร็จ
ดังนั้นการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเราคือการทำความเข้าใจเหตุผลที่มาที่ไปของงานแต่ละงาน ผู้คนแต่ละคนทีได้พบเจอ

johari-window-model

มาถึงจุดนี้ผมนึกถึงหน้าต่างดวงใจตามแนวคิด Johari ครับ เป็นแนวคิดที่กล่าวถึงการทำความรู้จักเข้าใจตนเองผ่านการมองจากมุมของเราพร้อมๆ กับจากของคนอื่น ซึ่งเค้าแบ่งออกเป็น 4 ห้องหัวใจ ดังต่อไปนี้
หน้าต่างหัวใจห้องที่ 1 บริเวณเปิดเผย (Open Area) คือ ส่วนซึ่งเราและผู้อื่นเห็นในสิ่งที่เราเป็น มันคือสิ่งที่เราแสดงออกมา มันคือบุคลิกภาพ
หน้าต่างหัวใจห้องที่ 2 บริเวณจุดบอด (Blind Area) คือ ส่วนที่เราไม่รู้จักตัวเราเองว่ามีปัญหาอะไร แต่ผู้อื่นมองเห็นในสิ่งนั้น
หน้าต่างหัวใจห้องที่ 3 บริเวณซ่อนเร้น (Hidden Area) คือ ส่วนที่เรารู้ตัวเราเอง แต่พยายามปกปิดไม่ให้คนอื่นได้รู้
หน้าต่างหัวใจห้องที่ 4 บริเวณมืดมน (Unknown Area) คือ ส่วนที่ตัวเราเองและคนอื่นๆ ไม่รู้ แต่เมื่อมีประเด็น มันจะปะทุและอาจนำไปสู่การเข้าใจผิดต่างๆ

อย่างบางครั้งเราก็มีความสุขที่จะได้ร่วมงานกับคนบางคน เพราะเค้า nice นิสัยดี เพราะ compromise
บางครั้งเราก็รู้สึกอึดอัดที่จะต้องร่วมงานกับคนบางคน เพราะเค้า เนียบ นิสัยไม่ดี เพราะเอาแต่ใจตัวเองต่างๆ นานา
แต่เอาเข้าจริง ถ้าหากเราเข้าใจว่า ทำไมคนๆ นั้นถึงเป็นเช่นนี้ เช่นนั้น จากทั้งมุมมองของเราและของเขา เอา Johari window มาประยุกต์ใช้
เราจะพยายามเข้าใจว่าเค้ากำลังต้องการอะไรจากการกระทำของเค้า หากเราเรียนรู้และยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ชีวิตเราเองก็จะมีสุขขึ้นมากครับ เชื่อไหมหละ