ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้มีโอกาสดูคลิปวิดีโอนี้มาก่อน
มันเป็นการเล่นไวโอลินในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งหนึ่งที่เมืองวอชิงตัน ดีซี
ในชั่วโมงเร่งด่วนที่ทุกคนรีบไปทำงาน ชายคนหนึ่งนำบทประพันธ์ของบาคมาเล่นเป็นเวลาประมาณ 43 นาที ให้แก่ผู้คนที่ผ่านไปมาราวพันคน
ซึ่งการแสดงครั้งนั้นจบลงด้วยการมีคนให้เงินเค้าประมาณ 20 คนนับรวมกันได้ 32 ดอลลาร์
Uploaded on Apr 10, 2007
แต่เบื้องหลังนี่คือการทดลองของหนังสือพิมพ์ The Washington Post เพื่อทดสอบ การรับรู้ การจัดลำดับความสำคัญ ของผู้คน
อันที่จริงชายคนนี้ คือ Joshua Bell หนึ่งในนักไวโอลินที่เก่งที่สุดในโลก เขาเลือกเล่นเพลงที่ยากและไพเราะที่สุดบทหนึ่ง ด้วยไวโอลินมูลค่าหลายล้านดอลลาร์
ซึ่งเมื่อ 3 วันก่อนหน้าที่เขาจะมาแสดงในรถไฟฟ้าใต้ดินนี้ บัตรคอนเสิร์ตที่บอสตันของเขาขายเกลี้ยงในพริบตาที่ราคาบัตรเฉลี่ยใบละ 100 ดอลลาร์ และเพลงที่เล่นวันนี้ก็เป็นเพลงเดียวกับในคอนเสิร์ตในวันนั้น
มนุษย์เราไม่เห็นค่าสิ่งที่เราไม่เห็นค่า ก็ง่ายๆ แค่นั้นหละครับ
หรือ… จนกว่า จะมีใครบางคนมาบอกกับเขาว่า มันมีค่า นะ
จากทฤษฎีของ Rogers ที่เรียกว่า Technology Adoption Life Cycle (TALC)
เค้าได้อธิบายกระบวนการในการกระจายตัวของนวัตกรรมเอาไว้ว่า โลกใบนี้สามารถแบ่งกลุ่มคนออกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1) Innovators
2) Early adopters
3) Early majority
4) Late majority
5) Laggards
เมื่อใดที่เราสามารถคิดค้นและสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เราต้องการแนวร่วมครับ
คนทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ในสังคมจะถูกเรียกว่าคนบ้า แต่ถ้าบ้าหลายคนเรียกว่าแนว ถ้าแนวเยอะๆ จะมีแนวทางที่ชัด
ดังนั้นเราต้องการผู้ตามที่จะมาคอยบอกคนอื่นๆ ว่าสิ่งที่เราคิดหนะมันสุดยอดแค่ไหน จากใจจริงของเขา
เราต้องหา Innovators และ Early adopters ให้เจอ ซึ่งคน 2 กลุ่มนี้จะพาผลงานของเราข้ามหุบเหว Chasm แห่งความสิ้นหวังไปได้
และก็แน่นอนไม่ค่อยบ่อยนักที่คนกลุ่มนั้นจะเป็นคนในครอบครัว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าคาดหวังว่า พ่อแม่จะเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้าใจครับ ไม่ต้องเสียใจ
พ่อแม่คือคนที่หวังดี ที่อยากจะเห็นลูกของตัวเองประสบความสำเร็จ แต่อย่าเอาความหวังดีของท่านมาปลอบใจตัวเราเองไปวันๆ
ผมโชคดีมากที่พ่อแม่ไม่เข้าใจว่าผมทำอะไรอยู่ แต่ก็ไม่ได้ห้าม ไม่ได้ขัดขวาง และก็ปล่อยให้ทำไป ให้ใช้ชีวิตของตัวเองไป
ดังนั้นผมต้องพยายามสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ให้กับผลงานที่ผมทำ
ผมพยายามค้นเข้าไปในตัวของตัวเองว่า ผมสามารถทำประโยชน์อะไรให้ใครได้บ้าง
บ่อยครั้งที่สิ่งที่ผมทำก็ไม่ได้ถูกใจใคร บางครั้งโชคดีหน่อยมีคนด่าก็เอามาปรับปรุง แต่ถ้าโชคร้ายหน่อยบางคนก็ละทิ้งเพิกเฉยเราไปอย่างงั้น
ผมถือเสมอว่าคนที่ด่าเราหนะ ต้องขอบคุณเค้า เพราะคนส่วนใหญ่ไม่กล้าด่าเราหรอก เค้าเกรงใจเราที่เราเป็นเรา
และมันยากมากที่เราจะมองเห็นตัวเองได้ชัดๆ เพื่อนที่แท้จริงคือกระจกที่คอยสะท้อนให้เราได้เห็นอีกหลายๆ มุมที่เราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตัวเอง
จะว่าไปคนเราส่วนใหญ่คบกันก็ดูกันจากภายนอก เห็นประโยชน์ของเราก็ต่อเมื่อเค้าได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งมันไม่ได้ผิดอะไรนะครับ
หากลองย้อนกลับไปที่ตัวอย่างตอนต้นเรื่อง การแสดงดนตรีที่สถานีรถไฟฟ้าครั้งนั้นไม่ได้มีค่าอะไร
เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้กำลังอยู่ในภาวะที่จะมาเห็นคุณค่าของนักดนตรี เครื่องดนตรี หรือบทเพลง ตรงจุดนั้น มันผิดที่ ผิดเวลา
แต่เชื่อไหมครับในทางกลับกัน ผมสมมติว่าเอานักดนตรีไม่ต้องมีชื่อมากหรอกมาแสดง แล้วหาหน้าม้ามามุงเยอะๆ
มันจะสร้างปรากฎการณ์ที่ทำให้คนที่ไม่ทันได้สังเกตเห็นคุณค่า ได้กระโดดเข้ามาร่วมวงชื่นชมด้วยเหมือนกัน
ยกตัวอย่าง Flashmob งานหนึ่ง ที่เอา Ode an die Freude ( Ode to Joy ) Beethoven Symphony No.9 มาเล่นกลางถนน
เริ่มต้นจากคนคนเดียว แล้วพอมีคนมุง ก็เพิ่มคนเล่นเข้าไป ก็ยิ่งทำให้คนสนใจ แล้วก็มีคนมุ่งมากขึ้น แล้วก็เพิ่มคนเล่นมากขึ้นไปอีก
มองเผินๆ เหมือนการจัดฉาก แต่ผมเชื่อว่ามนุษย์เราเป็นเช่นนั้นครับ อะไรที่มีคนเยอะๆ มันมีพลังแยะครับ
Published on May 31, 2012
ยังไงการอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ การสร้างความยิ่งใหญ่คือการที่เป็นที่ยอมรับ และการที่คนจะยอมรับเราก็ต่อเมื่อมีคนอื่นๆ ยอมรับเราก่อน
ดังนั้นลองหาใครที่จะมาเป็นสาวก คนที่จะเปลี่ยนเราจากคนบ้าให้เป็นศาสดา
แล้วก็เพิ่มพลังมันเข้าไปให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไป ก่อ mob สร้าง community
แล้วการแสดงบทชีวิตของเราจะยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างอย่างที่ไม่คาดฝันครับ
Leave a Reply