ยิ้มหน่อยนะ

ผมเป็นคนชอบเล่นกับเด็กครับ โดยเฉพาะเด็กอายุระหว่างสี่เดือนถึงหนึ่งขวบ
ทำไมหรือครับ เพราะผมรู้ว่า ถ้าผมยิ้ม เค้าจะยิ้มตอบ ถ้าผมเล่น เค้าก็จะเล่นด้วย
ไม่ว่าเจ้าตัวเล็กจะเป็นชายหรือหญิง คนไทยหรือต่างชาติ ผมทดลองมาเยอะแล้ว
และผลลัพธ์ก็สำเร็จแทบทุกครั้ง จำไม่ได้เลยว่ามีครั้งไหนที่ทำให้เด็กยิ้มไม่ได้ (จะหาว่าคุย)

เจ้าตัวเล็กในวัยไร้เดียงสาที่เปรียบเสมือนผ้าขาว ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร ก็แค่ใครมาดี ก็ดีด้วย
ดังนั้น สำหรับผมเมื่อเจอเด็กๆ น่ารัก ก็แค่รู้สึกว่าชอบ อยากเล่นด้วย แล้วก็พุ่งเข้าไปหาเลย แค่นั้นจริงๆ
ถ้าเรามีเจตนาดีที่ส่งไปถึงใจพวกเค้า แล้วเค้าสัมผัสได้ ก็จะตอบสนองกลับมาเป็นรอยยิ้มให้เราได้ชื่นใจ
แต่… บางทีเรื่องง่ายๆ แบบนี้มันกลับกลายเป็นเรื่องที่ so complicated มากสำหรับผู้ใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ
บ่อยครั้งที่เราไม่กล้ายิ้มให้คนอื่นก่อน เพราะกลัวเค้าไม่ยิ้มตอบ หาว่าเราบ้า
บ่อยครั้งที่เราทำหน้าบึ้งใส่เพื่อนร่วมงาน เพราะไม่รู้ว่าเค้าคิดยังไงกับงานของเรา เลยต้องวางท่าใส่กันและกัน
และบ่อยครั้งที่เราโวยวาย ตีโพย ตีพาย ใส่เจ้านาย เพราะกลัวเจ้านายตำหนิเราเลยชิงลงมือก่อน
ใครเป็นแบบนี้บ้าง สารภาพมาซะโดยดีครับ

ผมอยากบอกว่า เพราะเราเป็นผู้ใหญ่จึงมีการ์ดมีภูมิป้องกัน
การกระทำบางอย่างของเรา ทำไปโดยอัตโนมัติจากประสบการณ์ การผ่านร้อน ผ่านหนาว ของแต่ละคน
เราไม่ได้ตั้งใจทำตัวไม่เป็นมิตรกับใครหรอก แต่เรากลัวจะเจ็บปวด กลัวคนอื่นไม่เป็นมิตรกับเรา เราจึงแสดงออกไปอย่างนั้น แล้วผลลัพธ์มันก็สะท้อนกลับมาหาเราในแบบที่เรากลัว และเราก็คิดว่า อืมมม มันเป็นอย่างนั้นแน่ๆ สรุปเราเลยต้องตั้งการ์ดกันต่อไป

เพราะเราเป็นผู้ใหญ่ เราจึงไม่ได้คิด และทำอะไรแบบเด็กๆ
ความซับซ้อนที่ทำให้โลกใบนี้วุ่นวายก็คือ เราคิดไปเอง ก่อนที่เรื่องราวจะเกิด เราเอาสิ่งที่อยู่ในหัวเราไปสร้างสิ่งที่เราอยากจะได้ยินได้เห็นได้ฟัง และมันกลายเป็นความลำบากให้กับคนที่เรากำลังติดต่อสื่อสารอยู่ด้วย
เคยสังเกตไหมครับว่า วันใดที่เราหัวเราะสนุกสนานไปกับโลกใบนี้ คนรอบข้างจะยินดีปรีดากับเราด้วย
และหากวันใดเราหมองเศร้า ผู้คนรอบข้างก็จะเหงาหงอยเศร้าสร้อยไปกับเราเช่นเดียวกัน
คนทุกคนเป็นกระจกให้แก่กันและกันครับ ในวันที่เราชัดเจนในความรู้สึกของตัวเราเอง เราถ่ายทอดมันออกไปแล้วผู้คนก็จะตอบสนองกลับมาเช่นนั้น

แต่ในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ส่วนใหญ่เราไม่แน่ใจกับตัวเอง และก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราเลยป้องกันตัวเองเอาไว้ก่อน เรากลัวคนอื่นทำเราเจ็บ เราเลยไปทำเค้าเจ็บก่อน (โดยไม่ตั้งใจ)
ยกตัวอย่างนะครับ
สมมติจากการทำงานร่วมกันกับเพื่อนคนหนึ่ง เค้าไม่เคยทำงานออกมาได้ดังใจเราเลย
วันนี้มานั่งฟังเค้า present งาน เราก็จะคิดไปก่อนเลยว่ามันก็คงจะไม่ได้ดีอะไรแน่นอน
แล้วด้วยอากัปกิริยาท่าทาง อวัจนภาษาที่แสดงออกไปมันก็ส่อสื่อไปทางนั้น ไปกดดันให้เขารู้สึกไม่ดี
เมื่อคนพูดเห็น รับรู้ ก็เกิดความประหม่า กระอักกระอ่วน แล้วมันก็ออกมาห่วยจริงๆ
สุดท้ายเราก็คิดว่า เห็นไหมหละ เราถูก เรารู้อยู่แล้วว่ามันต้องเป็นแบบนี้ ไม่น่าเสียเวลาไปฟังมันเลย
และมันก็จะเข้าลูปเช่นนั้นตลอดไป ถ้าไม่มีใครยอมกระโดดออกมาจากห่วงโซ่ความคิดลักษณะนี้
เชื่อไหมครับ ในทางตรงกันข้าม ถ้าคนฟังให้กำลังใจคนพูด แสดงออกให้เห็นด้วยสีหน้า แววตา ท่าทาง ที่ใคร่อยากจะรู้ อยากจะเห็น สิ่งที่เค้ากำลัง present ผลลัพธ์มันอาจจะออกมาตรงกันข้ามก็ได้ (ลองดูไหมครับ)

อีกตัวอย่างนะครับ
ถ้าเราเจอผู้ใหญ่ท่านนึง ท่านเป็นคนดูสุขุมจริงจัง น่าเกรงขามมาก
ท่านไม่เคยยิ้มให้เราเลย เดินผ่านมาผ่านไปทีไร เราก็จะรู้สึกว่าอยากจะอยู่ให้ไกลๆ หน่อยจะได้ปลอดภัย
แต่อยู่มาวันนึง สมมติท่านยิ้มให้ระหว่างกำลังล้างมืออยู่ในห้องน้ำ และทักทายเรียกชื่อเราอย่างเอ็นดู
ภาพในหัวของเราที่มีต่อผู้ใหญ่ท่านนี้จะเปลี่ยนไปทันที ครั้งหน้าเราอาจกล้าทักทาย หรือเดินไปนำเสนองานที่ห้องท่านอย่างสบายใจขึ้น
เรื่องของเรื่องมันก็แค่สิ่งที่มีอยู่ในหัวของเรา ทำให้เราประพฤติปฏิบัติออกมาแบบนี้ และมันก็จะส่งผลในแบบที่เราคิดว่ามันจะเป็นเช่นนั้น
แต่ถ้าวันใดที่เราเปลี่ยนความคิดของเรา เราก็จะเลือกที่จะทำในอีกลักษณะหนึ่ง และผลลัพธ์มันก็จะตามมาในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

พรุ่งนี้นะครับ ตอนไปทำงาน ถ้าอยากให้เพื่อนร่วมงานยิ้มให้เรา เราต้องยิ้มให้เค้าก่อน
ถ้าอยากให้ present งานออกมาดี ก็ต้องเตรียมตัวไปดีๆ และในหัวคิดว่า มันต้องออกมาดีแน่ๆ เลย พยายามให้เต็มที่ ข้อมูลต้องพร้อม ใจต้องพร้อม
และสุดท้ายถ้าอยากให้ทุกคนรักเรา เราต้องมอบความรัก ความหวังดีให้คนอื่นก่อนครับ

ผมรักุทกคนนะ จุ๊บๆ

 

Leave a Reply