เงินทุนอยู่ที่ไหนบ้าง

ทำธุรกิจต้องใช้เงิน ทำ Startup ก็ต้องใช้เงิน บนโลกใบนี้มีเงินอยู่มากมาย มีแหล่งทุนที่รอเราไปแสวงหา และนี่คือ checklist คร่าวๆ กับแหล่งเงินที่เราสามารถใช้ในการทำ Startup ได้ครับ เงินกำลังจะหมุนไปสู่ปวงชน

Bootstrapping หรือเงินจากรองเท้าบูธตัวเองตามตำราฝรั่ง
พูดง่ายๆ มันอาจจะเป็นเงินก้อนแรกที่ใช้ในช่วงเริ่มต้น ช่วงที่ทุกอย่างยังอาจจะเป็นแค่ไอเดียที่ต้องการการพิสูจน์ เรามีความจำเป็นจะต้องใช้เงินก้อนนี้เพื่อจ้างคน ทดลอง สร้างต้นแบบ แล้วไปขายลูกค้า หรือหา partner ซึ่งมันอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นเงินก้อนใหญ่นัก แต่ถ้าขายได้ เงินที่เข้ามาจะมาต่ออายุสิ่งที่เรากำลังทำให้ก้าวไปยังขั้นถัดไป ซึ่งหากเราใช้แค่เงินของเราก็แปลว่าเราคือเจ้าของสิ่งที่เรากำลังทำทั้งหมด 100% เลยครับ

3F
อีกแหล่งเงินทุนใกล้ตัวที่ขึ้นอยู่กับบุญพาวาสนาของแต่ละคน
F ตัวแรก Family ใครเกิดมาอยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวย ก็อาจจะได้เงินก้อนใหญ่หน่อย แต่จะได้ง่ายหรือยากก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ อยากสอนเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าปล่อยตามใจ มาขอแล้วได้เงินไป เงินก้อนนั้นอาจจะไม่มีค่าอะไร แต่ถ้าได้มายากต้องเล่าแล้วเล่าอีก ตัวพิสูจน์ให้พวกท่านเห็นว่าเราเอาจริงนะ เงินที่ได้มาก็จะความหมายมีคุณค่ามากขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัวหละครับ
F ตัวที่สอง Friend ใครมีเพื่อนดี เพื่อนรวย ช่วยท่านได้ แต่ถ้าเอาเงินเพื่อนไปเจ๊ง หรือโกงกันเอง อันนี้ก็คงจะคบกันได้ไม่นาน นับเป็นแหล่งเงินที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนครับว่าเราสนิทกับเพื่อนแค่ไหน ความสัมพันธ์เป็นอย่างไร หรืออยากให้อนาคตเป็นอย่างไร ต้องชั่งน้ำหนักดีๆ ก่อนที่จะไปชวนเพื่อนมาหุ้นนะครับ คุยกันให้ดีก่อนเริ่ม เพราะถ้าพลาดไปแล้วเราอาจจะเสียเพื่อน หรือเสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้ครับ
F ตัวสุดท้าย Fool คือไอ้โง่ที่ไหนก็ได้ที่ยอมเอาเงินมาลงให้เรา ในทางกลับกันเค้าอาจจะไม่โง่นัก แต่เห็นอะไรบางอย่างในตัวเราหรือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ (555 อันนี้มันเป็นโจ๊กของฝรั่งครับ อย่าซีเรียส)

Grant เงินทุนให้เปล่า
ก็มีหลายหน่วยงานภาครัฐที่มีโครงการสนับสนุนธุรกิจเกิดใหม่ อย่างในเมืองไทย ที่เห็นๆ กันอยู่ ก็จะมี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือบางครั้งก็มีบริษัทเอกชนจัดแข่งขันประกวดเวทีโน่นเวทีนี้และให้เงินรางวัลแก่ผู้ชนะด้วยครับ เราก็ต้องคอยติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา

Major customer เงินก้อนแรกจากลูกค้ารายใหญ่
อันนี้ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่ เราจะเอาไอเดียที่เป็นกระดาษหรือยังอยู่ในอากาศไปขายฝันให้กับลูกค้าก่อน ไปนำเสนอว่า product เสร็จแล้วลูกค้าจะได้อะไร ซึ่งเอาเข้าจริงก็ต้องใช้ connection พอสมควรในการได้เข้าไปนำเสนอเพราะเราเพิ่งจะเริ่มต้น ยังไม่มีชื่อเสียง มันก็เป็นความเสี่ยงของทางลูกค้าอย่างหนึ่งว่าจ่ายเงินไปแล้วจะได้ product ออกมาอย่างที่ต้องการไหม เป็นเกมวัดใจครับ

keyboard

Crowdfunding เงินมหาชน
เป็นวิธีการหาเงินรูปแบบใหม่ที่เป็นการระดมทุนจากผู้คนหลายๆ คน คนละเล็กคนละน้อย โดยอาจจะแลกกับสินค้าตัวอย่าง หุ้น หรือเป็นหนี้ ก็แล้วแต่กติกาของแต่ละแห่ง ยกตัวอย่างผู้ให้บริการระดมทุนลักษณะนี้ที่เป็นที่รู้จักกันระดับโลก เช่น Kickstarter, Indiegogo, และ causes เป็นต้น
ซึ่งคนไทยเราที่เคยไประดมทุนใน Idiegogo ก็มี Drivebot อุปกรณ์ช่วยดูแลรถยนต์ผ่านสมาร์ทโฟน ที่ได้เงินไปกว่า $100,000 หรือ 3 ล้านบาท จากที่ตั้งใจตอนแรกตั้งเป้าไว้แค่ $35,000 เท่านั้น โดยสิ่งที่เขาแลกกับเงินที่ได้มา คือ
$5 ให้ สติ๊กเกอร์
$10 ให้ สติ๊กเกอร์ และใส่รูปผู้สนับสนุนในเว็บไซต์
$20 ได้ พวงกุญแจ และใส่รูปผู้สนับสนุนในเว็บไซต์
$60 ได้ สินค้าตัวอย่างไปใช้ก่อน
เป็นขั้นบันไดไป ซึ่งวิธีการนี้ดีอยู่อย่างคือ เป็นการเช็คเสียงของผู้บริโภคด้วยว่ามีคนสนใจมากน้อยแค่ไหน ยิ่งคนสนใจมากก็มีเปอร์เซ็นต์ว่าทำเสร็จออกมาแล้วจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่าทีเดียวครับ

Angel investor นักลงทุนใจเทวดาว่างั้นเถอะ
ในที่นี้อาจจะเป็นสถาบันหรือหน่วยงานอย่าง incubator หรือเป็นคนรวยคนหนึ่งกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการลงทุนใน Startup ซึ่งส่วนใหญ่สาเหตุที่ลงทุนก็เพราะเขารู้เข้าใจในสถานะการณ์ของเรา และรู้จักหรือมี connection มีคำปรึกษาต่างๆ ให้เราได้ รับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ในเมืองไทยเรายังไม่ค่อยมี angel มากนัก
การลงทุนในช่วงนี้เราจะเรียกว่า Seed round ในอเมริกาเงินลงทุนก้อนนี้จะอยู่ที่ตั้งแต่ $20,000 – $200,000 หรือ ประมาณ 6 แสน ถึง 6 ล้านบาท เพื่อแลกกับหุ้นไม่เกิน 20% แล้วแต่การประเมินมูลค่าธุรกิจและการตกลงกัน
สมมติ นักลงทุนยอมลง 3 ล้านบาทเพื่อแลกกับหุ้น 20% แปลว่า เขาให้มูลค่ากับบริษัทเราที่ 15 ล้านบาท

Venture Capital หรือ VC
นี่คือการลงทุนแบบจริงจังในรูปแบบธุรกิจลงทุนในธุรกิจ กว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้เราต้องพิสูจน์ผลงานมาพอสมควร มีลูกค้า มีผู้ใช้ ในมือให้เค้าเห็น ก็จะแบ่งเป็น Series A, B, C, D (ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้การลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดคือ การลงทุนใน GrabTaxi ที่สามารถระดมทุน Series D ได้ที่ $250,000,000 จาก SoftBank Corp)

IPO (Initial Public Offering)
คือการเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรก มันเป็นการระดมทุนที่จะเปลี่ยนธุรกิจไปเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อปี 2014 Alibaba คืออีคอมเมิร์ซจากจีนที่ได้ IPO ไปในราคาหุ้นละ $68 หรือประมาณ 2,100 บาท (ถือเป็นการ IPO ที่สูงที่สุดในประวัติการณ์ของสหรัฐ) ทำให้ Alibaba สามารถเพิ่มทุนได้มากกว่า 2.18 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 6.97 แสนล้านบาท ทำให้กลายเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1.68 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.37 ล้านล้านบาท) ซึ่งมันคือมูลค่าที่สูงกว่าบริษัทอเมริกันอย่าง eBay, Twitter และ LinkedIn รวมกันซะอีก
ในปี 2015 นี้ ก็จะมี Startup หลายรายทยอยเข้าสู่กระบวนการ IPO เพิ่มขึ้นอีก เช่น

  • Airbnb ผู้ให้บริการเป็นตัวกลางในการเช่าห้องส่วนตัว เปิดโอกาสให้คนทั่วๆ ไป แบ่งห้องว่างในบ้าน หรือ อพาร์ทเม้นท์ ของตัวเองให้คนอื่นเช่า เสมือนโรงแรม ซึ่งมีบริการอยู่แล้วกว่า 30,000 เมืองทั่วโลก Airbnb ถูกตีมูลค่าไว้อยู่ที่ $10 billion
  • Box ผู้ให้บริการ Cloud storage สำหรับธุรกิจได้ยื่นเรื่อง IPO แล้ว ที่ $250 ล้าน เมื่อปี 2014
  • Dropbox อีกหนึ่งในผู้ให้บริการที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ที่อนุญาตให้อัพโหลด รูปภาพ, เอกสาร, วิดีโอ หรือไฟล์ชนิดต่างๆ ได้ผ่านการระดมทุนมาแล้ว $350 ล้าน
  • Pinterest ผู้ให้บริการภาพดิจิตอลบน pinboard ที่ได้รับการตีมูลค่าที่ $5 billion ได้เคยระดมทุนมาแล้วกว่า $750 ล้าน จาก VC
  • Uber ผู้ให้บริการ taxi ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก เป็นบริษัทที่โตอย่างรวดเร็วมาก และมีประเด็น (มีเรื่องกับรัฐบาล) ในการให้บริการเกือบทุกประเทศที่เข้าไป พวกเขาเคยได้ระดมทุนมาแล้ว $1 billion จาก VC และได้รับการตีมูลค่าอยู่ที่ $41 billion เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ผมอยากขอจบบทความนี้ด้วยคำพูดของ Tony Hsieh CEO ของ Zappos ที่เคยพูดว่า “Chase the vision, not the money, the money will end up following you.” หรือ จงไล่ตามวิสัยทัศน์ของคุณ อย่าตามเงิน แล้วเงินจะมาหาคุณเองในที่สุด ขอให้ Startup ทุกคนโชคดีกับการเดินทางครั้งนี้ครับ

Leave a Reply