ภาษี

“ทำไมพี่ต้องหักภาษีหนูด้วยคะ”
“หนูทำอะไรผิดหรือ?”
“เออ… น้องครับ ว่าด้วยการเป็นพลเมืองดีของประเทศ ถ้ามีรายได้เค้าต้องเสียภาษีให้ภาครัฐเอาไปใช้ทำประโยชน์ต่อนะ แล้วหัก ณ ที่จ่าย ก็แค่การเอาเงินส่วนเล็กๆ ของรายรับแค่ 3% ไปยื่นภาษีให้ก่อน ซึ่งถ้าปลายปีคำนวณเสร็จยอดไม่ถึง กรมสรรพากรเค้าก็คืนเงินให้นะ”
“แล้วหนูจะมั่นใจได้ยังไงคะว่าพี่ไปจ่ายจริง แล้วรัฐบาลเอาเงินหนูไปทำอะไรอะ?”
“มันเป็นหน้าที่ของบริษัทที่เวลาจ้างงานคนแต่ละเดือนต้องหัก ณ ที่จ่ายแล้วไปยื่น ภงด.3 ให้กรมสรรพากร ซึ่งบริษัทก็จะออก หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรให้น้องเก็บไว้เป็นหลักฐานครับ” (ชีวิตจริงใครจะพูดแบบนี้ฟะ ยาวไป…)
“ส่วนรัฐบาลจะเอาไปใช้ทำอะไรนั้น เดี๋ยวนี้เราสามารถตรวจสอบได้ที่ ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐชื่อ ภาษีไปไหน สามารถสืบค้นชื่อหน่วยงาน บริษัท หรือโครงการต่างๆ ด้วยคำค้นหา (keyword) แสดงภาพรวม (dashboard) งบประมาณที่ตั้ง งบประมาณที่ใช้ จำนวนโครงการรวม และอื่นๆ อีกมาก โดยมีการอัพเดทข้อมูลทุกๆ เดือนครับ”

Load Android App
Load iOS App
ชม website

Full stop ครับ. เล่าแบบนี้แล้วเหนื่อยพอดีไม่ใช่นักเขียนบท ขอเล่าเรื่องแบบปกติที่เขียนๆ มาแล้วกันนะ

คือสาเหตุที่อยากเล่าเรื่องนี้เพราะหลายคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีน้อยมาก ไม่ว่าจะเพื่อนๆ ที่หุ้นกันทำบริษัท หรือน้องๆ ที่มารับงานไปทำ ซึ่งมันก็จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกันบ่อยครั้ง บางทีเรื่องเล็กนิดเดียว แต่เล่นเอาหัวเสียเหมือนกัน ว่าแล้วเลยขอรวบรวมข้อมูลเท่าที่พอจะทราบมาสรุปเป็นบทความนี้นะครับ

เริ่มต้นง่ายๆ เลย การอยู่ในปรเทศไทยมีภาระภาษีที่เราต้องเสียให้กับสรรพากรอยู่ 2 ลักษณะคือ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม

ภาษีทางตรง คือภาษีที่รัฐเรียกเก็บได้จากประชาชนที่มีรายได้ และการประกอบกิจการทางการค้า บริการ หรืออุตสาหกรรมต่างๆ
ภาษีทางอ้อม เป็นภาษีที่เก็บจากประชาชนเมื่อซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หรืออีกอย่างเรียกว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT นั่นเอง ที่มันอ้อมเพราะคนที่เก็บให้รัฐคือผู้ประกอบการ แล้วเค้าก็จะไปคำนวณภาษีซื้อขายหักกลบลบหนี้ก่อนเอาไปเสียให้สรรพากรอีกทีนึง

ส่วนภาษีทางตรง เบื้องต้นเลยก็สามารถแบ่งเป็น ภาษีบุคคลธรรมดา และ ภาษีนิติบุคคล

ภาษีบุคคลธรรมดา ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าสำหรับคนธรรมดาทั่วไป ยกเว้นผู้เยาว์และคนที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ซึ่งมันก็อาจจะแบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภท คือ ‘มนุษย์เงินเดือน’ กับ ‘อื่นๆ’

‘มนุษย์เงินเดือน’ ถ้าโสดและมีเงินมากกว่า 50,000 บาทต่อปี (เน้นว่าต่อปีนะครับ) หรือถ้าสมรสก็คือเกิน 100,000 ต่อปี ส่วน ‘อื่นๆ’ คือ คนที่มีเงินนอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้ประจำทุกเดือน ถ้าโสดมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปี ถ้าสมรสมีมากกว่า 60,000 บาทต่อปี ทั้งหมดคือ ผู้มีภาระหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามกฎหมาย ไม่ว่าจะต้องเสียภาษีหรือไม่ก็ตาม! เพราะถ้าไม่ไปยื่นแบบ เราจะต้องเสียค่าปรับ 200 บาทคร๊าบ

คราวนี้ข่าวดีคือ สำหรับปี 2561 นี้ (การยื่นภาษีปี 2560) คนที่มีเงินเดือนไม่ถึง 26,000 บาท (ต่อเดือน) ไม่ต้องเสียภาษีนะจ๊ะ (เพราะหลังจากหักลดหย่อนต่างๆ แล้วรัฐเค้ายกให้ ถือว่ามีรายได้น้อย)

ส่วนอัตราภาษีบุคคลธรรมดาบ้านเรา เค้าเรียกว่าเรทก้าวหน้าคือ ยิ่งมีเงินมากก็ต้องเสียภาษีมาก ดังต่อไปนี้

รายได้ 0 – 150,000 บาท ยกเว้นภาษี
150,001 – 300,000 บาท เสีย 5%
300,001 – 500,000 บาท เสีย 10%
500,001 – 750,000 บาท เสีย 15%
750,001 – 1,000,000 บาท เสีย 20%
1,000,001 – 2,000,000 บาท เสีย 25%
2,000,001 – 5,000,000 บาท เสีย 30%
5,000,001 บาท ขึ้นไป เสีย 35%

โดยมีวงเงินหักค่าใช้จ่าย เหมาจ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

ผู้มีเงินได้ ลดหย่อน 60,000 บาท
คู่สมรส ลดหย่อน 60,000 บาท
บุตร ลดหย่อน 30,000 บาท/คน + การศึกษาบุตร 2,000 บาท/คน

ซึ่งสำหรับคนทำธุรกิจ ปีหนึ่งต้องยื่น 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด.94 เป็นการประเมินครึ่งปี และ ภ.ง.ด.90 เป็นการยื่นประจำปี (ซึ่งผมจะลืมยื่น 94 เป็นประจำ) ส่วนคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน (รายได้ทางเดียว) ก็จะยื่นแค่ ภ.ง.ด.91 ปีละครั้งเท่านั้น

ถัดมา ภาษีนิติบุคคล สำหรับบริษัทห้างร้านต่างๆ มันก็จะมีภาระหน้าที่เยอะขึ้นมาอีกพอสมควรเลยหละ มานับด้วยกันเลยนะครับ

1. ถ้าจ้างพนักงานประจำ ก็จะมีหน้าที่เสียภาษี ภ.ง.ด. 1
2. ถ้าจ้างบุคคลธรรมดา ก็จะมีหน้าที่เสียภาษี ภ.ง.ด. 3
3. ถ้าจ้างนิติบุคคล ก็จะมีหน้าที่เสียภาษี ภ.ง.ด. 53
4. ถ้ามีการจดทะเบียน VAT ตอนขายออกทุกครั้งก็ต้องบวกราคาเพิ่มเข้าไป 7% (เรียกภาษีขาย) ส่วนตอนซื้อของมาถ้าซื้อจากร้านที่มี VAT (เรียกภาษีซื้อ) ก็จะเอาซื้อขายมาหักลบกัน ถ้าขายเยอะกว่าก็ต้องนำส่งส่วนเกินให้สรรพากรเป็น ภ.พ.30 สำหรับการทำธุรกิจภายในประเทศ ส่วนการซื้อขายกับต่างประเทศก็ยื่น ภ.พ.36 ซึ่งแม้เดือนไหนไม่ซื้อไม่ขายก็ต้องยื่นแบบเป็น 0 อยู่ดี
5. รายการที่ 1-4 นี่แค่งานประจำแต่ละเดือนนะครับ ส่วนภาษีประจำปีก็มีเหมือนบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจ คือ ยื่น 2 ครั้ง ครึ่งปีใช้ ภ.ง.ด. 51 และภาษีประจำปีใช้ ภ.ง.ด. 50

ที่เล่ามาทั้งหมดแค่ความรู้เบื้องต้นนะครับ ถ้าอยากศึกษามากกว่านี้ ผมแนะนำให้ลองติดตามเพจ Facebook น่าสนใจ ชื่อ TaxBugnoms และเว็บไซต์ที่ให้บริการระบบคำนวณภาษีสำหรับวางแผนภาษีชื่อ iTAX กันดูนะครับ

 

Leave a Reply