อะไรเอ่ยไม่ว่ายาจกหรือเศรษฐีทุกคนล้วนมีเท่ากัน
ติ๊กต๊อก
ติ๊กต๊อก
ติ๊กต๊อก
ใช่แล้วครับ สิ่งนั้นคือ “เวลา” ไง
มีกันวันละ 24 ชั่วโมง เท่าเทียมกัน
แต่ความต่างอยู่ที่การใช้เวลาในแต่ละวัน
เราใช้เวลาแลกเงิน และเอาเงินไปแลกความสะดวกสบายเพื่อให้มีเวลาไปทำสิ่งที่อยากจะทำมากขึ้นได้
บางคนยอมเสียเวลา เดือนละ 20 วัน วันละ 8 ชั่วโมง เพื่อแลกกับเงิน 15,000 บาท (เฉลี่ยวันละ 750 บาท)
บางคนทำงานได้เงินตามเรทค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 300 บาท ได้เงินตามวันที่ไปทำงาน
ส่วนบางคนแค่พูดไม่กี่นาที อาจจะได้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนหรือเป็นล้านก็มี
ด้วยกลไกของสังคมในปัจจุบันทำให้เราแต่ละคนทำงานได้เงินไม่เท่ากัน มันคือโอกาสที่ทุกคนต้องไขว่คว้ากันเอง
แล้วพอได้เงินมา ก็อยู่ที่แต่ละคนว่าจะใช้มันทำอะไร
อยากได้อะไรเร็วๆ ก็ไปซื้อของแถว Convience store ใกล้บ้านสิ
อยากกินอะไรเร็วๆ ก็ไปกิน Fast food ใกล้ๆ สิ
อยากไปไหนเร็วๆ ก็จ่ายค่าวินมอไซค์ ค่าแท็กซี่ หรือจะซื้อรถ แล้วเอาเงินขึ้นทางด่วน
หรือตอนใกล้จะตาย มีเงินก็อาจจะสามารถยื้อชีวิตออกไปได้อีกหน่อย
แล้วอย่างงี้ใครหละว่า “เวลา” ซื้อไม่ได้
การใช้ชีวิตของเราในแต่ละวัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินและเวลา มีความสัมพันธ์กัน
แล้วจริงๆ ค่าของเวลา มันอยู่ที่เท่าไร?
มีคนเคยบอกว่า
ตอนเด็กๆ ไม่มีเงิน แต่มีเวลา
ตอนเริ่มต้นทำงาน ทั้งไม่มีเงิน และไม่มีเวลา
พอแก่ตัวลงสักหน่อย อาจจะมีเงิน แต่ไม่มีเวลา
และก็ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่ง จะทั้งมีเงิน และมีเวลา
คำว่า “ไม่มีเวลา” เป็นแค่ข้ออ้างสำหรับคนที่ไม่สามารถจัดการบริหารเวลาได้ดี
ส่วนคนที่ทำได้เพราะเขารู้ว่าทุกวินาทีที่ผ่านไป เวลากำลังฆ่าทุกสรรพสิ่งอย่างไม่เลือกหน้า
ในชีวิตคนเรามีเรื่องราว หลายอย่างผ่านเข้ามา ทั้งสุขเศร้าเหงาและรัก
ตอนมีความสุข เวลามักผ่านไปอย่างรวดเร็ว
ตอนกำลังเศร้า ทำไมเวลาช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้า
เราไม่สามารถเก็บทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับตัวเองได้ทั้งหมด เรายังมีความจำเป็นที่จะต้องเลือกทำในสิ่งที่มีความสำคัญ
หากเปรียบชีวิตเหมือนโถแก้วใบหนึ่ง แล้วมีหินก้อนใหญ่ กรวดก้อนเล็ก และเม็ดทรายที่เล็กละเอียดกว่า จะทำยังไงให้สามารถใส่ทุกอย่างลงในโถได้
เราจะพบว่า หากใส่ทรายไปในโถก่อน ตามด้วยกรวด จะทำให้โถเต็ม และไม่สามารถใส่หินเข้าไปมากพออย่างที่อยากจะใส่ได้
ตรงกันข้ามหากใส่ของใหญ่ก่อนแล้วค่อยๆ เคาะใส่ของเล็กลงไปตาม จะทำให้เราสามารถใส่ของต่างๆ ลงในโถได้มากขึ้น
คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรคือสิ่งใหญ่ที่เราควรให้ความสำคัญ สุขภาพ, ครอบครัว, การงาน, การศึกษา, หรือ ความฝัน?
หนังสือชื่อ “Eat that frog” โดย Brian Tracy อธิบายวิธีการเอาชนะตัวเองไม่ให้ผัดวันประกันพรุ่ง ได้สอนให้เราเลือกทำสิ่งที่สำคัญในแต่ละวันก่อน
เริ่มจาก ขั้นที่ 1 จัดโต๊ะ
2. วางแผนทุกวันล่วงหน้า
3. ใช้กฏ 80/20 คือ หางาน 20% ที่ทำแล้วเกิดผลลัพธ์ 80% แม้จะยากเพียงไหน ก็ทำมันก่อนเลย
4. พิจารณาผลที่จะตามมา อะไรคือผลจากการลงมือทำงานงานนี้
5. ฝึกกระบวนท่า ABCDE อย่างต่อเนื่อง A คืองานที่สำคัญ มันคือกบตัวใหญ่ที่ขี้เหร่ที่สุด B คืองานที่ควรทำ C คืองานที่น่าทำ D คืองานที่สามารถมอบหมายให้คนอื่นทำ และ E คืองานที่ไม่ทำก็ได้ไม่ส่งผลกระทบกับเรา
6. เน้นที่หัวใจของงาน หาให้เจอว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องใส่ใจทำให้ดี
7. เชื่อในกฏแห่งประสิทธิภาพ นั่นคือเรามีเวลาไม่พอจะทำทุกอย่าง เรามีแค่เวลาที่จะทำสิ่งที่สำคัญที่สุด
8. เตรียมความพร้อมอย่างรอบคอบก่อนลงมือ
9. ทำการบ้านให้ดี จงเรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ผลงานออกมาดี
10. ใช้พรสวรรค์นำไปสู่ความสำเร็จ คิดให้ดีว่าเราถนัดอะไร ชอบอะไร ใส่มันให้เต็มที่ อย่าไปยั้ง
11. มองหาตัวเหนี่ยวรั้งที่อาจทำให้เราไม่สำเร็จ และกำจัดมันไป
12. อุ้มถังครั้งละใบ จงจำไว้เสมอว่า การทำงานใหญ่ให้สำเร็จต้องก้าวทีละก้าว มุ่งมั่นจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำตรงหน้าทีละอย่าง
13. สร้างแรงกดดันให้กับตัวเอง
14. เพิ่มพลังส่วนตัวให้สูงสุด ด้วยการมีเวลาพักผ่อนให้เต็มที่
15. กระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ
16. ฝึกนิสัยผัดวันประกันพรุ่งในทางสร้างสรรค์ คือ ผัดเฉพาะงานพวก C หรือ D, E (จากข้อ 5.) ออกไป
17. ทำงานที่ยากที่สุดก่อนตั้งแต่เช้าเลย
18. หั่นและแล่งานออกเป็นชิ้นเล็กๆ
19. สร้างเวลาก้อนโต เพื่อให้เราสามารถทำงานที่สำคัญที่ใช้เวลาเยอะได้เสร็จก่อนไปทำอย่างอื่น
20. สร้างสำนึกแห่งความเร่งรีบ
21. ทำงานทุกอย่างทีละอย่าง
ซึ่งอ่านมาอ่านไปมันก็จะซ้ำๆ กันหน่อย ถามว่าเสียเวลาไหม ตอบว่าไม่หรอก เพราะเค้าพูดเพื่อเน้นย้ำให้มันเข้าไปในสมองของคนอ่าน
ถ้าเราสามารถบริหารเวลาในแต่ละวันได้ เราก็จะสามารถบริหารเวลาในแต่ละเดือนหรือในแต่ละปีได้เช่นกัน
เพียงแต่คราวนี้ มันจะเวิ้งว้างมากหากเราไม่มีเป้าหมาย ไม่ได้กำหนดขอบเขตของการกระทำสิ่งเหล่านี้
แม้เราจะไม่รู้อายุขัยของตนเอง แต่เราสามารถกำหนดเป้าหมายของชีวิตตัวเองได้ ว่าชาตินี้เกิดมาทั้งทีจะไปเป็นอะไร
ศาสตร์แห่งการบริหารจัดการมักจะให้กำหนดกลยุทธออกเป็น 3 ระยะ สั้น กลาง ยาว หรือ S M L
S ระยะสั้น อาจจะเป็นหลักเดือน เช่น เดือนนี้เราจะทำอะไรสำเร็จ สิ้นเดือนจะเห็นอะไรออกมาเป็นรูปธรรม
M ระยะกลาง อาจจะเป็นปี เป็นสามปี ห้าปี ก็แล้วแต่แผนชีวิตของแต่ละคน มองออกไปให้ไกลหน่อยว่า ถ้าเราทำสิ่งที่ทำอยู่นี้ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ถึงไหนเราจะได้อะไร อาจจะยากหน่อย แต่ลองจินตนาการดู
L ระยะยาว ก็อาจจะเป็น ห้าปีสิบปี หรือถึงบ้านปลายของชีวิต ว่าสุดท้ายปลายทางเราอยากจะเห็นผลอะไรจากการกระทำของเรา
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เรามีหลักชัย ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ถึงไหนแล้ว และอีกนานเท่าไรจะถึงฝั่งฝัน
Steve Jobs เคยพูดไว้ว่า “ตอนผมอายุ 17 ผมอ่านคำคมที่เกี่ยวกับว่า จงใช้ชีวิตในทุกวันให้เหมือนวันนี้เป็นวันสุดท้าย แล้วซักวันหนึ่งคุณจะอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง นั่นทำให้ผมประทับใจและจดจำ ตั้งแต่วันนั้นผ่านมา 33 ปี ผมดูตัวเองในกระจกทุกเช้าแล้วถามตัวเอง ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของผม ผมอยากจะทำอะไรในวันนี้ที่ต้องทำหรือไม่ และ ถ้าในกระจกตอบว่าไม่หลายวันติดกัน ผมก็รู้แล้วว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง”
Leave a Reply