WhatsApp

App chat เป็นหนึ่งใน application ทะเลเดือดที่หลายบริษัทอยากเข้าครอบครองพื้นที่แห่งนี้ และเมื่อคลื่นลมสงบลง ในไทยเราเห็น Line, ในจีนใช้ WeChat ในอเมริกาใช้ Facebook messenger และ Sanpchat ส่วนอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา รัสเซีย ใช้ WhatsApp และก็มีผู้ท้าชนหน้าใหม่คือ Telegram เข้ามาแซมๆ ปะปลาย หากดูปริมาณ Active user แล้ว WhatsApp น่าจะยังคงเป็นอันดับ 1 ในโลกด้วยจำนวนผู้ใช้กว่า 1,500 ล้าน account

จะว่าไปแล้วประวัติของผู้ก่อตั้ง Jan Koum โคตรจะดราม่าน่าสนใจอยู่พอสมควร กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้

Koum เป็นชาวยูเครนที่อพยพเข้ามาอยู่ที่ Mountain View กับแม่และยายในปี 1992 ด้วยวัย 16 ปี เพื่อหนีภัยปัญหาความไม่สงบทางการเมืองและหาโอกาสให้กับชีวิตในสหรัฐอเมริกา พวกเขายากจนขนาดต้องไปขอคูปองแจกอาหารจากรัฐบาลมาประทังชีวิต และเริ่มต้นทำงานด้วยการรับจ้างเป็นเด็กทำความสะอาดร้านขายของชำ พร้อมกับเข้าเรียนมัธยมที่ Mountain View High School ซึ่งเป็นจังหวะที่เขาเริ่มให้ความสนใจกับการเขียนโปรแกรม

ปี 1996 เขาได้มีโอกาสเข้าเรียนที่ San Jose State University และในระหว่างเรียนก็ได้ทำงานพิเศษที่ Yahoo! โดยรับตำแหน่ง Infrastructure engineer หรือพูดง่ายๆ ก็คือดูแลไม่ให้ระบบล่ม ซึ่งช่วงนั้น Yahoo! ถูกโจมตีเว็บไซต์มาจากต่างประเทศโดยการส่งข้อมูลเข้ามาปริมาณมหาศาลจนเกิดคอขวดทำงานไม่ได้ Koum จึงได้ขอความช่วยเหลือจากเพื่อน hacker ที่รู้จักและผ่านพ้นวิกฤตการณ์นั้นมาได้ ซึ่งทำให้เขาได้งานมาเยอะ จนสุดท้ายปี 1997 ก็ตัดสินใจลาออกมาทำ full time ที่ Yahoo! และที่นี่ก็ทำให้พบกับ co-founder คือ Brian Acton โดยทั้งคู่ทำงานด้วยกันเป็นระยะเวลา 9 ปี ก่อนจะลาออกมาในปี 2007

หลังจากนั้นพวกเขาก็ออกท่องเที่ยวไปอเมริกาใต้ 1 ปี และเมื่อกลับมาก็เริ่มสมัครงานใหม่ที่ Facebook แต่ก็ไม่ได้งาน

ต่อมาปี 2009 Koum ได้มีโอกาสซื้อ iPhone และตระหนักในศักยภาพของ AppStore ที่น่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีไอเดียที่จะทำ App ในการดึงชื่อจาก contact list ในโทรศัพท์มาส่งข้อความหากัน และก็ได้จดทะเบียนบริษัท WhatsApp Inc. ในเดือน ก.พ. 2009 ด้วยว่าชื่อนี้ฟังเหมือน “What’s up” ดี

ในขณะนั้นมีเพียง BBM ของ BlackBerry (BB) ที่สามารถส่งข้อความฟรีหากันเอง และก็มี G talk ของ Google ที่ต้องเข้าเว็บมีอีเมล์ก่อน แต่ WhatsApp มีเพียงเบอร์โทรศัพท์ก็สามารถสมัครใช้งาน Login แล้ว message หาคนอื่นใน contact list ที่ได้มีการลงแอปไว้ได้เลย มันสามารถสื่อสารกันข้าม Platform ได้

แล้วในที่สุดก็ launch เวอร์ชั่นแรกออกมาให้ใช้ในเดือน พ.ค. ปีนั้นเลย แน่นอนเวอร์ชั่นแรกห่วยมากมีแต่คนด่า แต่เค้าก็ไม่ได้ท้อหาทางแก้บั๊คกันไป จนกระทั่ง Apple ปล่อยฟีเจอร์ Push notification ออกมา เขาก็รีบพัฒนาออกเวอร์ชั่น 2 ต่อ คราวนี้ผู้ใช้ถล่มทลายเกิน 200,000 คน จึงได้ระดมทุนรอบแรก (seed funding) ที่ 250,000 เหรียญ ช่วงเดือน ต.ค. และเริ่มเก็บเงินค่าใช้งานปีละ $0.99 ในเดือน ธ.ค. ทำให้ยอดดาวน์โหลดตกลงจากเฉลี่ยวันละ 10,000 คนเหลือแค่วันละ 1,000 คน

กลยุทธที่ WhatsApp ใช้ในการเติบโตคือ ไม่มีโฆษณา ไม่มีเกม ไม่มีหมกเม็ดใดๆ เป็นเครื่องมือที่ง่าย ไม่มีการเก็บข้อมูลใดๆ ที่ไม่จำเป็นจากผู้ใช้ (เหมือนที่ Facebook และ Google ทำ) ไม่มีการเก็บ เพศ อายุ และข้อความก็จะถูกลบทิ้งจากเซิร์ฟเวอร์ทันทีที่การส่งสำเร็จ ทั้งหมดเกิดจากความพยายามจะให้อิสรภาพในการสื่อสารที่ต้องไม่ถูกสอดแนมเหมือนที่คนในประเทศคอมมิวนิสต์โดน

ช่วง 2-3 ปีแรกต้องเรียกว่า WhatsApp รายน้อย แต่มีรายจ่ายมาก ส่วนหลักๆ จากการส่ง OTP (one time password) ทั่วโลก เพื่อยืนยันเบอร์โทรศัพท์มือถือในการลงทะเบียนครั้งแรก และ App ก็เริ่มไต่อันดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึง Top 20 ใน App Store จึงได้ระดมทุนกับ Sequoia รอบ Series A ได้ถึง $8 ล้าน ปี 2011

ถัดมาอีก 2 ปีในเดือน ก.พ. 2013 ยอดผู้ใช้งานสูงถึง 200 ล้าน account และ Sequoia ได้ให้ทุนเพิ่มใน Series B อีก $52 ล้าน
Koum แสดงจุดยืนของบริษัทว่า “WhatsApp Messenger, Made in USA. Land of the free and the home of the brave.”
พอปลายปีการเติบโตไปแตะ 450 ล้าน account ซึ่งเป็นอัตราที่เติบโตเร็วกว่า Facebook, Twitter ตอนตั้งต้นซะอีก

แล้ว ก.พ. 2014 Facebook ก็ตัดสินใจเข้าซื้อ WhatsApp ด้วยมูลค่า $1.9 หมื่นล้าน (เงินสด $1.6 หมื่นล้าน และหุ้น $3 พันล้าน)

Koum ทำงานต่อที่ WhatsApp จนถึง เม.ย. 2018 จึงลาออกจาก Facebook

Leave a Reply