เมื่อต้นเดือน พ.ย. 59 พอดีมีโอกาสได้ไปเดินงานไทยเที่ยวไทย ครั้งที่ 41 ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี แล้วก็เดินผ่านบูธสวนสยาม เห็นว่าลดกระหน่ำมากมายจากราคาปกติ 900 เหลือ 400 บาท เดินไปเดินมาผ่านสัก 2 รอบ คิดในใจว่าไม่ได้ไปนานมากแล้ว (ดีไม่ดีเกิน 10 ปี) เลยจัดไปซะหน่อยครับ แต่เอาเข้าจริงวันนี้พอมาหน้างาน เค้าบอกว่าฉลองครบรอบ 36 ปี ลด 50% ทุกวัน ตั้งแต่ 19 พ.ย. 59 ถึง 31 ม.ค. 60 ก็แปลว่าเหลือใบละ 450 บาท (555 ไม่ว่ากันถือว่ายังถูกกว่านิดหน่อย)
พอคืนนี้กลับถึงบ้านมีจุดติดใจหลายจุดเลยอยากเขียนถึงบ้าง ก็เลยหาข้อมูลเจอกระทู้นี้จาก pantip เข้าไป “ขอระบายหน่อยครับ ไม่ปลื้มกับระบบการจัดการของ “สวนสยาม” อย่างแรง” ผู้คนให้ความคิดเห็นกันถล่มทลาย ส่วนตัวผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนคงเคยได้ไปสถานที่แห่งนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิตแหละ ก็เพราะมันเป็นสวนน้ำ สวนสนุก แห่งเดียวในประเทศที่มีอายุยาวนานถึง 36 ปีแล้วนิครับ ดังนั้นแต่ละคนก็คงเคยมีประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง แล้วแต่จังหวะที่เจอ ซึ่งวันนี้โดยรวมครอบครัวผมไปกัน 3 คน ให้ “ผ่าน” นะ ไม่ดีงามแต่ไม่เลวร้ายจนเกินไป
เช้านี้สบายๆ ตื่นมาก็ขับรถแวะไปกินข้าวที่สามย่านก่อน แล้วค่อยมุ่งหน้าสู่ทะเลกรุงเทพแห่งนี้ มันเป็นหน้าหนาวที่ไม่มีความหนาวเลยซะนี่กระไร ขับมาถึงจ่ายค่าจอด 10 บาท ก็ได้ที่จอดรถไม่ไกลจากประตูทางเข้ามาก รถไม่เยอะ คนก็ไม่เยอะเท่าไร พอเข้าไปข้างในสิ่งนึงที่สัมผัสได้ถึงความ international คือมีหลายสำเนียงที่ฟังไม่คุ้นหู แน่ๆ มีคนจีนบ้าง มีแขกตะวันออกกลางบ้าง มีฝรั่งอีกนิดหน่อย น่าจะรัสเซีย แต่กลุ่มที่เห็นเด่นชัดคือ น้องๆ ลูกเสือ เนตรนารี ที่ผูกผ้าผันคอสีฟ้า เดินกันกลุ่มใหญ่กันอยู่หลายกลุ่ม (น้องบอกว่าซื้อตั๋วมา 100 นึง)
จริงๆ เรื่องค่าตั๋วเป็นประเด็นที่น่าสนใจตามที่เค้าถกกันในกระทู้ด้านบนนั่นแหละ แต่ลองคิดในฐานะผู้ประกอบการ ถ้าเราเป็นคนบริหารสวนแห่งนี้ เราจะตั้งราคาอย่างไร จะจัดโปรโมชั่นแบบไหน ให้มันตรงใจลูกค้า และยังต้องมีเงินมาใช้จ่ายเรื่องร้อยแปดที่เกิด ณ สถานที่นี้ด้วย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ นะ คือถ้าจะไป benchmark กับ Universal Studio Singapore (74 SGD = 1,800 บาท) หรือ Legoland Malaysia (196 MYR = 1,500 บาท) ก็นับว่าบ้านเราถูกแล้ว แต่อีกนั้นแหละครับ ก็จะมีคนบอกว่า เทียบกันไม่ได้ ของข้างในมันสู้เมืองนอกไม่ได้เลย
คำถามที่น่าสนใจที่ผมนั่งคิดขณะขับรถกลับบ้านคือ แล้วมันจะทำอย่างไรให้สู้เค้าได้หละ มันต้องใช้เงินเท่าไร สมมติ ARPU รายได้จากลูกค้าเฉลี่ยคนละ 200 บาท อยากได้ 1,000 ล้านมาเป็นทุน ก็ต้องมีสัก 5 ล้านคนไปเที่ยว (ซึ่งเค้าบอกไว้ว่าปีนึงมีคนไปประมาณ 2 ล้านเอง ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.siamparkcity.com) แต่จริงๆ จำนวนคนที่มามันไม่ได้มากขนาดนั้น เทียบไม่ได้เลยกับสวนสนุกเมืองนอก ดังนั้นแค่เอาเงินค่าตั๋วมาบริหารจัดการ operate รายวัน จ่ายค่าจ้าง ค่าดูแลรักษาเครื่องเล่น ก็ไม่ต้องคิดแล้วว่าจะเพิ่มเครื่องเล่นใหม่ๆ หรือจัดกิจกรรมอะไรให้มันตื่นตาตื่นใจ แต่พอเข้าอีหรอบนี้ ก็แปลว่าชาตินี้ก็คงไม่มีทางได้พัฒนาแล้วหรือ? นักลงทุนที่ไหนใครจะยอมเสี่ยงเล่นเกมนี้หละ? คิดๆๆ
ต้องบอกว่า Asset ที่สำคัญอย่างหนึ่งของที่นี่คือ “แบรนด์” คำว่า “สวนสยาม” มันเป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมาจะ 4 ทศวรรษแล้ว ธุรกิจนี้มีการลงทุนทั้งที่ดิน ทั้งเครื่องจักร ทั้งแรงงานคน ไม่แน่ใจว่าต้องมีการจ่ายค่า license ให้กับผู้ผลิตเครื่องเล่นต่างๆ ด้วยหรือเปล่า สรุปก็คือลงทุนสูงแน่ๆ แต่มันก็ความเซ็กซี่ของมันคล้ายๆ โรงหนังคือมันเป็นธุรกิจบันเทิง แต่ละวันยังไงก็ต้องเปิดให้บริการ มันจะมีจุดคุ้มทุนรายวันที่สามารถคำนวณได้จากค่าจ้างต่างๆ ที่เกิดขึ้น และถ้ายิ่งหาคนมาได้เยอะเท่าไรเมื่อมันเกินจุดคุ้มทุนก็หมายถึงกำไรเน้นๆ เท่านั้น การสร้าง word of mouth ให้คนที่มาแล้วไปเล่าต่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการทำการตลาดของธุรกิจประเภทนี้ มิหนำซ้ำเอาเข้าจริงๆ ต้องบอกว่ามันถูกจัดอยู่ในหมวดการท่องเที่ยว ซึ่งภาครัฐก็ให้การส่งเสริมมากๆ อยู่ด้วย ดังนั้นคิดแล้วยังไงก็ต้องทำสินค้าให้ดี ทำสถานที่แห่งนี้ให้น่าเที่ยว ให้คนมาแล้วประทับใจ ให้มีเรื่องราวไปบอกต่อให้ได้
ว่าแล้วเลยไปลองเช็คข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดูพบว่า สวนสยามดำเนินการโดยบริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด จดทะเบียนเมื่อปี 2523 ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 560 ล้านบาท คิดเล่นๆ นะ ในยุคที่ Crowd funding กำลังเฟื่องฟู สมมติ นะ สมมติ ถ้าหานายทุนเดี่ยวๆ เพิ่มไม่ได้ มันจะเป็นไปได้ไหมถ้าลองระดมทุนจากคนจำนวนมากๆ เก็บเงินคนละ 1,000 บาทซื้อตั๋วล่วงหน้า มันจะมีคนไทยสักล้านคนมาซื้อตั๋วก่อนไหม เพื่อให้เค้าเอาเงินไปปรับปรุงทุกสิ่งอันให้มันเทียบเท่า ทัดเทียมกับอารยประเทศอื่นๆ ได้ ทำให้สถานที่แห่งนี้อัพเกรดขึ้นกลายเป็น destination แหล่งท่องเที่ยวในไทยที่ดึงคนต่างชาติมา ให้เหมือนไปโอซาก้าต้องไป Universal Studio เอาเป็นว่าส่งกำลังใจไปให้ก่อนแล้วกันนะครับ อยากให้สวนสนุกไทยอยู่ในเรดาร์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกจัง
Leave a Reply