ไปค่ะพี่สุชาติ 1800 MHz

เหตุเกิดจากการประมูลคลื่น 4G ครั้งประวัติศาสตร์ของชาติที่ผ่านไป ส่วนตัวผมไม่ได้ติดตามอะไรมากนักแค่มองผ่านๆ บน facebook ตอนมีเวลา ซึ่งสุดท้ายอย่างที่ทราบกันไปตามข่าว AIS ได้ slot 2 ด้วยการเสนอราคาที่ 4 หมื่นล้านนิดๆ ส่วน True ได้ slot แรก ไปด้วยราคา 3 หมื่น 9 พันกว่าล้าน ใช้เวลาประมูลทั้งหมด 33 ชั่วโมง ซึ่งก็วิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา ก็สนุกดีครับ ส่วนตัวผมมีอีกมุมหนึ่งที่สนใจ และอยากรู้จริงๆ ว่าเค้าทำได้ยังไง นั่นคือเรื่อง “วัฒนธรรมองค์กร”

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกครับ ที่ผมเห็นโพสต์ของพนักงาน AIS เต็ม timeline ถ้ายังจำกันได้ย้อนไปครั้งวิกฤตการณ์การเมือง ตอนคนไทยเล่นกีฬาสีกัน จะมีช่วงหนึ่งที่มีคนบอกไม่เอา AIS ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งช่วงนั้นผมได้เห็นความสมัครสมานสามัคคีของพนักงานที่ออกมาช่วยกันให้ข้อมูล ช่วยกันแชร์ ช่วยกันเปลี่ยนรูป profile และสุดท้ายก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ซึ่งถ้าเป็นบางองค์กรแทนที่พนักงานจะออกมาปกป้อง เขาอาจหาทางสละเรือ หนีตายเอาตัวรอดกันไปคนละทิศคนละทาง

มาวันนี้หัวเรือใหญ่ AIS สู้ไม่ถอย แพ้ไม่ได้ พนักงานก็ช่วยกันเชียร์ เป็นอีกครั้งที่ผมได้เห็นสามัคคีโพสต์เต็ม timeline เลย มันสื่ออะไรบางอย่าง ลึกๆ แม้ในองค์กรก็อาจจะมีตีรันฟันแทงกันบ้างหละตามประสาคนไทย แต่ภาพรวมที่แสดงออกมาจากพนักงานแต่ละคน (individual) เป็นแบบนี้ ไม่ใช่มาจากฝ่าย PR แต่เพียงอย่างเดียว มันก็ดูน่าปลื้มใจแทนผู้บริหารเค้าจริงๆ ครับ นี่คือองค์กรใหญ่ ที่มีพนักงานเป็นพันๆ คน แล้วองค์กรเล็กๆ อย่าง Startup ทั่วฟ้าเมืองไทยหละ คนไม่เยอะเท่าไร แต่รักกัน และภูมิใจที่จะแสดงพลังแบบนี้กันบ้างไหม?

ais1800-4gภาพจาก https://www.facebook.com/ais.activity

มีหลายบริษัทผมเห็นมีการทำเสื้อยืดใส่เหมือนกัน บางบริษัทมีการทำสติ๊กเกอร์แปะบนคอมพ์ บางที่ถึงขนาดมีการทำตุ๊กตามาสคอตแจกเลยทีเดียว เรียกง่ายๆ ว่าได้ทำสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของทุกคนเอาไว้ ต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีสัญลักษณ์บ่งบอกตัวตนของบริษัท ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมดแม้ว่ามันก็แค่วัตถุภายนอก แต่มันก็สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างเหมือนกันนะครับ เพราะพนักงานบางคนที่เค้าไม่ได้ภูมิใจอะไรกันเราด้วย เสื้อไม่สวย สติ๊กเกอร์ไม่เท่ ไม่มีวัน ฉันไม่ใส่ ไม่ติด ให้เสียตัวตนของฉันเองหรอก ตรงกันข้ามในขณะที่พนักงานบางคน แม้บริษัทไม่ได้ทำอะไรให้ เค้ายังมีใจ ทำรูป cover ทำ profile ส่วนตัว เอารูป เอาชื่อบริษัทไปใส่ เค้าอินกับสิ่งที่เค้าทำ ผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่าบริษัทที่มีพนักงานแบบไหนจะไปได้ไกลกว่ากัน

แน่นอนวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่ไม่ได้สร้างในวันเดียว การที่คนหลายๆ คนมาอยู่ด้วยกัน มาเชื่อและพยายามทำเพื่อจุดหมายเดียวกัน มันโคตรยากเลย เพราะโดยสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ ยังไงกูเอาตัวกูรอดก่อนแน่นอน ใครจะยอมเอาส่วนรวมมาเหนือประโยชน์ส่วนตัวหละ แต่จริงๆ มันก็มีนะครับ ถ้าเค้าเชือว่าส่วนรวมรอดก็ทำให้ส่วนตัวรุ่งตามไปด้วย ผมนึกถึงหนังสือ “คิดอย่างผู้นำ ทำอย่าง Google” มีอยู่ตอนหนึ่งที่เค้าเล่าถึงเรื่องของการแก้ปัญหาของทีมงาน

เรื่องก็มีอยู่ว่าเย็นวันศุกร์ Larry Page ไปเจอผลการแสดงโฆษณาบน Google ที่ไม่สอดคล้องกับผล search เขาเลยพิมพ์หน้าเว็บนั้นออกมาพร้อมปากกาไฮไลต์วง เขียนข้อความตัวโตๆ ว่า “ads พวกนี้มันห่วย” แล้วเอาไปปิดบนกระดานข่าวในหัวครัวข้างโต๊ะพูล จากนั้นก็กลับบ้านไป ไม่ได้โทรศัพท์หรืออีเมล์หาใครเลย ไม่ได้เรียกประชุมอะไรทั้งนั้น ซึ่งถ้าเป็นองค์กรทั่วไปสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นการตามผู้รับผิดชอบมาประชุมแล้วประชุมอีก ต่อมาเช้าวันจันทร์ ก็มีพนักงานคนหนึ่งส่งเมล์มาที่ Page พร้อมวิเคราะห์ปัญหาและอธิบายวิธีแก้ไขมาให้ ทั้งๆ ที่เขาคนนั้นไม่ได้อยู่ในทีมโฆษณาด้วยซ้ำ เขาแค่เดินผ่านไปเห็นโน้ต และก็คิดเหมือนกันว่าโฆษณาที่เห็นมันห่วยจริงๆ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผู้ใช้จะเห็น และภาระกิจของ Google คือการจัดการข้อมูลให้ดี ให้สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ใช้ (user first) เขารู้และเข้าใจดีว่าบริษัทให้ความสำคัญกับอะไร และรู้ว่าเขามีอิสระที่จะทดลองแก้ปัญหา แม้จะแก้ไม่ได้ ก็ไม่มีใครตำหนิหรือลงโทษ วัฒนธรรมของ Google ทำให้พนักงานอยากมีส่วนร่วมเพื่อความสำเร็จของบริษัท

เล่ามาถึงตรงนี้ ผมเลยอยากกลับไปที่ย่อหน้าแรกของบทความ เพราะผมอยากรู้จริงๆ ว่า ไม่ว่าจะ Google หรือ AIS เขาทำได้อย่างไร ทำไมพนักงานถึงรักองค์กร ก็ถ้ามีใครรู้ ฝากช่วยวานบอกเป็นวิทยาทานให้หน่อยนะครับ ขอบคุณครับ

Leave a Reply