หยุดล่าแม่มด Stop Cyber bullying

อย่างที่เราชอบพูดกันติดปากว่ายุคนี้สมัยนี้อยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ อินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโลกทั้งใบให้เราสามารถรับส่งข้อมูลข่าวสารกันชั่วพริบตาก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย เป็นดาบสองคมที่ผู้ใช้ต้องมีสามัญสำนึกและใช้วิจารณญาณดีๆ เมื่ออยู่หน้าคีย์บอร์ด ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นนักเลงอันธพาลหรือที่ฝรั่งเรียกว่า bully ไป ในโลกออฟไลน์ที่เราอยู่ถ้านักเลงมาลุมตีทำร้ายเหยื่อ เหตุการณ์มันจบลงตรงนั้น เหยื่ออาจบาดเจ็ดหรือตาย ณ ที่เกิดเหตุ แต่ในโลกออนไลน์การส่งต่อ e-mail หรือแชร์ ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ อะไรก็แล้วแต่ มันแพร่กระจายไปเร็วมากจาก inbox ของคนหนึ่งไปอีกหลาย box จาก website หนึ่งไปอีกหลาย site และจาก profile หนึ่งไปอีกหลาย profile หนำซ้ำยังมี search engine ช่วยให้ค้นหาเรื่องราวได้ง่ายขึ้น ถึงจะมีคนลบจาก source หนึ่ง ก็มีคน copy ไว้ไป paste อีกทีหนึ่ง คล้ายๆ จะเป็นนิรันดร์

ซึ่งบางทีเราก็ตัดสินอะไรจากมุมที่เราเห็นเท่านั้น โดยเราไม่รู้ความจริงทั้งหมด เรื่องราวเบื้องลึก เบื้องหลังที่เกิดขึ้น อย่างภาพนี้คำถามง่ายๆ คือ เราเห็นรูปทรงอะไร? ใช่ครับมันอาจเป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยมก็ได้ขึ้นอยู่กับเรามองจากมุมไหน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นทรงกระบอก (ซึ่งไม่ใช่ทั้งสองอย่างที่ตอบไปตอนแรก)

perspective

และก็มีอีกภาพที่อาจช่วยให้เราตระหนักถึงการเลือกถ่ายทอดมุมมองของสื่อ ชายผู้นี้กำลังถูกทหารจี้เอาชีวิต หรือกำลังได้รับความช่วยเหลือจากทหาร

how-the-media-can-manipulate-our-view-point

จริงๆ เราเป็นแค่มนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้แค่ชั่วคราว เราคิดว่าความคิดความเห็นของเราถูกต้อง เราคิดว่าเรากำลังปกป้องความยุติธรรมโดยใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์อยู่ แต่… บางทีสิ่งที่เราคิดอาจไม่เป็นเช่นนั้น และบางทีสิ่งที่เราทำโดยอ้างความถูกต้องอาจทำร้ายคนบางคนที่เราคิดว่าเขาทำผิดอยู่ชนิดที่ว่า เอาให้ไอ้คนๆ นั้นมันตายทั้งเป็น แล้วสุดท้ายมันจะไปตายที่ไหนก็ช่าง ถึงจุดๆ นี้เราก็ไม่ได้ต่างอะไรจากคนๆ นั้นเลย เราก็แค่อันธพาลเป็นนักเลงคีย์บอร์ดที่ทำร้ายคนแล้วก็หนีไป

dtac เคยทำโฆษณาตัวหนึ่งไว้ได้ดี ชื่อ “Thank you for sharing” ที่กล่าวถึงเรื่องเด็กสาวคนหนึ่งซึ่งแชร์รูปรุ่นพี่ที่กินขี้มูกตัวเองด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เรื่องราวบานปลายจนชีวิตของรุ่นพี่คนนั้นพัง นิทานเรื่องนี้สอนให้หยุดคิดก่อนแชร์นะจ๊ะน้องๆ เพราะ 1 รูป 1 เรื่องราวที่เราแชร์ออกไปใน social media มันคือ “เชื้อไฟ” ที่มีผู้คนพร้อมจะ “โหมให้ลุกลาม” ต่อออกไปอีกมากมาย แต่.. เราสามารถหยุดมันได้ก่อนจะบานปลายไปกันใหญ่

ล่าสุดจากเหตุการณ์ #กราบรถกู ที่เป็นเรื่องซึ่งได้รับความสนใจจากสังคม มีการแชร์คลิปนาทีครึ่ง มีการวิพากย์วิจารณ์กันต่างๆ นานา อ้าวเป็นดาราหรือ ทำตัวอย่างนี้ได้อย่างไร มีการขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆ ในอดีตต่อ อ้าวเคยได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นด้วย เฮ่ยกูจะไม่เชื่อสถาบันที่ให้รางวัลมันแล้ว มีการค้นหาพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับร้านอาหารร้านหนึ่ง ก็เป็นเรื่องสิครับ มีผู้คนจำนวนนึงที่อ้างความยุติธรรม ไปโพสต์รูปขี้ในเพจเค้า ไปด่าทอเสียๆ หายๆ ทั้งที่ยังไม่รู้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวดาราคนนั้นกับร้านแห่งนี้เลย พอคู่กรณีทั้งสองไปเคลียร์กันที่โรงพัก ก็มีการเก็บประเด็นบางช่วงบางตอนมาให้เป็นข่าว ให้ถกกันต่อ คราวนี้อยากระบายก็ตรงดิ่งไปที่ IG เค้าไปด่าแม่เค้า ได้แสดงถึงความเกลียดชัง หลายคนดึงสัญชาตญาณดิบออกมาใช้กันเต็มๆ

nott-mom

ย้อนกลับไปไม่นานก็มีกรณี #เจอคนแบบนี้ในสังคมแบบนี้แย่มากครับ ที่ดีเจคนหนึ่งถอยรถกระบะไปชนรถเก๋ง สุดท้ายก็หมดอนาคตไปเรียบร้อย แต่ระหว่างทางที่ถูกลงทัณฑ์โดยสังคมนี่สิ เรียกได้ว่าช่วยกันลงสหบาทากันเลยทีเดียว มีทั้งโกรธแค้น มีทั้งด่าเอามันส์ เอาสะใจ แต่… ก็มีมุมฮาของชาวเน็ตที่ทำรูปขำๆ แชร์กันไป มีทั้งมุมนักการตลาดที่หยิบเอาประเด็น ณ ขณะนั้นมาขายของด้วย ครับ คนไทยเรามีรอยยิ้มมีอารมณ์ขันทุกเวลา ไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ

red-black-mktg

ถึงตรงนี้ผมไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก หรือเข้าข้างใครนะครับ ผมแค่ไม่อยากให้โลกใบนี้มันอยู่ยากไปกว่านี้ ลองมองหลายๆ มุมดูนะครับ สมมติว่ามีเหตุการณ์บางอย่างคล้ายๆ กันเกิดขึ้น มีคนที่เรารู้จักกลายไปเป็นประเด็นในโลกออนไลน์ เราจะวางตัวอย่างไร เราจะร่วมลงตีนด้วยเลยไหม ทุกวันนี้เราก็ด่าสื่ออยู่ตลอดว่า ลงแต่ข่าวร้ายๆ ข่าวดีๆ ประเทืองสังคมไม่ลงกันเลย ในขณะที่เราใช้ facebook ใช้ line ตัวเราเองนั่นแหละครับที่กำลังทำหน้าที่ของสื่ออยู่ เราจะหยิบยกประเด็นไหน หรือเอาภาพมุมไหนไปเผยแพร่ต่อ มันอยู่ที่ปลายนิ้วของพวกเราแต่ละคนแล้ว ผมคงไม่อาจบอกให้ทุกคนแชร์แต่เรื่องดีๆ มีศีลธรรม เพราะเราก็ยังเป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา ที่ยังมีอารมณ์ในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ผมอยากให้หยุดคิดสักนิดก่อนจะคลิก จะแชร์ จะ like อย่าให้ตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของศาลเตี้ยที่สั่งเผาสั่งฆ่าช่วยกันล่าแม่มด อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาเหล่านี้ที่ผ่านเข้ามากันดีกว่าไหมครับ สุดท้ายนี้พอดีเจอคลิปนี้บน facebook เรื่อง “ความโกรธ” ลองดูนะครับ เล่าเรื่องได้ดี

 

Leave a Reply