3 ลำดับขั้นของการเป็นมืออาชีพ

เคยรู้สึกไหมครับ ทำไมบางคนมันเก่งจังเลย บางคนทำไมทำอะไรดูง่ายไปหมด แล้วเราจะเป็นแบบนั้นบ้างได้ไหม ด้วยความบังเอิญวันก่อนที่ผมเขียนเรื่อง “มาเป็นมืออาชีพกันเถอะ” ไปคล้ายคลึงกับเรื่อง “แตกต่างอย่างมืออาชีพ” ที่เขียนไว้เมื่อปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน มันต้องมีอะไรดลใจสักอย่าง ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าผมยังไม่เคยเล่าให้ฟังถึงนิยามความเป็น “มืออาชีพ” ของผมเลย

มืออาชีพคืออะไร?

คำว่า “มืออาชีพ” เข้าใจว่ามาจากภาษาอังกฤษ professional ซึ่งเป็น adjective ของคำว่า profess ที่แปลว่า ยอมรับ ยืนยัน แสดงตัว มันคือการปฏิญาณตนว่าตัวเองจะผูกพันกับสิ่งนี้และก็ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง ซึ่งพอมาเป็นคำนามเราจะรู้จักกันกับคำว่า professor หรือ ศาสตราจารย์ ที่หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงใดแขนงหนึ่ง

สำหรับผมแล้วการจะเป็นมืออาชีพได้ ง่ายๆ คือ “ทำซ้ำได้” โดยไม่ได้บังเอิญ ไม่ได้ฟลุ๊คครับ (แต่อาจจะเริ่มจากฟลุ๊คแล้วฝึกฝนจนชำนาญก็ได้) ซึ่งการจะทำซ้ำๆ ได้นั้น จะต้องมีความรู้มาก่อน รู้ว่ากำลังทำอะไร มีขั้นตอนกระบวนการในการทำสิ่งนั้นอย่างไร มีอะไรหรือใครที่เกี่ยวข้องบ้าง รู้กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ไปจนกระทั่งทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เร็วสุด ดีสุดๆ หรือแม้กระทั่งรู้ว่าอาจมีปัญหาอะไร ต้องแก้อย่างไร สามารถคาดคะเนถึงสิ่งไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นและหาทางป้องกันไว้ก่อนได้ ครับเป็นมืออาชีพมันไม่ได้ง่ายเลยนะ

bill_gates

ที่มา: commons.wikimedia.org

แต่ก่อนอื่นเลยต้องทำความเข้าใจว่ามืออาชีพกับรวย มันคนละเรื่องกันนะครับ ถึงแม้เราจะทำขนมเก่ง อร่อยสุดยอด มันไม่ได้แปลว่าจะขายได้ ขายดี เพราะทำขนมเก่งก็เรื่องนึง ทำร้านขนมให้ขายดีก็อีกเรื่อง อันนี้ apply กับทุกสายสาขาอาชีพ แปลว่า ถึงเราจะเป็น programmer ที่เก่ง ก็ไม่ใช่ว่าจะเปิดบริษัทรับจ้างทำซอฟต์แวร์แล้วจะประสบความสำเร็จทุกคน มันมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง พอพูดว่าเป็นธุรกิจ ผู้ใหญ่เคยเล่าให้ผมฟังว่านอกจากเก่งแล้วจะต้องเฮงด้วย ซึ่งผมคิดว่ามันถึงต้องเล่นกันเป็นทีมอีกต่างหากครับ

การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จคือการรวมคนเก่งระดับมืออาชีพหลายๆ ด้านมาอยู่ด้วยกัน เพื่อให้แต่ละคนทำงานที่ตัวเองถนัด เช่น programmer ก็เขียนโปรแกรมไป แล้วก็ต้องมี sale ไว้ขายซอฟต์แวร์ มี marketer ทำการตลาด มี support ไว้คอยตอบคำถาม และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งก็จะเกิดประเด็นใหม่ขึ้นตามมา เพราะมากคน มากความ ดังนั้นหน้าที่ของผู้ประกอบการ ก็คือ ทำให้มันขับเคลื่อนได้ ผลิตสินค้า/บริการ ออกมาขาย ทำเงินๆ และสุดท้ายที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ ก็คือ founder เจ้าของที่เก่งเรื่องผลิตมากๆ แต่ไม่ใช่ผู้บริหารมืออาชีพ ก็มักจะไปจ้างคนอื่นมาทำงานแทนตนเองมาเป็น CEO อย่าง Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft เป็นต้น

คำถามถัดมาที่น่าสนใจคือ เป็นมืออาชีพแล้วไม่รวย จะทำไปทำดวยอะไร?

ผมขอยกตัวอย่าง จูกัดเหลียง ขงเบ้ง ผู้ได้รับฉายาว่ามังกรหลับ เค้าเก่งจนต้องไปเร้นกายในหุบเขา ให้เล่าปี่มาง้อ 3 หน เพราะเก่งจริงอย่างมืออาชีพ จึงมีคนเห็นคุณค่า ส่วนค่าตอบแทนก็ขึ้นอยู่กับนายแล้ว 555 ถ้าเป็นสมัยก่อนดีสุดคงประมาณนี้! แต่เดี๋ยวนี้ขอให้เก่งจริง เก่งสุดๆ มีแต่คนจะแย่งตัวครับ หรือถ้าหากเราทำอะไรเจ๋งๆ สักอย่างแล้ว crowdfunding ออกไป ระดมทุนจากคนหมู่มาก หรือเป็น startup แล้ว raise fund ก็ว่ากัน ถ้า product มันดี และนำเสนอเป็น มันก็ขายได้ เช่นเคยครับ สมมติทำเป็นแต่ product ก็ไปจ้างคนนำเสนอเก่งๆ ทำ vdo clip ทำ presentation สิ มันก็ไปได้ของมันระดับนึง ถึงบอกว่าจะรวยได้เดี๋ยวนี้นอกจากเก่งกับเฮง ต้องเล่นเป็นทีมให้เป็นด้วยครับ

และไหนๆ ก็พูดถึงเล่าปี่ก็ต้องบอกว่าเค้าก็เป็นผู้นำมืออาชีพในช่วงต้นๆ เค้ามีคุณสมบัติ มีทักษะพร้อมให้คนอยากมาทำงานด้วย เป็นผู้นำที่ดี มีคุณธรรม (ตามท้องเรื่อง) แต่บ้านปลายชีวิตกลับรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ไม่ได้ ก็แปลว่า ความเป็นมืออาชีพมัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แลดับไป หากไม่คิดจะรักษาไว้ให้อยู่กับตน

ก็อยู่ที่ตัวเราแล้วหละครับ ว่าอยากจะเป็นขงเบ้งที่เป็นมืออาชีพในการทำสงครามหรือเป็นเล่าปี่ที่เป็นมืออาชีพในการรวบรวมนักรบมาทำสงครามในชีวิตนิยายที่เราแต่งด้วยน้ำมือของเราเอง

samkok

ที่มา : http://www.samkok911.com

ว่าแล้วเรามาดูกันเถอะครับ ถึง 3 ลำดับขั้นของการเป็นมืออาชีพ ไหนๆ ก็โทนมาทางวรรณกรรมจีนแล้ว ก็ถือโอกาสอ้างอิงเคล็ดวิทยายุทธที่เล่าขานสืบต่อกันมานับพันปีเลยแล้วกันนะครับ

ขั้นแรก เรียกว่า “กระบี่เป็นหนึ่งเดียวกับตัว” ผู้ที่บรรลุระดับนี้คือ ผู้ที่ฝึกฝนจนสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นได้อย่างช่ำชอง

จะว่าไปกระบี่ก็มีอยู่หลายแบบ เครื่องมือในการทำงานก็เช่นกัน ในความเป็นจริงคือมันไม่จำเป็นต้องใช้ได้ทุกอย่าง แค่รู้ว่าในโลกนี้มีอะไร แล้วเลือกให้เหมาะกับตัวเองก็พอ เอาใกล้ๆ ตัวเลยก็มือถือที่ใช้กันอยู่ทุกวันเนี่ยแหละครับ จะ iPhone หรือ Android ก็เลือกเอาสักอย่าง ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้ง 2 เครื่องในเวลาเดียวกัน มันไม่ได้ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ถ้าบอกว่าจำเป็นต้องมี 2 เบอร์ ต้องใช้ 2 sim ก็หายี่ห้อที่ชอบๆ สิครับมือถือ 2 sim มีถมไป ทุกคนมีเหตุผลของตัวเองทั้งนั้น ไม่ต้องไปตามใครหรอก แต่ถ้าเราเกิดเป็น mobile dev ที่มีความจำเป็นต้องใช้มือถือหลายเครื่อง หลายรุ่นเพื่อทดสอบก็ว่าไปอย่าง บอกแล้วว่าทุกคนมีความจำเป็นไม่เหมือนกัน เลือกสิครับแล้วใช้ให้เก่ง ผมเคยเจอน้องคนนึงที่เค้าเล่นมือถือของเค้าได้คุ้มค่ามาก รู้ทุกอย่าง ประยุกต์ได้ทุกรูปแบบ เพราะเค้าใช้มันอย่างจริงจัง และหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเน็ตเวลาที่ไม่รู้อะไร หรืออยากจะทำอะไรก็ลองไปเลย ใช้มันจนคุ้มครับ

ขั้นที่สอง “กระบี่อยู่ที่ใจ” ผู้ที่บรรลุระดับนี้ คือ แม้ไม่มีเครื่องมือก็ยังเอาอยู่เหมือนกัน จากขั้นแรกที่พอเราสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงด้วยเครื่องมือแล้ว ขั้นนี้เมพกว่าตรงที่จะมีเครื่องมืออะไร หรือไม่มีอะไรเลย ก็สามารถทำงานให้เสร็จได้

ปัจจุบันสาย dev ต้องบอกว่าเครื่องมือเยอะมากไม่ว่าจะ ภาษา platform plugin มีให้เลือกใช้แบบนับไม่ถ้วน สำหรับ lnw ผู้เมพขิงขิงแล้ว จะมีความสามารถในการเขียนโปรแกรมโดยไม่ยึดติดกับภาษา เวอร์ๆ คือถึงขั้นหลับตาเขียนได้ (แต่ถ้าพิมพ์ดีดไม่เป็นก็คงเขียนไม่เสร็จเหมือนกัน เพราะกว่าจะจิ้มได้แต่ละตัวคงเหนื่อย) คือจะกล่าวไป อันที่จริงในการเขียนโปรแกรม มันก็มีตรรกะ มีหลักการแนวคิดอยู่อย่างนึง ซึ่งแม้ syntax ในการสั่งงานจะไม่เหมือนกัน แต่หัวใจมันเหมือนกัน ถ้าใจสื่อถึงใจ อะไรก็ไม่ยากอีกต่อไปครับ

* ปล. สำหรับผู้ที่อ่านขั้นนี้แล้วงง เพราะคุณยังไม่ถึงขั้น กลับไปฝึกขั้นแรกก่อนนะเบบี้

ขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นสุดยอดของกระบี่ คือ “ไร้นาม” กระบี่ไม่ได้อยู่ทั้งในมือและในใจ คนที่บรรลุถึงระดับนี้ ไม่ฆ่าใครอีกแล้ว ในใจเขามีแต่สันติสุข

หากเปรียบกับงานสาย dev ก็คงจะอารมณ์ประมาณไม่ต้องมีเครื่องคอมพ์ก็รู้ว่าต้องบรรจง code อย่างไรจากบรรทัดแรกถึงบรรทัดสุดท้ายให้โปรแกรมสามารถทำงานได้อย่างที่ต้องการ หรืออีกนัยนึงตอนนี้ต้องบอกว่า เขียน A.I. ให้มันคิดแทนเราเลย ว่าไปโน่น

* ปล. ผมไม่ถึงขั้นนี้จริงๆ ครับ ไม่มีความสามารถในการอธิบายได้

ครับ… ก่อนที่ธาตุไฟผมจะแตกซ่าน จะขออนุญาตสรุปว่าการพัฒนาความเป็นมืออาชีพในแต่ละขั้นไม่มีอะไรมากไปกว่า การฝึก ฝึก ฝึก ฝึกให้มันถึง 10,000 ชั่วโมง ให้ทุกอณุของงานมันเข้าไปในกระแสเลือด พยายามสังเกต ตั้งสมมติฐาน ทดสอบ plan do check act ปรับปรุงมันอย่างต่อเนื่อง พยายามคิดอย่างสร้างสรรค์ ไม่ยึดติดกับกรอบ (ต้องรู้ก่อนว่ากรอบอยู่ตรงไหน) และสุดท้ายคือ กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาด พยายามท้าทายตัวเอง แล้วเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส

ดังพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ให้ไว้เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 30 ว่า

“เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”

Leave a Reply