จะเปลี่ยนเองไหม

สองสามวันมานี้หลายคนคงอาจได้เห็นข่าว EVS Thailand กับปัญหาการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ “หมู่” ของพี่โน้ส ถึงขั้นที่ผู้บริหารออกมาโพสต์ใน Pantip และวิดีโอลงใน YouTube ว่ามีคนละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนมาก โดยเฉพาะทาง Facebook Live ซึ่งส่งผลกับครอบครัวเป็นอย่างมาก เพราะใช้เงินมากกว่า 20 ล้านบาท ลงทุนผลิต CD/DVD ไป 200,000 ชุด ผ่านไป 5 วัน มียอดขายไม่ถึง 20,000 ชุด ซึ่งโดยปกติที่ผ่านๆ มายอดขายแผ่นการแสดงประเภทนี้ จะขายได้ในช่วงแรกๆ เท่านั้น ยิ่งนานวันยิ่งขายไม่ออก

group-nose

เรื่องนี้ทำให้ผมสะดุด และพยายามมองเรื่อง “ลิขสิทธิ์” ในหลายๆ มุม

มุมนึงลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่ง (Intellectual Property หรือ IP) ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องผลงานของผู้สร้างสรรค์ เพราะเค้าอุตส่าห์ทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้างงานขึ้นมา เค้าต้องกิน ต้องใช้ ต้องเลี้ยงลูกเมีย ฯลฯ กฎหมายจึงให้มีการคุ้มครองว่า ห้ามทำซ้ำหรือดัดแปลง ห้ามเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของ ทั้งนี้ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ ตั้งแต่ บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ รูปวาด ภายถ่าย ไปจนกระทั่ง ภาพยนตร์ ซึ่งมันมีผลตั้งแต่ผลงานออกสู่สาธารณะครั้งแรก โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนอะไรเลย (แต่ถ้าอยากมั่นใจอาจไปจดแจ้งก็ได้ เพื่อจะได้มีวันที่ชัดเจนว่าผลงานนี้เริ่มเผยแพร่วันไหน) แต่อย่างไรก็ตามมันไม่ได้ครอบคลุมถึงข้อเท็จจริงที่บอกว่า ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร อันนี้จะมาอ้างลิขสิทธิ์ไม่ได้

จะมีโปรแกรมเมอร์หลายคนที่คิดว่าทำซอฟต์แวร์เสร็จต้องไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์แล้วจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย คนอื่นจะได้มาก็อปปี้ไปไม่ได้ อันนี้เข้าใจผิดอย่างแรงครับ ซอฟต์แวร์ได้รับความคุ้มครองโดยลิขสิทธิ์อย่างที่บอกคือไม่ต้องไปจดก็ได้ สมมติเราทำเกมขึ้นมาตัวหนึ่งออกขายเป็นกล่องวางขายตามห้างสรรพสินค้า แล้วอยู่มาวันนี้เราก็จับได้ว่ามีร้านเกมเน็ตคาแฟ่ที่ไม่ได้ซื้อเกมเรา แต่ดันมีให้บริการเกมเราให้ลูกค้าเล่นในร้าน อันนี้ชัดเจนเลยว่าเค้าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยการ copy จากที่ใดสักที่หนึ่ง สิ่งที่เราทำได้คือแจ้งตำรวจไปจับ และอาจฟ้องร้องเป็นคดีความต่อในศาลได้เลย ทั้งนี้หากฝ่ายตรงข้ามอยากขอเจรจาก็สามารถใช้บริการไกล่เกลี่ยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้

คราวนี้ก็มีบางคนบอกว่าถ้าจดลิขสิทธิ์ไม่ได้ขอจดสิทธิบัตรได้ไหม ต้องบอกเลยว่าประเทศไทยเค้าไม่ให้เอาของที่จับต้องไม่ได้มาจด การจะจดเป็นสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรได้มันต้องมี hardware หรือเครื่องยนต์กลไกอะไรบางอย่างที่เป็นชิ้นเป็นอัน แล้วเอามาประกอบมีกระบวนการ หนึ่ง สอง สาม สี่ ที่มันไม่ซ้ำกับสิทธิบัตรเดิมที่เคยมีคนจดมาก่อนแล้ว ดังนั้นระยะเวลาในการขอจดกว่าจะได้มาก็นานอยู่เพราะต้องไปตรวจสอบฐานข้อมูลสิทธิบัตรเดิมก่อน ซึ่งสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะมีระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปีนับแต่วันขอยื่น ในขณะที่สิทธิบัตรกรออกแบบผลิตภัณฑ์จะมีระยะ 10 ปี (ก็นานให้พอทำกำไรได้อยู่) ย้ำอีกครั้งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ถ้าอยากจดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์อย่างแรงเพราะคิดว่าไอเดียเราใหม่ระดับโลกก็ต้องไปจดอเมริกาโน่นเลยครับ

โอเคถัดมา advance ขึ้นมาหน่อย สมมติเราทำ app เรียกรถ taxi ออกให้บริการ แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็มีคนให้บริการ app เรียกรถ taxi เหมือนกัน คราวนี้เราจะไปฟ้องว่าเค้าละเมิดลิขสิทธิ์เรา อันนี้ไม่ใช่แล้วครับ การจะทำของเหมือนๆ กันออกมา บางทีมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีฟังก์ชั่นฟีเจอร์คล้ายๆ กัน ลิขสิทธิ์ไม่ได้คุ้มครองจุดนี้ ดังนั้นเราจึงเห็น StartUp ที่ไอเดียเริ่มต้นเหมือนๆ กัน ทำของออกมาใกล้เคียงกัน อันนี้โทษใครไม่ได้ครับ คนทำก่อนไม่ได้มี barrier ท้ายที่สุดที่ทำได้คือดูว่า ใครชนะใจลูกค้าได้มากกว่า สายป่านยาวกว่า ก็อยู่รอดไป ส่วนคนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง

taxiหอมปากหอมคอในฝั่งของผู้สร้างสรรค์ผลงาน คราวนี้ลองมองในมุมของ ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ มันก็มีหลายสาเหตุที่ถูกใช้เอามาเป็นข้ออ้างกัน ตั้งแต่ ไม่มีตังค์ ของลิขสิทธิ์มันแพงเกิน คิดดูสิค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต้องเก็บตังค์กี่วันกว่าจะซื้อ Final Fantasy XV แผ่นแท้มาเล่นได้ หรือแม้แต่ DVD พี่โน้สแผ่นละ 299 ก็เถอะ เสียดายตังค์ (อันนี้ก็อ้างเรื่องราคาไม่สมเหตุสมผล) บางกลุ่มอาจอ้างว่าตอนนี้เครื่องคอมที่บ้านไม่มีช่องอ่าน CD/DVD แล้วไม่สามารถอุดหนุนได้ หรือพวก xerox หนังสือก็บอกว่าเอามาใช้อ้างอิงบางส่วน ไม่ได้ใช้ทั้งเล่ม ผู้บริโภคก็มีเหตุผลร้อยแปดของตัวเอง หรือบางทีบางคนอาจไม่ได้นึกอะไรเลยก็ได้ คือ ก็มันมีให้โหลดฟรี ดูฟรี ในอินเทอร์เน็ตไง แล้วจะไปขนขวายหาทางจ่ายเงินทำไม ถามว่าผิดไหม ก็ไม่ได้ไปฆ่าคน วางเพลิงสักหน่อย ก็แค่เสพของฟรี มันผิดอะไรครัช ก็ต้องบอกว่า มันผิดกฎหมายไงครัช เรากำลังละเมิดลิขสิทธิ์กันอยู่ เพราะเราเอาสะดวกสบาย เราไม่ได้นึกถึงหัวอกของคนสร้างสรรค์ผลงาน หรือจริงๆ มันแค่ไม่ได้อยู่ในกมลสันดานของพวกเราคนไทย ก็แค่นั้นเอง ก็แค่ไม่คุ้นเคย

เรื่องปลุกฝังยังไงก็คงต้องทำกันต่อไป แต่เมื่อเราห้ามกระแสโลกที่มันเปลี่ยนไปไม่ได้ ในฐานะผู้ประกอบการเราก็ต้องคิดว่าเราจะอยู่รอดได้อย่างไร อย่างคนทำซอฟต์แวร์เดี๋ยวนี้ ใครๆ ก็ย้ายขึ้น Cloud แล้วใช้วิธีถ้ามีการใช้งานซอฟต์แวร์ก็ต้องติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์ ดังนั้นถ้าไม่จ่ายตังค์ก็จะใช้งานไม่ได้ เราสามารถ lock ได้ระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องจะโดน copy code ได้ไหม ถ้าไม่ใช่คนในทำกันเอง ก็ต้องเป็น hacker ที่พยายามเจาะระบบเข้าไป ก็ไม่ง่ายซะทีเดียว แล้วในกรณีที่มีใครมาลอกคอนเซ็ปต์ ลอกหน้าตา UI ของเรา ก็ต้องบอกเลยว่าตอนนี้ “เราไม่แคร์กันแล้ว” พวกเราเหล่า StartUp รุ่นใหม่ เลย step ที่จะมานั่งกล่าวโทษใครแล้ว เรามีแค่ว่าวิ่งให้เร็วขึ้น ให้เร็วกว่า เพราะคนที่ลอกเรา เค้าลอกได้แค่อดีตของเราเท่านั้น ถ้าเรายังพยายามอย่างต่อเนื่อง ไม่มีใครสามารถตามเราทันได้

สู้ต่อไปเถอะทาเคชิ …

 

Leave a Reply