ว่าด้วยเรื่องบ๊อกซ์บ๊อกซ์ ตอนที่ 1 ไอเดีย

ย้อนกลับไปปี 2011
วันหนึ่งผมได้รับ message ทาง twitter จากคนแปลกหน้าคนหนึ่ง แนะนำตัวมาว่า
“ชื่อเมย์ค่ะ พี่สมหวัง Paysbuy แนะนำมาค่ะ อยากจะขอคุยด้วย”

ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเธอต้องการอะไร เธอทำอะไรอยู่ แล้วผมจะได้ประโยชน์อะไร
แต่เฮียหวังแนะนำมา ผมเชื่อว่าอย่างน้อยไม่ใช่คนร้ายแน่ๆ ครับ เลยรับนัดไปเจอกัน
วันนั้นเธอได้แนะนำให้รู้จักกับแฟนของเธอชื่อว่า เบย์ ครับเมย์กับเบย์เป็นแฟนกัน แหมม… ช่างคล้องจองกันซะนี่กระไร
หลังจากได้คุยกันสักพัก จับประเด็นได้ว่าทั้งคู่ ทำเว็บอยู่ตัวหนึ่งชื่อ SiamSquare.co.th
โดยมี business model คือ เป็นตลาดเปิดสำหรับดีไซน์เนอร์ให้ได้มีพื้นที่ในการนำเสนอผลงาน จะมองว่าอีคอมเมิร์ซหรือ ก็ใช่นะ

เราคุยกันหลายเรื่อง จนเข้าเรื่องที่เป็นประเด็นก็คือตอนนี้เบย์มีไอเดียอยากจะทำระบบอะไรสักอย่างที่ทำให้คนไม่ต้องพกบัตร
ปัญหาของเบย์คือ เค้าลำคาญ หงุดหงิด กับ บัตรสมาชิก บัตรสะสมแต้ม ที่มีเยอะแล้วไม่ได้เคยถูกใช้เลย
เบย์เล่าว่า วันหนึ่งเค้าเปิดลิ้นชักแล้วเจอบัตรสะสมแต้มร้านอาหารญี่ปุ่นร้านหนึ่งอยู่ 3 ใบที่มีสแตมป์บนนั้นกระจายอยู่ทุกใบ
จริงๆ เค้าสามารถแลกอาหารตามสิทธิ์ที่สะสมได้แล้วหละ แต่ปัญหาคือเค้าไม่เคยได้เอาไปเลยเวลาที่อยากใช้
นึกขึ้นได้ทีไรคือกินเสร็จ ได้ใบใหม่กลับมาที่บ้านแล้ว พอเอามากองรวมกันก็ได้เจ็บใจเล่นๆ
แล้วเมย์ก็เสริมว่า มันเป็นปัญหาระดับชาติค่ะ ผู้บริโภคทุกคนมีปัญหาเรื่องนี้แน่นอน
โดยเฉพาะผู้หญิงพกบัตรตั้งหลายใบให้หนักกระเป๋า ไม่รู้จะได้ใช้ใบไหนวันไหน แล้วพออยากจะจริงๆ ดันหมดอายุซะอีก

แล้วถ้าลองมองในมุมของร้านค้า สาเหตุที่ออกแคมเปญทำบัตรพวกนี้ให้ก็เพราะอยากให้ลูกค้ากลับมา
ดังนั้นถ้าลูกค้าลืมเอาบัตรสะสมแต้มมา เค้าก็จำเป็นต้องให้ใบใหม่ไป ซึ่งมันก็เป็นต้นทุนอีกนั่นแหละ
การทำบัตรกระดาษเยอะๆ ให้ลูกค้าเอาไปทิ้ง วัดผลจริงก็ไม่ได้ น่าจะเป็นปัญหาที่ร้านค้าควรให้ความสำคัญ (พวกเราคิดเช่นนั้น)

papercards

ว่าแล้วไอเดียทางออกของเราคือ โยนบัตรทุกอย่างขึ้นไปบน Cloud มันจะช่วยร้านค้าให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และวัดผลได้จริงแน่นอน
ส่วนลูกค้าก็ได้ประโยชน์ ได้ความสะดวกสบายตอบแทน เมื่อข้อมูลมันอยู่ในระบบร้านค้าก็รู้จักลูกค้ามากขึ้น ลูกค้าขาจรก็จะกลายมาเป็นลูกค้าขาประจำ
ใช่แล้ว หลักการนี้มัน Loyalty ชัดๆ ครับ เราคุยกันไปไกล ฝันกันไปเรื่อย ทำโน่นได้ ทำนี่ได้ gamification เลยไหม อืมมม ดี
ดังนั้นในฐานะผู้มีความรู้เรื่องด้านเทคนิค ผมว่ามันมีประโยชน์ดีนะ แก้ปัญหาพื้นฐานให้ผู้คนได้หลายคนเลยหละ

สรุปการประชุมคือ เบย์บอกว่าอยากจะร่วมมือกัน ทำยังไงก็ได้ จะเป็นรูปแบบการจ้าง หรือถือหุ้นร่วมกันก็โอเค
ผมก็มองว่า อืมมม มันน่าจะมีอนาคต งั้นก็เลยตกลงปลงใจมาตั้งบริษัทใหม่กันเหอะ โดยเบย์เมย์รวมกันถือหุ้น 51%

จังหวะนั้น พอดี SIPA เปิดรับโครงการ 84 พรรษามหาราชันย์ เพื่อคัดเลือกโครงการซอฟต์แวร์ทั้งหมด 84 โครงการเข้ารับทุน
และก็เป็นขณะเดียวกับที่ทาง NIA ก็เปิดรับโครงการซอฟต์แวร์ดีมีนวัตกรรมเป็นครั้งแรก

ซึ่งจริงๆ ผมเพิ่งได้ทุนจาก NIA ในโครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน ในการทำ eventpro.in.th มาหมาดๆ
แน่นอนครับผมคิดว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำอยู่นี้มีนวัตกรรม ยังไม่มีใครทำ มีความชัดเจน ใครเป็นผู้ใช้ รายได้จากไหน มีประโยชน์แน่นอน
และก็เป็นจริงเช่นนั้น เพราะเราผ่านเข้ารอบได้รับทุนทั้งสองก้อน
ต่อมาก็ได้ยินข่าวจากทาง NIA ว่า มีคนมาขอทุนทำโครงการในลักษณะเดียวกัน ซึ่งโชคดีที่เราเข้ามาขอก่อนแล้ว

ดังนั้นโครงการนี้นอกจากทุนของพวกเราเองทั้งสามคนแล้ว เรายังได้เงินสนับสนุนจากภาครัฐอีก 2 ก้อนเข้ามาช่วย
จะวุ่นวายหน่อยก็ตอนส่งงานตรวจรับโครงการ การทำเอกสารต่างๆ นานา มากมาย ปวดขมับเลย ณ จุดนั้น
แต่… มันคือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีคนคิดว่าสิ่งที่เรากำลังทำน่าสนใจเหมือนกัน เราไม่ได้คิดไปเองครับ

จุดนี้ผมว่าสำคัญนะ บางที Startup รุ่นใหม่หลายคนมีไอเดียสุดล้ำ แต่ยังไม่ได้เช็คกับคนอื่นก่อนว่าผลตอบรับเป็นอย่างไร
นึกได้ก็รีบพัฒนา พอผลลัพธ์ออกมาปรากฏว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ใครเลย ก็เลยกลายเป็นเสียเวลา ทำอะไรอยู่ไม่รู้ตั้งนาน
ทั้งๆ ที่วิธีการง่ายที่สุดคือ คิดเสร็จแล้วก็แค่รีบหาคนคุยด้วย (validate) หาแนวร่วมที่คิดว่าใช่ก่อนที่จะลงมือทำจริงๆ จังๆ

Leave a Reply