เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้จัดงาน 3 Years ETDA Enabling Digital Economy ในงานนี้พี่แอน สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสั่งจัดเต็มมากครับ บรรยากาศทั้งนอกงาน ในงานหรูหราอลังการงานสร้าง และไฮไลท์หนึ่งของงานในครั้งนี้คือ ปาถกฐาพิเศษของ “หม่อมอุ๋ย” ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ Digital Economy กับ ประเทศไทย
ท่านกล่าวว่า Digital Economy ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราได้ยินในช่วงสองสามเดือนนี้บ่อยมาก ประเทศไทยกำลังก้าวไปพร้อมกับแผนงาน 5 ด้าน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน องค์กรอิสระ และประชาชน งานทั้ง 5 ที่ว่าได้แก่
1. การพัฒนา Hard Infrastructure เช่น บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต
2. การพัฒนา Soft Infrastructure เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่จำเป็นในการสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจ เช่น การทำระบบยืนยันตัว, การดูแลเรื่อง security, และ กฎหมายที่รองรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
3. การพัฒนา Service Infrastructure ยกตัวอย่าง Google ที่สร้าง platform ขึ้นมา ทำ search engine ทำ map ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตขาดไม่ได้
4. การส่งเสริม Digital Economy โดยการพัฒนา Digital skills ต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อต่อยอดไปสู่สากล
5. การพัฒนา Digital Society เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันที่จะเข้าถึง Digital และได้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ประเทศไทยมีโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีดิจิตอลต่างๆ มาขับเคลื่อนธุรกิจได้ คนที่มีไอเดียก็สามารถระดมทุนจากอินเทอร์เน็ต ถ้าขายได้ก็สามารถหาเงินทุนเพิ่มเพื่อทำเป็นธุรกิจจริงจัง ซึ่งภาครัฐควรให้การส่งเสริม ควรมี incubator เป็นพี่เลี้ยง และมีหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนเรื่องการขยายตลาด อันนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทั้งประเทศ
เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่าบริษัทเอกชนมีต้นทุนในการส่งใบเรียกเก็บเงินมากกว่า 3,000 ล้านบาท ถ้าหากเราสามารถใช้ระบบดิจิตอลแทน นั้นคือการประหยัดต้นทุนมหาศาล
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีมูลค่าการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-payment กว่า 750 ล้านล้านบาท ซึ่งต้นทุนการชำระเงินทาง e-payment นี้เป็นหนึ่งในสามของ การใช้เงินสด ระบบเราค่อนข้างพร้อม เหลือเพียงแต่การเสริมเรื่อง security เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งาน
จากข้อมูลวิจัยเชิงสถิติพบว่า GDP ของประเทศจะขยายตัว 1% หากการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มขึ้น 10% และจะมีงานใหม่เกิดขึ้น 80 ตำแหน่งหากมีการเพิ่มการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1,000 จุด และปัจจุบันคนมากกว่าหนึ่งในสามของโลกใช้อินเทอร์เน็ต และภายในสิ้นปีหน้ามากกว่าครึ่งของคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตในโลกจะอยู่ในเอเชีย
ประเทศไทยเรามีการเติบโตของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง เรามีจำนวนเบอร์มือถือในประเทศไทยที่สูงถึง 98 ล้านเลขหมายแล้ว แปลว่าหนึ่งคนมีมากกว่าหนึ่งเบอร์ เรามีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงราคาไม่แพงให้ใช้ในชีวิตประจำวัน จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตล่าสุด พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนใหญ่ก็จะใช้ผ่านสมาร์ตโฟน กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อค้นข้อมูล และติดตามข่าวสาร แต่ยังใช้อินเตอร์เน็ตทำธุรกิจกันไม่มากนัก
คำถามที่น่าสนใจคือ เราจะทำอย่างไรให้คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตทำธุรกิจเป็น ทำอย่างไรให้ทำธุรกิจด้านอินเทอร์เน็ตได้อย่างมั่นคงปลอดภัย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือภัยคุกคามจากผู้ไม่ประสงค์ดี และหากถูกโกงก็สามารถตามตัวผู้โกงได้
ส่วนตัวผมหวังว่าประเทศไทยเรากำลังก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง และอยากให้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะ ETDA, EGA, SIPA, Software Park, DBD, NIA, NECTEC และอื่นๆ ที่กำลังจะตามมา ทำงานร่วมกันได้ ไม่ใช่แย่งงานกันทำ ทำซ้ำทำซ้อน ไม่มีเหตุผลที่ภาครัฐจะมาแข่งขันกันเอง เพราะการแข่งขันเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนครับ ขอแค่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เราจะช่วยกันนำพาประเทศไทยของเราสู่สากลได้แน่นอน
Leave a Reply