พอดีได้มีโอกาสคุยกับพี่นิ้วโป้งโดยบังเอิญเลยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและได้มุมมองที่น่าสนใจจากคนเคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนเกี่ยวกับการทำธุรกิจอินเทอร์เน็ต เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ จะว่าไปมันคือเหล้าเก่าในขวดใหม่ ที่ทุกคนกำลังให้แห่กันมาลุมมาตุ้มลุมรักกันอยู่
เริ่มจากตอนนี้ใครๆ ก็ให้ความสนใจกับการทำ startup คำภาษาอังกฤษ 2 คำแปลตรงๆ ว่า “เริ่มขึ้น” เมื่อรวมกับกระแสการอยากเป็นนายตัวเอง การทำธุรกิจของตัวเอง คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศก็เลยคิดว่า startup คือการเริ่มต้นทำธุรกิจ แต่อีกฝั่งฝากนึงจากของกลุ่มน้อยในประเทศที่กำลังทำธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีอยู่ก็พยายามสื่อสารว่า ศัพท์คำนี้จริงๆ เป็นเป็นศัพท์เฉพาะ เป็นคำเทคนิคสำหรับคนที่กำลังพยายามทำธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว มีการเปรียบเทียบว่าโตธรรมดาแค่ปีละ 5%-10% ก็เก่งแล้ว แต่คนทำ startup บอกว่าเค้าจะโตปีละ 3 เท่า 5 เท่า คราวนี้คนที่ไม่เข้าใจก็จะบอกว่าฝันไปหรือเปล่า? อีกฝั่งก็จะโต้กลับไปว่า startup สามารถทำได้เพราะมันคือการลงทุนที่เอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อนเพื่อทำการตลาด ให้คนรู้จักเยอะๆ ใช้เยอะๆ ใช้ฟรี แถมตังค์ก็ยังมี startup บางรายทำ เพื่อให้ลูกค้าติดหนึบกับสินค้า/บริการของเค้า ไม่ให้คู่แข่งตามทัน (คล้ายๆ แนวคิด winner take all) โต้กันไปโต้กันมา จริงๆ สามารถทำเป็น FAQ สำหรับหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคยได้เลย เพราะบทสนทนามันก็จะซ้ำๆ กันเป็นปกติ
แล้วทำไมมันถึงสำคัญกับตัวเราหรือประเทศชาติเราหรือครับ คราวนี้ก็ถึงคิวนักวิชาการหยิบยกการเติบโตของ startup ในต่างประเทศมาคุยกันบ้าง มองในมุม macro economy ธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่เติบโตจากการเป็น startup อย่าง Facebook หรือ Google สามารถสร้างเงินได้มหาศาล เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างแรงงานมีทักษะ โดยการเริ่มต้นจากการพัฒนาไอเดียให้กลายเป็นธุรกิจ มันไม่ใช่การลงทุนซื้อเครื่องจักรแบบเดิมๆ ไม่ได้ต้องการโรงงาน ไม่ได้ต้องการวัตถุดิบอะไรมากมายไปกว่า คนกับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน้ตได้ นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว กระแส startup ได้แพร่สะพัดไปทั่วโลก ไม่ว่าจะในยุโรปหรือในเอเชีย ข่าวการเติบโตอย่างบ้าคลั่งของบริษัทอย่าง rocket internet และ alibaba.com ทำให้ทุกประเทศมีความหวังว่า ฉันก็สามารถสร้าง silicon valley ในประเทศตัวเองได้ มันก็เลยมีการขยายผลไปถึงเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐ การสร้าง ecosystem ที่เหมาะสม ไปจนกระทั่งการอัดฉีดเงินเข้าระบบ แล้วก็จะไปวนกลับมาที่ “อะไรคือ startup?” อีกครั้ง เพราะมันแปลว่าใครจะได้ตังค์ไปใช้บ้าง
มองเล็กลงมาระดับ micro หรือระดับของคนทำงาน อย่างที่ผมเกริ่นไปตอนต้นเราอยู่ในยุคที่ผู้คนอยากเป็นนายตัวเอง อยากมี passive income อยากรวยเร็ว รวยลัด ดังนั้นเรื่องราวความสำเร็จของคนทำ startup มันช่างยั่วยวนใจสำหรับหน้าใหม่จริงๆ ภาพการเริ่มต้นทำงานสู้ชีวิตบากบั่นจากโรงรถ แล้วระดมทุน raise fund จาก seed funding สู่ series A ไป series B กลายร่างเป็น ยูนิคอร์น ที่มีมูลค่าบริษัทหลักพันล้านเหรียญ แหมมมมม มันเท่จริงๆ มันดูดี มีสไตล์ เหมาะกันคนรุ่นใหม่มากๆ พวกผู้ใหญ่หัวโบราณไม่เข้าใจพวกเราหรอก… ณ จุดนี้ ผมอยากจะบอกว่าหลายคนกำลังตกหลุมพรางกับดักแห่งเทพนิยาย startup อยู่ครับ ณ จุดนี้ การทำธุรกิจไม่มีง่าย ยิ่งทำ startup ที่คาดหวังการเติบโตแบบ 3x 5x ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าเราจะหาสูตรของเราเองเจอว่าต้องใช้เงินเท่าไรเพื่อให้ได้ผู้ใช้งานเท่าไร กว่าจะรู้ว่า LTV (Lifetime value) มันมากกว่า CAC (Customer Acquisition Cost) ไหม มันมีกระบวนการ มีขั้นตอนที่ไม่ได้หมู และต้องใช้คนที่ต้องเก่งจริงๆ หลายๆ คนมาช่วยกัน ซึ่งคนเก่งๆ ก็มักจะมีเงินเดือนสูงๆ มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่ยอมใครง่ายๆ แปลว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสามารถสร้างทีม strong แบบ Avenger ได้ สรุปว่าองค์กรประกอบของการทำ startup โคตรยากมั๊กๆ ไม่ใช่มีแค่ฝัน มีแค่ passion จะประสบความสำเร็จ
คราวนี้ถ้ามองในแง่นักลงทุนหละ ก็จะมีตั้งแต่ angel investor ศัพท์สวยหรูอีกแล้ว ที่เรียกคนที่ให้เงินก้อนแรกๆ ว่าเป็น นักลงทุนเทวดา ซึ่งนี่ก็อีกแหละครับที่ฝั่งอเมริกาเค้าทำกันได้เพราะเงินมันหาง่าย ใช้ไปไม่เสียดาย และเข้าใจความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่ในบ้านเราเมืองเรา สภาพการณ์แตกต่างกันออกไป มีคนมีเงินที่มองว่าแทนที่จะเอาเงินเก็บไว้ฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยไม่เท่าไร งั้นเอาไปทำอย่างอื่นที่ได้กำไรเยอะกว่าน่าจะดีกว่า ยิ่งข่าวคราว startup ที่สำเร็จมันยั่วยวน คราวนี้มันก็เลยเกิดความคาดหวังที่ตัว startup เองไม่ได้คำนึงถึง พอรับเงินเค้ามาแล้วผ่านไปปีนึง ตัวเลขสุทธิกลับไม่กำไร ก็อาจจะเกิดการผิดใจกันกับนักลงทุนได้ ยังไม่ทันได้ระดมทุนรอบถัดไปก็มาทะเลาะกันเองซะแล้ว เสียเวลาทำการทำงานอีก และถ้าโชคร้ายก็อาจจะไปต่อกันไม่ได้ต้องปิดบริษัทไป คราวนี้ถ้าถามว่านักลงทุนควรลงเงินกับ startup ไหนดีหละ มันไม่ใช่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์นะ ตรวจสอบอะไรก็ไม่ได้ พื้นฐานเป็นยังไงก็ไม่รู้ สรุปวัดดวงได้อย่างเดียวเลยหรือ ผมไม่อยากจะบอกว่า “คงประมาณนั้นครับ” ไม่งั้นเค้าจะเรียก angel หรือ? การลงทุนก้อนแรกหรือไม้แรกมีความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะเราไม่รู้อะไรเลยนอกจาก ตัวคนทำ startup คนนั้นหรือที่เรียกว่า founder มันคือความเชื่อถือในตัวบุคคล ในทีมงานล้วนๆ ว่าจะเอาเงินไปทำงานจริงเพื่อให้เติบโตต่อไปได้ ซึ่งก็จะมีเรื่องการตีมูลค่าของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอีกว่า startup มักจะ valuation ตัวเองสูงเกินความเป็นจริง เหตุผลก็เพราะว่าทุกคนที่มาทำ startup ก็จะมีความเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำแบบ optimistic แบบว่าถ้ามันสำเร็จมันจะสร้างรายได้เท่านั้นเท่านี้ ไม่ได้เอาความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดระหว่างทางมาคำนวณด้วย แล้วมันก็จะคุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจกับนักลงทุนหลายๆ ราย และดีลก็จะไม่เกิด
แต่ถ้าขยับไประดับที่เป็น V.C. (Venture Capital) มันคือการบริหารการลงทุนที่เค้ายอมรับความเสี่ยงได้ มีสูตรสมการที่แน่นอนที่ฝรั่งทำมาแล้ว คุยกันเล่นๆ ก็อย่างเช่นลงเงินไป 10 บริษัท ผ่านไปปี เจ๊งสัก 6 เท่าทุนสัก 3 ขอให้มีที่ได้กำไรสัก 1 แต่เป็น 1 ที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ได้ มีกำไรสัก 30% แค่นั้นก็คุ้มแล้ว ดังนั้นมุมมองความคาดหวังในการลงทุนมันต่างกัน และสายป่านก็ต่างกันด้วย จะถือยาวสักหน่อย ลงรอบก่อนไปแล้ว เห็นว่าระดมทุนรอบใหม่น่าจะขายได้แพงขึ้นในรอบหน้าก็ลงทุนเพิ่ม มันเป็น Money game ที่เอาเงินต่อเงิน และคนพวกนี้ก็ไม่ใช่คนโง่ที่จะเอาเงินไปลงให้กับคนที่แค่ความฝัน ส่วนใหญ่ก็มักจะลงใน startup ที่เค้าเห็นว่าจะขายต่อได้แน่ๆ ในรอบหน้า ซึ่งก็มักจะเป็น clone business ที่ลอกมาจากธุรกิจที่สำเร็จไประดับนึงแล้ว และคาดหวังให้เจ้าใหญ่มาซื้อต่อไปอีกที คราวนี้เกมก็จะมีอยู่ว่าเจ้าใหญ่จะเห็นไหม จะมาซื้อไปหรือจะทำเอง ถ้าสุดท้าย startup ที่ได้รับเงินลงทุนไปขายไม่ออกหรือระดมทุนรอบถัดไปไม่ได้ก็เตรียมตัวเจ๊งได้เลย โดยที่เค้าก็คงจะไม่ได้สนใจอะไร เพราะมันคือธุรกิจ และยังมี startup ใน portfolio อีกหลายรายที่ต้องดูแลกันต่อไปเพื่อขายต่อตามแผนการที่ได้วางเอาไว้
source http://www.zerohedge.com/news/2013-10-29/second-dot-com-bubble-raging-time-different
ทั้งหมดที่เล่ามาตั้งแต่ต้นสรุปก็คือเหล้าเก่าในขวดใหม่นะครับ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วเมื่อสมัย dotcom ช่วงปลายๆ ปี 199x มีหนุ่มสาวจำนวนมาก ไล่ตามความฝันของตัวเองกับการทำเว็บไซต์ โดยคาดหวังว่าจะดัง จะรวย จะขายโฆษณาได้ จะมีคนใช้ทั่วโลก ปี 201x ที่เรากำลังอาศัยมีชีวิตอยู่นี้ก็มีคนจำนวนไม่น้อย ทำ app ทำบริการใหม่ๆ ที่คาดหวังจะตอบโจทย์ผู้ใช้ ยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คน บางคนกำลังทำสิ่งที่ลูกค้าเองก็ไม่รู้ว่าต้องการจนกระทั่งได้ใช้บริการนั้นๆ บางคนกำลัง digitize อะไรที่เป็นกระดาษให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ บางคนพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค แต่สุดท้ายจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จะมีแค่บางคนที่รอดไปได้ หลายคนตายในสนามรบ แน่ๆ คือคนตายไม่มีสิทธิ์พูด คนที่รอดได้คือคนที่ได้ออกไปยืนบนเวทีกลายเป็น idol เพื่อ inspire คนรุ่นถัดๆ ไป ว่าแล้วเดี๋ยวปลายเดือน เม.ย. อย่าลืมไปดูกันนะครับ ว่าประเทศไทยของเรามี startup อะไรบ้าง เป็น Tech startup หรือเป็น OTOP startup และปีหน้าจะมีกี่รายที่ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ 28 เม.ย. – 1 พ.ค. 59 นี้ เจอกัน ณ บัดนาว
Leave a Reply