ก่อนที่จะมาคุยกันต่อกับเทรนด์อีก 4 เรื่องที่ผมคิดว่าน่าจะได้ไปต่อในปี 2018 ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับพี่ตูนที่สามารถสร้างปรากฎการณ์รวมน้ำใจไทยให้เป็นหนึ่งอีกครั้ง จากเบตงถึงแม่สาย เริ่มวันที่ 1 พ.ย. สิ้นสุด 25 ธ.ค. 60 รวมระยะทาง 2,191 กม. ได้รับเงินบริจาครวมทั้งสิ้น 1,148,718,907.72 บาท #ก้าวคนละก้าว เป็นของขวัญวันคริสมาสต์ให้พวกเราชาวไทยทุกคนจริงๆ ครับ
ว่าแล้วเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาลุยกันต่อเลยแล้วกันนะครับ
5. Remote
ไม่ใช่รีโมทคอนโทรลที่ใช้กดเปลี่ยนช่องนะครับ แต่ผมเชื่อว่าแนวคิดเรื่อง Remote ของ Jason Fried และ David Heinemeier Hansson (DHH) กำลังเป็นที่ยอมรับและนิยมในโลกยุคใหม่นี้ ตามชื่อหนังสือเลยครับ “สร้างธุรกิจให้ดี ไม่ต้องมีออฟฟิศก็ได้” เพราะปัจจุบันเราสามารถติดต่อสื่อสารกันตลอด 24 ชั่วโมงผ่านอินเทอร์เน็ต โปรแกรมเยอะแยะ ทั้ง chat ทั้ง social แล้วยังมี project management อีกมากมายให้เลือกใช้ ทำไมต้องตื่นแต่เช้า ฝ่ารถติด อารมณ์บูดไปออฟฟิศ? ทำไมต้องเสียตังค์มากมายไปกับการออกจากบ้าน ค่ารถเอย ค่าจิกจุกจิปาถะเอย? แต่อย่างไรก็ตาม อิสระมาพร้อมกับวินัยที่หย่อนยาน การทำงานแบบไม่มีแบบแผน พอรู้ตัวอีกที บางคนกลับใช้เวลาทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ไม่ใช่เริ่ม 9 โมงเช้าเลิก 5 โมงเย็น แต่กลายเป็นทำงานตลอดทั้งวัน บางวันก็พักมากกว่าทำงานซะอีก
ดังนั้นสิ่งจำเป็นในการยึดเหนี่ยวทุกคนเข้าด้วยกัน ก็คือ เป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน บริษัทต้องดึงคนเก่งมาทำงานด้วยกันนานๆ การหาคนใหม่แทนคนเก่าสักคนต้องใช้เวลา กว่าจะเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้ก็อาจทำให้ธุรกิจพลาดโอกาสที่สำคัญได้ ซึ่งการที่ทีมงานไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันในออฟฟิศ ก็เป็นการยากที่จะสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ให้กันและกันได้ มันก็เลยจำเป็นที่ต้องมีบ้างที่นัดมาเจอกันตัวเป็นๆ ได้พูดคุย ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
ส่วนตัวบริษัทผมใช้วิธีนี้มาหลายปีเหมือนกัน น้องๆ ทุกคนมีอิสระที่จะคิดจะทำตามจังหวะชีวิตของตนเอง ปัญหาที่พบก็คือ ทุกคนต้องช่วยตัวเองได้ ต้องรู้จักศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง เพราะไม่มีใครคอยสอนคอยจ้ำจี้จ้ำไชอย่างใกล้ชิด แน่นอนบางคนก็ชอบ บางคนที่ใช้เวลาไม่เป็น เอามาดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม งานไม่เสร็จก็แพ้ภัยตัวเองไป แต่ที่จะประหลาดๆ หน่อยก็คือตอนลูกค้าถาม บางทีเค้าก็ไม่เข้าใจว่า Virtual office มัน work หรือ แล้วรับงานเค้าไปแล้วจะ delivery งานได้จริงหรือ ก็ต้องใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์
6. Me inc.
เมื่อ everything jingle bells, automation ก็มี, omni channel ก็มา แปลว่าปี 2018 มันเป็นปีที่คนคนเดียวจะสามารถทำอะไรก็ได้สะดวกสบายกว่ายุคไหนๆ ที่เคยเป็นมา อย่างว่าครับ ใครๆ ก็อยากเป็นผู้ประกอบการ อยากทำธุรกิจของตัวเอง เมื่อคนมีฝันสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ทุนไม่ต้องเยอะ Think big, start small. Think global, act local ได้ ไม่มีคนก็ crowd sourcing สิ หรือจะ BYOT (bring your own teams) เอาทีมมารวมกันเลยก็ได้ ไม่มีความรู้ก็ไปเข้า Incubator ต่างๆ ได้ แถมยัง remote ได้อีก แปลว่าในขณะที่ทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ ก็สามารถเป็นนายตัวเองและเป็นนายจ้างในธุรกิจของตัวเองได้ด้วย ช่างเหมาะสำหรับคน Gen Y ที่ชอบ multi tasking เสียนี่กระไร
ถ้าลองมองย้อนกลับไปดู 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะได้เห็นธุรกิจเกิดใหม่หลายต่อหลายตัว ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดเพราะอาศัยช่องทางออนไลน์ เพียงแค่เจ้าของหรือ Founder ค้นให้เจอว่าจริตของตัวเองคืออะไร ชอบอะไร รักอะไร แล้วก็ตั้งใจลงมือทำในสิ่งนั้น มันมีคนประสบความสำเร็จเป็นอายุน้อยร้อยล้านให้เราเห็นมากมาย ไม่ว่าจะขายผัก ขายครีม หรือเป็น Tech StartUp ทำอะไรที่ใจรัก ทำไปเถอะครับ
แต่อย่างไรก็ตามสงครามการแย่งชิง digital talent หรือคนที่มีความสามารถด้านดิจิตอลก็จะเกิดขึ้นทุกหนแห่ง บริษัทไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต่างก็ต้องการคนเก่ง คนมีคุณภาพ เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คำว่า digital transformation ยังคงจะได้ยินกันต่อไป
7. ยกเครื่องเรื่อง UI UX
Google คอนเฟิร์มเราตั้งแต่ปี 2016 แล้วว่าการค้นหาบน mobile device ได้แซงคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ตั้งตักไปแล้ว จากการพัฒนา device และ app ต่างๆ ประกอบกับความสามารถของ AI ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันก็ถึงเวลาที่เราต้องมาออกแบบ user interface ในการปฎิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ใหม่ซะที อย่างที่เกริ่นไปในข้อที่ 3. เรามีอุปกรณ์ smart speaker ต่างๆ การสั่งการด้วยเสียงจะมีประสิทธิภาพขึ้น mobile ก็จะ take over รูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ แต่อุปกรณ์อาจจะไม่จำกัดแค่ mobile phone ซะแล้ว เรามาถึงยุคที่จินตนาการแล้วทำอะไรก็ได้ printer 3D จะมาป็นทางออกให้แก่ Maker จาก form เป็น formless จินตนาการอยู่เหนือความรู้อย่างที่ไอซ์สไตน์เคยพูดไว้ครับ แค่ขอให้คิดได้ ก็จะมีคนทำได้
ส่วนการแสดงผลในรูปแบบ Grid ที่ยึดติดกันมานาน ปีนี้คงได้เห็นดีไซน์ใหม่ๆ borderless เป็น fluid storytelling ซึ่งงานการก็คงจะมากขึ้นด้วยเพื่อออกแบบให้ทำงานได้เหมาะสมกับทุก device และแน่นอนเราคงได้เห็น Supersize typography กับ VDO แบบ full screen กันเยอะขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อ การลดเวลาในการบริโภคข้อมูลให้ user (เพราะถ้ายังจำกันได้มนุษย์เราให้เวลาในการสนใจสิ่งใดๆ แค่ 8 วินาทีน้อยกว่าปลาทองซะอีก)
อ้อและที่ไม่คุยถึงไม่ได้ก็คือเรื่องการแสดงผลแบบ VR และ AR ที่ก็คงได้เห็นการประยุกต์ใช้งานที่มากขึ้น แต่มันจะเป็น Mainstream ไหม อันนี้ผมยังไม่แน่ใจนะครับ เพราะยังรู้สึกว่า มันยังไม่ได้สะดวกสบาย สอดคล้องกับ lifestyle ของคนในปัจจุบันอยู่
8. AI (Artificial Intelligence)
ปัญญาประดิษฐ์ จากวันที่ Deep blue (เครื่อง super computer โดย IBM) ชนะ Garry Kasparov แชมป์หมากรุกที่ประสบความสำเร็จที่สุดของโลกในปี 1997 นั่นแปลว่าคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจความเป็นไปได้ในการเดินหมากที่ 10 ยกกำลัง 120 ส่วนในปี 2017 AlphaGo (DeepMind จาก Google) ชนะ Ke Jie เซียนโกะชาวจีนมือวางอันดับ 1 ของโลกได้แล้ว นั่นคือคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจความเป็นไปได้ในการเดินหมากที่ 10 ยกกำลัง 360 แล้ว คอมพิวเตอร์ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ เพราะความมหัศจรรย์ของการพัฒนาทั้ง h/w และ s/w จนมาถึงจุดที่บุคคลสำคัญของโลกในปัจจุบันต้องเถียงกันว่า AI นี่อันตรายต่อมนุษย์ไหม?
ฝั่งต่อต้าน นำทีมโดย Elon Musk ผู้ก่อตั้ง SpaceX และ CEO Tesla ที่เห็นว่า AI เป็นความเสี่ยงพื้นฐานต่อการดำรงอยู่ของอารยธรรมมนุษย์ โดยเขามักจะพูดถึงฉากในหนัง Terminator ที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์อันเลวร้ายของ AI ที่เราควบคุมไม่ได้ นอกจากนี้ยังมี Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft เคยให้สัมภาษณ์ว่า มนุษย์ควรกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์เพราะมันถูกพัฒนาไปรวดเร็วมาก และ Stephen Hawking นักเขียนและผู้อำนวยการ research center ด้านจักรวาลวิทยา Cambridge ก็มองเช่นเดียวกันว่า การพัฒนา AI อย่างเต็มรูปแบบสามารถนำไปสู่การสิ้นสุดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้
ซึ่งตรงข้ามกับฝั่งโลกสวย นำทีมโดย Mark Zuckerberg CEO Facebook ที่เชื่อว่า AI จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น เขาเห็นว่าแนวคิดเรื่องวันสิ้นโลกโดย AI เป็นการมองในแง่ลบจนเกินไป ด้าน Jeff Bezos มองว่าการพัฒนา AI คือยุค renaissance ของเทคโนโลยี มันคือยุคทองของพวกเรา เพราะ AI เข้ามาช่วยแก้ปัญหาหลายๆ อย่างในโลก ให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น สุดท้าย Eric Schmidt CEO ของ Alphbet เคยเขียนบทความ หยุดแตกตื่นเกี่ยวกับ AI เขามองว่าการพัฒนา AI จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ ในอนาคตเราต้องอยู่ร่วมกันกับเทคโนโลยีอย่างกลมกลืน
ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ฝั่งพี่ Mark น่าจะเป็นฝ่ายถูก AI จะทำตามที่มนุษย์ต้องการในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่จุด turning point ที่สำคัญของเรื่องนี้น่าจะเป็น Self awareness เมื่อใดที่ AI ตระหนักรู้ได้ว่าตัวเองคือใคร ทำไมต้องทำตามคำสั่งมนุษย์ ความคิดเห็นของพี่ Musk ก็น่าจะเริ่มน่ากลัว โดยจะเริ่มจาก มนุษย์ใช้ AI ทำสงครามในการฆ่ากันเอง จน AI ตัดสินใจลุกขึ้นมาฆ่ามนุษย์ในที่สุด (หวังว่าเวลานั้นจะไม่มาถึงนะ)
สุดท้าย ในช่วงเวลาแห่งความสุข การเริ่มต้นใหม่ของปี ผมก็ขออวยพรให้ทุกคนคิดดี ทำดี มีความสุขในสิ่งที่เลือกทำนะครับ ทุกปีในช่วงเวลานี้มันคือโอกาสให้เราได้ทบทวนสิ่งที่ได้ทำมา บางคนก็ตั้งเป้า เขียน new year resolution ว่าปีใหม่ปีนี้จะเริ่มต้นทำอะไรดีๆ ให้กับชีวิต ไม่ว่าจะออกกำลังกายเอย งดเหล้า เลิกบุหรี่ เข้าสังคมให้มากขึ้น ขี้เกียจให้น้อยลง หรืออะไรก็ตาม ผมก็อยากให้ได้เขียนแล้วได้ลงมือทำนะครับ ไม่ใช่แค่ plan แล้วนิ่งเหมือนที่ผ่านๆ มา ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกที่คุณผู้อ่านนับถือจงดลบันดาลแต่สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น เรื่องเลวร้ายต่างๆ นานาของปีเก่าก็ให้มันผ่านไป เกิดเป็นคนต้องสู้ต้องทน เรียนรู้เข้าใจเทรนด์ เพื่อหา consumer insight จะได้เข้าใจผู้คน และเลื่อกทำในสิ่งที่คนอื่นๆ ต้องการได้ครับ แหมมมม…. จบซะทีเกือบออกทะเลซะแล้ว Happy new year 2018 นะครับทุกคน
Leave a Reply