อีกหนึ่งภาระกิจที่ค้างคามาตั้งแต่ต้นปี ’13 คือการได้ชวนเพื่อนๆ มาร่วมกันเขียนหนังสือเล่มนึงเกี่ยวกับ Startup business บัดนี้สมควรแก่เวลาแล้ว จึงนำส่วนหนึ่งของบทที่ตัวเองรับผิดชอบมาแชร์ให้มิตรรักแฟนบล็อกได้อ่านกันก่อน หากสำนักพิมพ์ไหนเห็นแล้วสนใจก็ติดต่อกลับมาได้นะครับ นี่แค่ Sample ของจริง เจ๋งกว่านี้อีกเยอะ เพราะนักเขียนแต่ละท่านแจ๋วจริง อะไรจริงครับ ขอบอก
Ch1 กระชากวิญญาณ Startup ในตัวคุณ
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มหาเศรษฐีอายุน้อยผู้มีเงินกว่าหมื่นล้านดอลล่าห์ ได้เป็นบุคคลแห่งปี 2010 ในนิตยสารไทม์ จากการเริ่มต้น Facebook เมื่อปี 2004 ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดแห่งวงการอีคอมเมิร์ซไทย ผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอมซึ่งต่อมาได้ร่วมทุนกับ Rakuten บริษัทอีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ในญี่ปุ่น ทอม ศรีวรกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Ensogo เมื่อปี 2009 กับการขายกิจการให้ LivingSocial ในปี 2011 ด้วยมูลค่าไม่เปิดเผย (ซึ่งแหล่งข่าวเดาๆ กันว่าไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท) ต๊อบ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ กับการเริ่มต้นสาหร่ายเถ้าแก่น้อยผลิตภัณฑ์พันล้านที่ถูกนำเรื่องราวไปทำเป็นภาพยนต์ในปี 2011 หรือแม้แต่คุณตัน ภาสกรนทีนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จจากโออิชิกับเรื่องราวการเริ่มต้นธุรกิจครั้งใหม่ที่อิชิตันและมูลนิธิตันปันในปี 2010 เรื่องราวของการก่อร่างสร้างธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่ (Startup) เป็นเรื่องราวที่เล่าขานกัน ไม่รู้ลืม และเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าพวกเขาเหล่านั้นทำกันได้อย่างไร
มีตำราฝรั่งเขียนไว้ว่า ผู้ประกอบการ (entrepreneur) คือผู้ที่หาโอกาสทางธุรกิจและทำมันด้วยทรัพยากรที่เค้าควบคุมไม่ได้ในขณะนั้น “Pursuit of business opportunity with the resources that you currently do not control” ผมเห็นด้วยกับประโยคนี้เพราะหากเราสามารถควบคุมทุกอย่างได้มันคงไม่มีโอกาสทางธุรกิจซ่อนอยู่ เพราะใครๆ ก็คงจะทำไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อหลายปีก่อนตอนโรตีบอยเปิดใหม่ๆ ในเมืองไทย พอมีคนเห็นว่าขายดี ก็หันมาศึกษาปัจจัยต่างๆ หาสูตรการผลิต การทำการตลาด จนในที่สุดจากสภาพ blue ocean ที่มีการแข่งขันไม่สูงก็กลายเป็น red ocean สู้กันด้วยราคา และอย่างที่เราทราบกันท้ายสุดธุรกิจนี้ก็ซบซาไป หรืออย่างตุ๊กตาบลายธ์ที่บูมสุดๆ ช่วงหนึ่ง ใครขายก่อนในขณะที่ยังไม่รู้ว่าจะไปสั่งของจากไหนปล่อยของที่ไหนก็ได้กำไรไปเต็มๆ ใครเข้ามาทีหลังก็ขาดทุนสต็อกบานกันไป เราจะเห็นได้ว่าโอกาสมีอยู่ตอนเวลา เพิ่งแค่ว่าเราจะเข้าไปหยิบฉกตอนที่มันยังหอมกรุ่นอยู่ได้หรือไม่ และจะสามารถทำให้มันกลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้มั้ย
ซึ่งหากจะมองเข้ามาวงใน จัดกลุ่มกันแบบกว้างๆ ธุรกิจในที่นี้อาจจะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1) Life-style business – ธุรกิจตามสไตล์ชีวิตของใครของมัน
2) Scalable business – ธุรกิจที่สามารถขยายได้ มี economies of scale/scope/speed
Life-style business จะเหมาะสำหรับคนที่อยากทำอะไรเล็กๆ ของตัวเอง ตามสไตล์ชีวิตของตัวเอง บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินคนบ่นว่า “ฉันอยากมีร้านกาแฟเล็กๆ ของตัวเอง” “ฉันอยากเปิดร้าน mini mart ของตัวเอง” “ฉันอยากออกจากงานมาทำอะไรสักอย่างของตัวเอง” ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่อยากเป็นนายตัวเองครับ แต่ก็อีกเช่นกันที่คนเหล่านั้นยังติดอยู่ใน Comfort zone หรือพื้นที่สุขสบายของตัวเอง (ในที่นี้คือขอบเขตที่จิตใจเรากำหนดขึ้น และปฏิเสธจะก้าวข้ามไป เพราะความกลัวหรือความหวาดระแวง) ที่ไม่กล้าที่จะคิดใหญ่ แล้วฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง แต่เชื่อไหมครับว่าการคิดทำอะไรใหญ่ๆ มันง่ายกว่าการคิดทำอะไรเล็กๆ พอตัวเสียอีกนะ เพราะเราที่เราคิดใหญ่ เราต้องอาศัย ข้อมูล การวางแผน การเตรียมการ ที่รอบคอบรัดกุมกว่าปกติ ประกอบกับความท้าทายที่จะนำไปสู่ความเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดคนที่คิดเห็นเหมือนๆ กัน ให้เข้ามาช่วยกัน จาก 1+1=2 จึงกลายเป็น 1+1=3 หรือมากกว่านั้น
ส่วน Scalable business อันนี้คงไม่ต้องอธิบายมากเพราะชื่อก็บอกแล้วว่า เป็นธุรกิจขยายได้ และคำว่าขยายได้ ไม่ใช่เรามีร้านอาหารอยู่ร้านหนึ่งแล้วขยายเป็นสองร้านแค่นั้นนะครับ แต่มันอาจจะเป็นการขยายเป็น 100 สาขา โดยที่คุณภาพไม่ตก ไม่ปวดหัวเพิ่มเรื่องการบริหาร ถึงได้บอกว่าเป็นการทำแล้วได้ประโยชน์จากการขยายธุรกิจ ที่ส่งผลให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง (สังเกตภาษาอังกฤษใช้คำว่า economies ไม่ใช่ economy ซึ่งแปลว่าระบบเศรษฐกิจ) ซึ่ง การ scale ที่เห็นได้ชัดๆ มักจะเกิดกับธุรกิจที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นหลัก ดังนั้น tech Startup ส่วนใหญ่ ร้อยทั้งร้อย มักจะจัดเป็นธุรกิจประเภทนี้ คือ ขายลูกค้าจำนวนน้อยหรือจำนวนมากก็มีต้นทุนไม่ได้ต่างกันเท่าไร ดังนั้นจะให้ดียิ่งขายให้ได้มากก็จะยิ่งส่งผลต่อผลกำไรที่จะมากตามมา ยกตัวอย่างเช่น ทำเว็บเป็น Portal กลางไว้ซื้อขายสินค้าอย่าง ebay ไม่ว่าจะมีลูกค้าหลักร้อยหรือหลักล้าน การทำงานเบื้องหลังก็ไม่ได้ต่างกันมาก ถ้าเช่นนั้นทำให้เป็นหลักหลายๆ ล้านไปเลย ไม่ดีกว่าหรือ อะไรประมาณนั้นครับ
การคิดจะเป็น Startup มีธุรกิจเป็นของตัวเองไม่ใช่เรื่องยาก ทุกคนสามารถคิดฝันจินตนาการต่างๆ นานาไปได้ สุดท้ายก็อยู่ที่ว่าใครคิดแล้วลงมือทำ บางคนเป็นลูกจ้างมืออาชีพ พัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ตามสายงานที่มีการกำหนดวางไว้ อาจจะดีกว่าการต้องออกมาทำทุกอย่างด้วยตัวเอง หากเคยได้ยินฝรั่งก็มีคำว่า Intrapreneur หรือ การเป็นผู้ประกอบการภายในบริษัทใหญ่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งของชีวิตครับ ถึงจุดนี้ผมเลยอยากหยิบยกข้อดีข้อเสียของความแตกต่างระหว่างการเป็นลูกจ้างมืออาชีพกับการเป็น Startup มาให้เห็นกันหน่อย
การเป็นลูกจ้างมืออาชีพในบริษัทใหญ่หรือบริษัทที่มั่นคง เรามั่นใจได้เลยว่าสิ้นเดือนจะได้รับเงินเดือนทุกเดือน มีสวัสดิการที่หลากหลายกว่า เช่น เงินค่าพยาบาลพ่อแม่ เงินเลี้ยงดูบุตร สิทธิ์พิเศษส่วนลดต่างๆ ได้ภาพลักษณ์ที่ดีกว่าว่าได้ทำงานให้องค์กรที่มีชื่อเสียง เป็นเกียรติ เป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล ได้มีโอกาสได้เข้าถึงองค์ความรู้ระดับลึกๆ ที่บริษัทเล็กบริษัทเกิดใหม่ยังไม่มีหรือไม่นึกว่าจะมี ได้เห็นภาพรวมของธุรกิจ ของอุตสาหกรรม เพราะมีการวางแผนระยะยาวกว่า มีเงินลงทุน มีสายป่านที่ยาวกว่า ทำให้สามารถทำโครงการระยะยาวที่ได้รับผลประโยชน์แบบกินนานๆ ได้ ทำให้เรามีโอกาสได้เห็นและเรียนรู้การทำธุรกิจแบบยาวๆ ไม่ต้องรีบหาเงินเหมือนบริษัทเล็ก
แต่ก็ใช่ว่าการออกมาเป็น Startup จะด้อยกว่า เพราะเมื่อใดที่เราก้าวมาเป็น Startup เราจะมีงานหลากหลายมาก (เน้นว่ามากๆ) มีโอกาสเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรหลายๆ อย่างในขอบเขตธุรกิจที่เรารับผิดชอบ สามารถคิดจินตนาการ ทำงานได้คล่องตัวกว่า ไม่ต้องผ่านหลายฝ่าย หลายขั้นการตัดสินใจ มีโอกาสเติบโตมากกว่า ไม่ได้ถูกจำกัดในโครงสร้างองค์กร ไม่ได้ถูกบังคับให้โตตามสภาวะเพราะมีคนที่อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่มีชื่อเสียงเท่ห์ๆ ในตอนนี้แต่ถ้าเราสามารถผลักดันให้ประสบความสำเร็จได้ มันจะฟินกว่าการค่อยๆ โตในบริษัทใหญ่ซะอีก และที่สำคัญในระหว่างที่โตในบริษัทเล็กๆ นี้ ก็มักจะมีมิตรภาพ มีความอบอุ่นในที่ทำงาน มีการช่วยเหลือเกื้อกุลกันของเพื่อนร่วมงานและคู่ค้าอยู่
ก็ต้องมาถามตัวเองแล้วครับว่า เป้าหมายชีวิตของเราคืออะไร เราเหมาะกับอะไร บางช่วงในชีวิตเราอาจจะเหมาะกับการเป็นลูกจ้างและบางช่วงก็อาจจะเหมาะกับการเป็น Startup โดยส่วนตัวผมเคยเจอทั้ง น้องๆ จบใหม่ที่อยากมาเป็น Startup เพราะมันเท่ห์ มันแนว ไม่ต้องเดินตามใคร และก็มีทั้งวัยกลางคนที่ทำงานมาระยะหนึ่งแล้วมีประสบการณ์พอเห็นข้อดีข้อด้อยในสิ่งที่ตัวเองเคยทำมา จนกระทั่งถึงวัยเก๋ารุ่นสี่สิบกว่าที่ทำ Startup มาหลายรอบแล้วเพราะชอบในพลวัต ความไดนามิคของมัน กับการเป็นองค์กรเล็กๆ ที่อยากผลักดันอะไรใหม่ๆ ทุกคนที่เป็น Startup อาจมีเหตุผลที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน ซึ่งเมื่อได้ลงมาลุยด้วยตัวเองแล้ว ก็จะได้รับประสบการณ์ที่คล้ายกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง เป็นไปตามบริบท ตามอุตสาหกรรมที่ตนเองทำอยู่ จะเห็นว่าผมใช้คำว่า “ตัวเอง” ย้ำซ้ำๆ หลายครั้งนะครับ เพราะนี่คือวิถีชีวิตหนึ่งที่เราเลือกเอง และสุดท้ายเวลาจะเป็นตัวตัดสิน ไม่ใช่ทุกคนจะเหมาะกับการเป็นผู้ประกอบการ แต่จิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการมีอยู่ในตัวของเราทุกคน เพียงแค่เราจะดึงมันออกมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน
Muhammad Yunus, ผู้บุกเบิก Microfinance และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เคยกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนเป็นผู้ประกอบการ เมื่อสมัยเราอยู่ในถ้ำ เราทุกคนล้วนดูแลตัวเอง (จ้างตัวเอง) หาอาหารเอง กินเอง ครั้งเมื่อความศิวิไลเข้ามา เรากลับถูกกำราบ กลายเป็น “แรงงาน” เพราะเขาประทับตราว่า “คุณคือแรงงาน” เราจึงลืมว่าเราเป็นผู้ประกอบการ
All human beings are entrepreneurs. When we were in the caves, we were all self-employed … finding our food, feeding ourselves. That’s where human history began . As civilization came, we suppressed it. We become “labor” because they stamped us, “you are labor.” We forgot that we are entrepreneurs.
Muhammad Yunus,
Nobel Peace Prize winner and microfinance pioneer
Leave a Reply